การตลาด
สกู๊ป ''อุตสาหกรรมโฆษณา'' ส่งสัญญาณ ''ฟื้น'' คาดสิ้นปี 64 พลิกกลับมาโต 5-10%


ถือเป็นความเคยชินไปแล้วก็ว่าได้สำหรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กลับมามีสถานการณ์รุนแรงอีกครั้ง หลังจากมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ตลาดย่านบางแค  เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มมีความเข้าใจในปัญหา และมีการป้องกันตัวเอง  เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19  ซึ่งจากแนวโน้มที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโฆษณาเริ่มยิ้มออก  เพราะหลายสินค้าเริ่มออกมาใช้จ่ายเงินผ่านการซื้อสื่อโฆษณา

จากแนวโน้มที่ดีดังกล่าว ล่าสุดกลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด เอเยนซีชื่อดังในวงการโฆษณาออกมาคาดการณ์ว่า สิ้นปี 2564  นี้ภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาอาจได้เห็นตัวเลขเป็นบวก ด้วยการมีอัตราการเติบโตจากปี 2563 ที่ประมาณ 5-10%  โดยมีอุตสาหกรรมยานยนต์ประเภทรถยนต์เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก
 
 
นายภวัต เรืองเดชวรชัย  ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด กล่าวว่า จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น  ขณะนี้ได้ผ่านวิกฤตจุดต่ำสุดไปเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากตอนนี้เป็นช่วงเวลาของการกระจายวัคซีนให้กับประชาชน  จึงทำให้เริ่มเห็นสัญญาณต่างๆ ที่ดีขึ้น ซึ่งจากแนวโน้มที่ดีดังกล่าวน่าจะเริ่มเห็นสัญาณการฟื้นตัวที่ชัดขึ้นนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมี.ค. เป็นต้นไป โดยในสิ้นปี 2564  นี้บริษัทคาดการณ์ว่าภาพรวมเม็ดเงินของอุตสาหกรรมโฆษณาน่าจะกลับมามีอัตราการเติบโตเป็นบวกอยู่ที่ประมาณ 5 - 10% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ  79,600 ล้านบาท
 
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่น่าจะเข้ามาช่วยผลักดันให้เม็ดเงินโฆษณาในปีนี้กลับมาเติบโตอีกครั้งจะมีด้วยกัน  5 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มยานยนต์ประเภทรถยนต์   2. อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม  3.อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม  4.อุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมและอุปกรณ์สื่อสาร  5.อุตสาหกรรมอีมาร์เก็ตเพลส 
 
อย่างไรก็ดี  แม้ว่ากลุ่มตลาดรถยนต์จะมียอดขายตกไปมากกว่า 20% ในปีที่ผ่านมา แต่ด้วยปัจจัยในเรื่องของผู้เล่นรายใหม่ที่มาจากประเทศจีน และกระแสความสนใจของรถยนต์ไฟฟ้า EV จึงทำให้อุตสาหกรรมในกลุ่มยานยนต์ประเภทรถยนต์กลับมาคึกคักอีกครั้ง  เช่นเดียวกับกลุ่มอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมและอุปกรณ์สื่อสารที่ปีนี้จะมีความคึกคักมากขึ้น  เนื่องจากช่วงปลายปีจะมีการเปิดให้บริการ 5G อย่างเต็มรูปแบบ   
 
 
นายภวัต กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในคลัสเตอร์ใหม่ที่ตลาดบางแค เท่าที่ดูสถานการณ์ในขณะนี้ประชาชนมีความตื่นตระหนกน้อยลงเมื่อเทียบกับการแพร่ระบาดในครั้งที่ผ่านๆมา  เนื่องจากประชนเริ่มมีความเคยชิน และทำใจยอมรับกับ Pandemic ในกลุ่มคลัสเตอร์ต่างๆ  ประกอบกับปัจจุบันประชาชนมีการปรับตัวสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน คือ มีการป้องกันตัวเองจนเป็นนิสัยอยู่แล้ว
 
แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์โดยรวมของอุตสาหกรรมโฆษณาจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น  แต่หากไปดูภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ยังคงติดลบต่อเนื่องจากเดือน ม.ค.  ซึ่งจากข้อมูลของนีลเส็น ประเทศไทย ระบุว่า  ภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมามีการขยายตัวติดลบอยู่ที่ 11% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 7,220 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 8,141 ล้านบาท
 
โดยสื่อที่มีการขยายตัวติดลบมากที่สุด คือ สื่อโรงหนัง ติดลบอยู่ที่ 37% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 336 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 465 ล้านบาท  ตามด้วยสื่อเคลื่อนที่ ติดลบ 36% หรือมีมูลค่า 313 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า  434 ล้นบาท  สื่อเคเบิลทีวี/แซทเทลไลท์ทีวี  ติดลบ 35% หรือมีมูลค่า  87% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า  120 ล้านบาท  สื่อนิตยสาร ติดลบ 33%  หรือมีมูลค่า 44 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 66 ล้านบาท
 
ขณะที่สื่อในอาคารมีการขยายตัวติดลบอยู่ที่ 32%  หรือมีมูลค่าอยู่ที่  46 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 68 ล้านบาท  สื่อวิทยุ ติดลบที่ 25% หรือมีมูลค่า  225 ล้านบาท  ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 312 ล้านบาท  สื่อหนังสือพิมพ์ ติดลบ 22% หรือมีมูลค่า 188 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 240 ล้านบาท สื่อนอกอาคาร ติดลบที่ 15% หรือมีมูลค่า 435 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 512 ล้านบาท และสื่อทีวี ติดลบที่ 11% หรือมีมูลค่า 4,809 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 5,406 ล้านบาท ส่วนสื่ออินเตอร์เน็ตมีมูลค่าอยู่ที่ 735 ล้านบาท ยังไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบกับปี 2563 เนื่องจากมีการปรับรูปแบบการเก็บข้อมูล
 
สำหรับภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2564 อุตสาหกรรมโฆษณามีการขยายตัวติดลบที่ 7% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 14,455 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 15,573 ล้านบาท  โดยสื่อที่มีการขยายตัวติดลบมากที่สุด คือ สื่อเคเบิลทีวี/แซทเทลไลท์ทีวี  ติดลบที่ 41% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 177 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 299 ล้านบาท ตามด้วยสื่อโรงหนัง ติดลบที่ 37% หรือมีมูลค่า 668 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 1,061 ล้านบาท สื่อเคลื่อนที่ ติดลบ 35% หรือมีมูลค่า  620 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 950 ล้านบาท สื่อวิทยุ ติดลบ 29% หรือมีมูลค่า 441 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 617 ล้านบาท 
 
 
ส่วนสื่อนิตยสาร ติดลบที่ 28%  หรือมีมูลค่า 92 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า  127 ล้านบาท สื่อหนังสือพิมพ์ ติดลบ 18% หรือมีมูลค่า 408 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 496 ล้านบาท สื่อในอาคาร ติดลบ 17% หรือมีมูลค่า 99 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 119 ล้านบาท สื่อนอกอาคาร ติดลบ 13% หรือมีมูลค่า 901 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 1,031 ล้านบาท สื่อทีวี ติดลบ 5% หรือมีมูลค่า 9,547 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 10,099 ล้านบาท ส่วนสื่ออินเตอร์เน็ตมีมูลค่าอยู่ที่ 1,502 ล้านบาท  ยังไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบกับปี 2563 เนื่องจากมีการปรับรูปแบบการเก็บข้อมูล
 
สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณามากที่สุดในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564  คือ  กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม มีการใช้เม็ดเงินคิดเป็นมูลค่า 2,669 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32%  ตามด้วยกลุ่ม  Media & Marketing ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจการขายตรง มีการใช้เม็ดเงินคิดเป็นมูลค่า 2,037 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% และกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง มีการใช้เม็ดเงินคิดเป็นมูลค่า 2,038 ล้านบาท ลดลง -2% 
 

LastUpdate 20/03/2564 11:52:57 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 7:14 pm