การตลาด
สกู๊ป อุตสาหกรรม ''ค้าปลีก'' ยัง ''อ่วม'' ดัชนีความเชื่อมั่นเดือน ม.ค.ทรุดหนักลุ้นรัฐอุ้ม


ยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงสำหรับภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกไทยของผู้ประกอบการค้าปลีกในเดือนม.ค. 2564 เนื่องจากอัตราการขยายตัวยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง  ภายหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศยังอยู่ในระดับที่ยังน่าเป็นห่วง แม้ว่าปัจจุบันจะเริ่มมีข่าวดีด้านของวัคซีน แต่ก็ยังคงต้องใช้เวลาในการวัดผลประสิทธิภาพการรักษา  

จากข้อมูลของการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือนม.ค. 2564 ที่ผ่านมา (รอบการสำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ 19-26 ม.ค. 2564) โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีการสำรวจเป็นรายเดือน พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีกในเดือนม.ค. 2564 ยังปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับเดือนธ.ค. 2563 เนื่องจากมีความอ่อนไหวจากการแพร่ระบาดของชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ แม้ภาครัฐจะใช้มาตรการเข้มข้นเพียง 28 จังหวัด แต่ดัชนีความเชื่อมั่นก็ยังคงปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับดัชนีความเชื่อมั่นเมื่อเดือนเม.ย. 2563 จากครั้งที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก ที่ภาครัฐมีมาตรการ Lock Down ทั้งประเทศ
 
 
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย  กล่าวว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทยยังมีความเชื่อมั่นว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการน่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น  เพราะหวังว่าภาครัฐน่าจะมีมาตรการเยียวยาออกมากระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง  แต่อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมรายภูมิภาค เริ่มมีการปรับลดลงจากเดือนธ.ค.ในทุกภูมิภาค สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างชัดเจน โดยเฉพาะภาคกลางซึ่งได้รับผลกระทบจาก super spreader ที่ตลาดกุ้งสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพ และปริมณฑล ที่มีอาณาเขตต่อกับจังหวัดสมุทรสาคร  
 
ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มการบริโภคที่ขยายตัวได้ปานกลาง เนื่องจากประชากรส่วนหนึ่งเคลื่อนย้ายจากอุตสาหกรรมสู่ภูมิลำเนา ประกอบกับมีแรงหนุนจากมาตรการของภาครัฐในการสนับสนุนสภาพคล่องและการใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยประคับประคองการบริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็มองว่า แนวโน้มในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นจะเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค  เนื่องจากมั่นใจว่าภาครัฐมีบทเรียนจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก และมีมาตรการเยียวยาออกมากระตุ้นการใช้จ่าย
 
 
ทั้งนี้  หากมองไปที่ดัชนีคามเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่แยกตามประเภทร้านค้า ด้วยการนำเดือน ม.ค. 2564 มาเปรียบเทียบกับเดือน ธ.ค.2563 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกประเภทของร้านค้าปลีกลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะร้านค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกร้านอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบของมาตรการภาครัฐที่ประกาศปิดศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารในเวลา 21.00 น.  แต่อย่างไรก็ตาม ผลจากการใช้มาตรการทำงานจากบ้าน (WFH) ทำให้ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ซ่อมบำรุง เฟอร์นิเจอร์ กลับมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นสวนทางกลับดัชนีความเชื่อมั่นร้านค้าปลีกอื่นๆ
 
นายญนน์  กล่าวอีกว่า  ในส่วนของผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าค่อนข้างมีความวิตกต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมาก สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในเดือนม.ค. 2564 ที่ลดลงอย่างทันที  โดยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 หรือลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งอย่างชัดเจน ในขณะที่เดือนธ.ค. 2563 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 
 
อย่างไรก็ดี  หากมองไปที่แนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ายังคงมีความเชื่อมั่นที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยกลาง สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ามีความมั่นใจว่าภาครัฐจะมีมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้
 
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการร้านค้าปลีกประเภท ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนม.ค. ลดลงมากและรวดเร็ว เมื่อเทียบกับดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนธ.ค. ที่ความเชื่อมั่นยังอยู่เหนือระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวลงอย่างมาก เมื่อเทียบดัชนีประเภทร้านค้าทั้ง 3 ประเภท จากดัชนีที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ตรู้สึกวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่าผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต 
 
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตน่ากลับมามีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น  หรือสูงกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรการภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจใน 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งตรงกันข้ามกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเล็กน้อย ในช่วงระยะเวลาอีก 3 เดือนข้างหน้า  ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 อยู่มาก สะท้อนให้เห็นถึงผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อยังไม่มีความมั่นใจในมาตรการภาครัฐที่ผ่านมา  เช่น  โครงการคนละครึ่ง ซึ่งร้านค้าสะดวกซื้อไม่ได้รับประโยชน์เลย
 
เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประเภทร้านอาหาร ภัตตาคาร และเครื่องดื่ม ที่ความเชื่อมั่นลดลงอย่างมีนัยยะชัดเจน มากกว่าร้านค้าประเภทอื่นๆ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ค่อนข้างมาก และเมื่อเทียบกับความเชื่อมั่นในเดือนธ.ค. 2563  ซึ่งอาจเป็นเพราะร้านอาหารมักเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และส่วนใหญ่ก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดเวลาการให้บริการที่ลดลงจากมาตรการเว้นระยะห่าง Social Distancing 
 
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการร้านอาหาร ภัตตาคาร และเครื่องดื่ม ในอีก 3 เดือนข้างหน้านับจากนี้  มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าเดือนม.ค.2564 เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ภาครัฐน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้น
 
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการประเภท ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ในเดือนม.ค. มีความเชื่อมั่นดีขึ้นสวนทางกับร้านค้าประเภทอื่นๆ สะท้อนให้เห็นว่าร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการปรับวิถี New Normal จากการทำงานที่บ้าน (WFH) ทำให้มีจับจ่ายซื้ออุปกรณ์สำนักงานไว้ภายในบ้านมากขึ้น
 

LastUpdate 13/02/2564 12:31:49 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:43 pm