การตลาด
สกู๊ป พิษโควิด-19 ยัง ''ฟาด'' อุตสาหกรรมโฆษณา ''ทรุด'' เดือนแรกปี 64 ยังติดลบ 7%


หลังจากการแพร่เชื้อของโรคโควิด-19 ที่กลับมาแพร่ระบาดในประเทศไทยอีกครั้งในช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องกลับมาหยุดชะงักอีกครั้ง เนื่องจากทุกฝ่ายต้องร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง ซึ่งจากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้อุตสาหกรรมโฆษณาต้องกลับมาได้รับผลกระทบอีกครั้ง เนื่องจากสินค้าต่างๆ ยังคงชะลอการใช้งบออกไป ขณะที่บางกลุ่มสินค้าก็ใช้งบเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ล่าสุด นีลเส็น  ออกมาเปิดเผยเม็ดเงินโฆษณาในช่วงเดือนม.ค.2564 พบว่ายังคงขยายตัวติดลบต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยมีตัวเลขติดลบอยู่ที่ประมาณ 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 8,032 ล้านบาท ลดลงจากเดือน ม.ค. 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 8,635  ล้านบาท เนื่องจากทุกสื่อมีเม็ดเงินเข้ามาน้อยมาก
 
สำหรับสื่อที่มีการขยายตัวติดลบมากที่สุด คือ  สื่อโรงหนัง ติดลบอยู่ที่ 38% หรือมีมูลค่าอยู่ที่  329 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีเม็ดเงินไหลเข้าอยู่ที่ประมาณ 530 ล้านบาท ตามด้วยสื่อวิทยุ ติดลบอยู่ที่ 31% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 216 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีเม็ดเงินไหลเข้าอยู่ที่ประมาณ 314 ล้านบาท สื่อนอกอาคารและสื่อเคลื่อนที่ ติดลบที่  22%  หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 768 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเม็ดเงินไหลเข้าอยู่ที่ประมาณ  983 ล้านบาท
 
 
ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์  ติดลบอยู่ที่ 16% หรือมีมูลค่าอยู่ที่  266 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีเม็ดเงินไหลเข้าอยู่ที่ประมาณ  317 ล้านบาท  สื่อในอาคาร ติดลบอยู่ที่ 16% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 43 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีเม็ดเงินไหลเข้าอยู่ที่ประมาณ 51 ล้านบาท สื่อทีวี  ติดลบอยู่ที่ 1% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 4,827 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีเม็ดเงินไหลเข้าอยู่ที่ประมาณ 4,857 ล้านบาท และสื่ออินเตอร์เน็ต  มีอัตราการเติบโตทรงตัว  โดยเม็ดเงินไหลเข้าเท่ากับปี 2563  ที่ประมาณ 1,583 ล้านบาท
 
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าสื่อทีวียังคงเป็นสื่อหลักที่ผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าและบริการต่างๆ เลือกใช้ เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ดี  โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัด ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าฐานใหญ่ที่สุดของประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สื่อทีวีมีสัดส่วนเม็ดเงินโฆษณาสูงถึง 61% ในช่วงเดือน ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา
 
 
ในส่วนของภาพรวมเรตติ้งทีวีทั่วประเทศครอบคลุมผู้ชมอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไปของทีวีทั้ง 18 ช่องในช่วงเดือน ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา อันดับ 1 เป็นของช่อง 7 ครองเรตติ้งที่ 1.613  อันดับ 2 เป็นของช่อง 3 ครองเรตติ้งที่ 1.039  อันดับ 3 ช่องโมโน ครองเรตติ้งที่  0.915 อันดับ 4  ช่องวัน ครองเรตติ้ง 0.686 อันดับ 5 ช่องเวิร์คพอยท์ ครองเรตติ้ง 0.653  อันดับ 6 ช่อง อมรินทร์  ครองเรตติ้ง 0.635 อันดับ 7 ช่องไทยรัฐทีวี  ครองเรตติ้ง 0.591 อันดับ 8 ช่อง 8 ครองเรตติ้ง 0.340 อันดับ 9 ช่องพีพีทีวี  ครองเรตติ้ง 0.191 อันดับ 10 ช่อง MCOT ครองเรตติ้ง 0.183  
 
ขณะที่อันดับ 11 เป็นของช่องทรูโฟร์ยู  ครองเรตติ้ง 0.175  อันดับ 12 ช่องเนชั่น ครองเรตติ้ง 0.106 อันดับ 13 ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ครองเรตติ้ง 0.095 อันดับ 14 ช่องไทยพีบีเอส  ครองเรตติ้ง 0.072  อันดับ 15 ช่อง TNN ครองเรตติ้ง 0.043  อันดับ 16 ช่อง นิว 18 ครองเรตติ้ง 0.040  อันดับ 17 ช่อง NBT ครองเรตติ้ง 0.037 และอันดับ 18 ช่อง 5 ครองเรตติ้งที่ 0.016
 
โดยช่วงเวลาที่มีการซื้อสื่อโฆษณามากที่สุดยังคงเป็นไพร์มไทม์ ตั้งแต่ช่วงเวลา 18.00 -22.00 น.ซึ่งรายการที่กลุ่มสินค้าและบริการให้ความสนใจเข้าไปซื้อสื่อโฆษณามากที่สุดยังคงเป็นในส่วนของรายการข่าว ละครเย็น และละครหลังข่าว เพราะเป็นช่วงที่มีผู้ชมสูงที่สุด  
 
สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณามากที่สุดในช่วงเดือน ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food&Beverage) มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาคิดเป็นมูลค่า 1,418 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ตามด้วยกลุ่ม Media & Marketing ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจการขายตรง มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาคิดเป็นมูลค่า 1,108 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 
 
 
ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง (Personal Care & Cosmetic) มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาคิดเป็นมูลค่า 1,020 ล้านบาท ลดลง -12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และกลุ่มยานยนต์ (Automotive) มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาคิดเป็นมูลค่า 520 ล้านบาท ลดลง -27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
 
ทั้งนี้  ในส่วนของบริษัทที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือน ม.ค. 2564  ใน 3 ลำดับแรก คือ  1. บริษัท ยูนิลีเวอร์ (ไทย) โฮลด์ดิ้ง จำกัด  มีการใช้เม็ดเงินคิดเป็นมูลค่า 349 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ประมาณ 18% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนม.ค. คือ บรีสเอกเซล รักษ์โลก สูตรใหม่เป็นมิตรต่อโลก มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านทางสื่อทีวี คิดเป็นมูลค่า 41 ล้านบาท รองลงมาคือ ใหม่ เคลียร์ คลีน แอนด์ มายด์ มีการใช้เม็ดเงินผ่านทางสื่อทีวี  คิดเป็นมูลค่า 30 ล้านบาท
 
อันดับ 2 เป็นของบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณา คิดเป็นมูลค่า 297 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ประมาณ 150% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนม.ค.ที่ผ่านมาคือ เนสกาแฟ ลุ้นอภิมหาโชค มีการใช้เม็ดเงินผ่านทางสื่อทีวี  คิดเป็นมูลค่า 46 ล้านบาท รองลงมาคือ S26 เชื่อว่าทุกการเรียนรู้ยิ่งใหญ่เสมอ  มีการใช้เม็ดเงินผ่านทางสื่อทีวี  คิดเป็นมูลค่า 39 ล้านบาท
 
อันดับ 3 เป็นของบริษัท  พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (ประเทศไทย) จำกัด  มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณา คิดเป็นมูลค่า 222 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563  ที่ประมาณ  47% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา คือ รีจอยส์ ผมนุ่มสลวย กลิ่นหอมยาวนาน มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อทีวี  คิดเป็นมูลค่า 22 ล้านบาท รองลงมาคือ ใหม่ ดาวน์นี่ หอมสดชื่นยาวนาน มีการใช้เม็ดเงินผ่านทางสื่อทีวี คิดเป็นมูลค่า 21 ล้านบาท 
  
ดูจากแนวโน้มของเม็ดเงินโฆษณาของแต่ละสื่อก็ยังคงต้องลุ้นกันต่อไปว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาในปี 2564 จะกลับมาเติบโตเป็นบวกได้หรือไม่ หากคนไทยยังคงต้องอยู่กับโรคโควิด-19 ไปอีกพักใหญ่
 

 


LastUpdate 20/02/2564 10:43:39 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 11:22 pm