การตลาด
สกู๊ป อุตสาหกรรม ''ค้าปลีก'' ยังอ่วม ''เซ่น'' พิษโควิด-19 สูญเม็ดเงินไปแล้ว 5 แสนล้าน


ยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักสำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีกของไทย ล่าสุดมีการออกมาประเมินว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกของไทยสูญม็ดเงินไปแล้วประมาณ 5 แสนล้านบาท  และคาดว่า ไตรมาสแรกของปี 2564 ดัชนีค้าปลีกจะยังคงติดลบอยู่ที่ประมาณ 7-8 %  เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศยังคงทรงตัว

จากแนวโน้มที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ต้องออกมาขอความเห็นใจภาครัฐให้ออกมาวางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและเร่งด่วน เพื่อลดอัตราการว่างงาน และเพิ่มอัตราการจ้างงานใหม่ พร้อมกับเสนอให้ภาครัฐทดลอง และเพิ่มทางเลือกการจ้างงาน เป็นรายชั่วโมง จัดเก็บภาษีนำเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรกในกลุ่มธุรกิจ E-Commerce  ควบคู่ไปกับการควบคุม E-Commerce ในการไม่ขายสินค้าด้วยราคาต่ำกว่าทุน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อ SME ไทย และระบบค้าปลีกไทยโดยรวม
 
 
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ธุรกิจค้าปลีกไทยถือเป็นฐานรากสำคัญของระบบเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศ เนื่องจากเป็นระบบที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งมีผู้ประกอบการในห่วงโซ่รวมทั้งหมดในระบบประมาณ 1.3 ล้านราย และมีการสร้างงานโดยตรงกว่า 6.2 ล้านราย เมื่อค้าปลีกถูกผลกระทบ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ดัชนีค้าปลีกของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ปี 2563 ลดลงจาก ปี 2562 จาก 2.8 % มาเป็นติดลบ 12.0 %  เป็นครั้งแรกที่ติดลบถึงสองหลัก 
 
จากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกของไทยเกิดความเสียหายในวงกว้าง เริ่มจากการเกิดอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น  รายได้ของผู้ประกอบการที่ลดลง  การที่ผู้ประกอบการมีหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น  และ ผู้ประกอบการ SME เริ่มทยอยปิดตัวลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคหายไป  ซึ่งจากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทย อยากให้ภาครัฐเร่งเยียวยาระบบค้าปลีกโดยเร็วที่สุด 
 
 
ล่าสุดสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้มีการออกมาเสนอ 5 มาตรการวัคซีน  เพื่อช่วยฟื้นฟูภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกและเศรษฐกิจไทย โดยเน้นการเกิดขึ้นได้จริงอย่างต่อเนื่องและทันที ดังนี้
 
1.ภาครัฐทดลองเพิ่มทางเลือกสำหรับอัตราค่าจ้างแบบเป็นรายชั่วโมง เพื่อเป็นการลดอัตราการว่างงาน และเพิ่มการจ้างงานใหม่ในภาคค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการ โดยการจ้างงานประจำจะยังคงมีอยู่เหมือนเดิม แต่เพิ่มอัตราการจ้างงานแบบเป็นรายชั่วโมง เพื่อเป็นทางเลือก และสอดรับการให้บริการช่วงพีคของวันในแต่ละช่วงให้เกิดประสิทธิภาพการบริการลูกค้าสูงสุด ภาคค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการคาดว่าจะสามารถจ้างงานรายชั่วโมงได้ทันทีไม่น้อยกว่า 52,000 อัตรา และ เพิ่มได้ถึง 200,000 อัตราในระยะยาว
 
2.ภาครัฐควรช่วยเหลือ SME โดยให้มีการปล่อยสินเชื่อ (Soft Loan) ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันออกมาตรการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ SME และ เกษตรกร ทำให้เข้าถึงสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยอัตราพิเศษ โดยสมาคมฯ ขอเสนอให้ภาครัฐพิจารณาการให้สินเชื่อพิเศษนี้โดยผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก ซึ่งสามารถเข้าถึง SME เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 400,000 ราย ได้โดยตรงและอย่างรวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยแพลตฟอร์มค้าปลีกนี้ ธนาคารจะได้รับการชำระหนี้อย่างตรงเวลาและครบถ้วน เป็นการลดภาระหนี้สูญของธนาคารอีกด้วย
 
 
 3. ภาครัฐต้องเร่งพิจารณาเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ซื้อขายผ่าน E-Commerce/E-Marketplace ที่นำเข้าจากต่างประเทศ จากข้อมูล ETDA มูลค่า E-Commerce มีมูลค่าราว 300,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีมาตรการควบคุมที่ชัดเจน มีการขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าทุน ไม่มีมาตรการเรื่องการเก็บภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรก ทำให้ SME ไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่ง SME ไทยมีการเสียภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มเต็มจำนวนตั้งแต่บาทแรก ถือว่าเป็นการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Trade) และจะสร้างความเสียหายให้กับระบบค้าปลีกไทยในระยะยาว
 
4. ภาครัฐต้องหามาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยมุ่งไปยังกลุ่มที่มีกำลังซื้อระดับกลางถึงสูงกว่า 8 ล้านราย เพื่อผันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ด้วยมาตรการลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์  เพราะจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศ  เพื่อช้อปปิ้งสินค้าปลอดภาษีได้  ทำให้ต้องหันมาซื้อสินค้าผ่านทาง Cross Borders หรือ Grey Market 
 
ดังนั้น ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จึงอยากเสนอให้ภาครัฐออกมากระตุ้นการบริโภคของคนกลุ่มนี้ เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง  ด้วยการทดลองปรับลดภาษีนำเข้าชั่วคราวตามประเภทสินค้าไลฟ์สไตล์เป็นแบบขั้นบันได เช่น ลดจากเดิม 30% เป็น 20% 15% และ 10% เพื่อให้มีส่วนต่างของอัตราภาษีและไม่เกิดผลกระทบกับแบรนด์ไทย ซึ่งแนวทางดังกล่าจะสามารถสร้างเงินสะพัดภายในประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทต่อไตรมาส

 
5. ภาครัฐควรพิจารณาอนุญาตให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าที่หลากหลาย และราคาต่ำได้มากขึ้น จากงานวิจัย พบว่า สินค้าที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อหาเป็นประจำส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคไม่กี่ชนิด อาทิ ข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำตาล ซึ่งผลิตโดยผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ทำให้การกระจายรายได้ไปไม่ถึงผู้ผลิตสินค้ารายเล็กอื่นๆ การเปิดให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการ ซึ่งนอกจากจะช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้บัตรแล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้สู่ผู้ผลิตสินค้าในวงกว้างมากขึ้น ทั้งเกษตรกรชุมชน และ ผู้ประกอบการ SME
 
นายญนน์ กล่าวปิดท้ายว่า สมาคมค้าปลีกไทยมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับ และให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีกทั่วประเทศ  ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างสูงสุดกับรัฐบาล เพื่อร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่าการร่วมมือของทุกภาคส่วนจะเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกันได้อย่างดีที่สุด 
 

LastUpdate 23/01/2564 16:08:00 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:05 am