การตลาด
สกู๊ป ''เมเจอร์'' เดินเกมโรงภาพยนตร์ ''ไร้เงินสด'' หวังโกยรายได้ช่องทางออนไลน์โต 600%


หลังจากทดลองให้บริการโรงภาพยนตร์แบบไร้เงินสดมาระยะหนึ่ง  ล่าสุดโรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์  ก็ออกเปิดโมเดล “โรงภาพยนตร์ไร้เงินสด CASHLESS CINEMA” อย่างเป็นทางการ  เพื่อตอบรับกระแสสังคมไร้เงินสด ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจใช้บริการซื้อสินค้าผ่านบริการดังกล่าวมากขึ้น  เนื่องจากมีความสะดวกสบาย

ขณะเดียวกัน  ยังถือเป็นการเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย ลดการสัมผัส ในยุค New Normal  เนื่องจากเรายังต้องอยู่กับโรคโควิด-19 ไปอีกพักใหญ่  และตอนนี้ประเทศไทยก็กำลังเข้าสู่การแพร่ระบาดในระลอกที่ 3 ซึ่งครั้งนี้ดูเหมือนจะรุนแรงกว่า 2 ครั้งที่ผ่านมา  เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส  สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในตอนนี้ คือ การดูแลและป้องกันตัวเอง การ์ดห้ามตกโดดเด็ดขาด 
 
 
นายนรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า  เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุค New Normal  บริษัทจึงได้มีการเปิดให้บริการ “โรงภาพยนตร์ไร้เงินสด CASHLESS CINEMA” แห่งแรกของไทย ด้วยบริการซื้อและรับชำระค่าตั๋วหนังแบบไร้เงินสด ภายใต้คอนเซ็ปท์ สะดวก ปลอดภัย ลดการสัมผัส  เพื่อให้ลูกค้าเสพความบันเทิงในยุค New Normal ได้อย่างมั่นใจ ซึ่งโรงภาพยนตร์ที่บริษัทจะนำมาให้บริการเป็นสาขาต้นแบบแห่งแรก คือ  โรงภาพยนตร์ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต  โดยเมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมาได้มีการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการไปเรียบร้อย 
 
สำหรับโรงภาพยนตร์ไร้เงินสด CASHLESS CINEMA ที่เปิดให้บริการที่โรงภาพยนตร์ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต  จะเป็นการให้บริการซื้อตั๋วหนังแบบไร้เงินสดเต็มรูปแบบ ไม่มีพนักงานขายตั๋วหนัง ไม่มีเคาน์เตอร์ Box Office จำหน่ายตั๋วหนัง เป็นการซื้อตั๋วหนังแบบ Self Service ผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิ เว็บไซต์ www.majorcineplex.com, แอพพลิเคชั่น Major Cineplex, ซื้อผ่านตู้จำหน่ายตั๋วหนังอัตโนมัติ E-Ticket ด้านหน้าโรงภาพยนตร์ แล้วเลือกชำระค่าตั๋วหนังด้วยระบบออนไลน์เพย์เม้นท์ต่างๆ เช่น ชำระผ่านคิวอาร์โค้ด, อีวอลเล็ท, โมบายแบงก์กิ้ง, แอพพลิเคชั่นธนาคาร, พร้อมเพย์ ตลอดจนการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต, บัตรเดบิต, บัตร M Gen, บัตร M CASH 
 
 
นอกจากนี้ ลูกค้ายังสามารถซื้อป๊อปคอร์น เครื่องดื่ม และสินค้าอื่นๆ ที่ จุดจำหน่ายขนมและเครื่องดื่ม (Concession) ได้ด้วยบริการ Cashless ผ่านช่องไลน์ออนไลน์เพย์เม้นท์และบัตรต่างๆ ได้อีกด้วย  เรียกได้ว่าส่งเสริมและตอบรับสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ  
 
ขณะเดียวกัน ยังถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการสร้างความมั่นใจในการดูหนังยุค New Norma ควบคู่ไปกับการช่วยลดการสัมผัสเงินโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งทุกคนยังต้องระมัดระวังและดูแลตัวเองเป็นอย่างดี
 
นายนรุตม์  กล่าวอีกว่า  นอกจากจะเป็นการลดการสัมผัส เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว ยังช่วยให้ลูกค้ายังมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมจากการใช้บริการ Rekeep หรือการใช้คิวอาร์โค้ดแทนตั๋วหนังกระดาษ  ซึ่งถือเป็นการลดการใช้กระดาษ Paperless โดยสามารถแสดงคิวอาร์โค้ดเลขที่นั่งและโรงภาพยนตร์ก่อนเข้าโรงภาพยนตร์ผ่านเครื่อง Smart Ticket บริเวณทางเข้าโรงภาพยนตร์ ซึ่งสอดรับกับโครงการ Green Cinema โรงภาพยนตร์รักษ์โลก ที่บริษัทได้ดำเนินการอยู่
 
สำหรับแผนการขยายสาขาโรงภาพยนตร์ไร้เงินสด Cashless Cinema ในปีนี้  เมเจอร์  มีแผนที่จะขยายสาขาในกรุงเทพฯ เพิ่มอีก 9 สาขา ภายในวันที่ 1 ก.ค. 2564  ประกอบด้วย  โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สาขา รัชโยธิน, โรงภาพเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์  สาขารังสิต, โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สาขาพระราม 3, โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์, โรงภาพยนตร์เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดา, โรงภาพยนตร์อีสต์วิลล์ ซีนีเพล็กซ์, โรงภาพยนตร์เมกา ซีนีเพล็กซ์, โรงภาพยนตร์เวสต์เกต ซีนีเพล็กซ์ และโรงภาพยนตร์ไอคอน ซีเนคอนิค 
 
จากแผนการดำเนินงานดังกล่าว เมเจอร์  คาดหวังว่า หลังเปิดให้บริการโรงภาพยนตร์ไร้เงินสด Cashless Cinema จะทำให้สัดส่วนการรับชำระค่าสินค้าและบริการจากเงินสด (Cash) เป็น 0% และชำระแบบไร้เงินสด (Cashless) 100% ที่ ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต นับตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป หลังจากนั้นจะเป็นการชำระแบบไร้เงินสด (Cashless) ที่ 10 สาขาในกรุงเทพฯ 100%  ภายในวันที่ 1 ก.ค. 2564 และครอบคลุม 100% ในทุกสาขาทั้งในกรุงเทพฯ และในจังหวัดหลักๆ ภายใน 31 ธ.ค. 2564  หลังจากนั้นภายในปี 2565  เมเจอร์ คาดว่าโมเดลโรงภาพยนตร์ไร้เงินสด Cashless Cinema จะครอบคลุมครบทุกสาขาของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป  จากปัจจุบันรับชำระจากเงินสด (Cash) 7% และชำระแบบไร้เงินสด (Cashless) 93%
 
 
นายนรุตม์ กล่าวว่า  การขยายบริการโรงภาพยนตร์ไร้เงินสด บริษัทตั้งเป้าจะให้ครอบคลุม 10 สาขา ในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภายในสิ้นปีนี้ และครอบคลุมทุกสาขาในปี 2565  ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนการที่วางไว้  บริษัทคาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้ผ่านข่องทางออนไลน์ และไร้เงินสดที่ประมาณ 30%  ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 70%  เป็นสัดส่วนรายได้ที่มาจากการชำระเงินสด  ซึ่งลดลงจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 93%
 
นอกจากนี้  การดำเนินธุรกิจในโมเดลโรงภาพยนตร์ไร้เงินสด ยังถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการลดต้นทุนพนักงานได้ถึง 70% จากเดิม เมเจอร์ มีพนักงานทั้งสิ้น 4,200 คน ให้บริการ 173 สาขาทั่วประเทศ ปัจจุบันมีการปรับพนักงานประจำลดลงเหลือ 2,200 คน ส่วนอีก 1,300 คน  เป็นพนักงานชั่วคราว  ซึ่งจากแนวทางการดำเนินงานดังกล่าว ทำให้ เมเจอร์ ต้องโยกพนักงานไปทำหน้าที่ใหม่ๆ โดยเฉพาะการขายป๊อปคอร์นที่ปัจจุบันทำรายได้ให้สูงถึง 1,000 ล้านบาท  และเสริมบริการให้ลูกค้าวีไอพีมากขึ้น
 
นายนรุตม์  กล่าวปิดท้ายว่า  โรงภาพยนตร์ไร้เงินสด นอกจากจะตอบโจทย์ด้านความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภค ในด้านของการจอง ซื้อตั๋ว และเข้าดูหนังจะใช้ระยะเวลาน้อยลง ขณะที่บริษัทก็จะลดจำนวนพนักงานที่ทำงานหน้าเคาน์เตอร์ได้มากขึ้น เพื่อไปยกระดับบริการด้านอื่นๆให้ดีขึ้น  ซึ่งโมเดลดังกล่าวบริษัทมีความคาดหวังว่า  จะทำให้ขายตั๋วหนังผ่านช่องทางออนไลน์ได้มากถึง 3.6 ล้านใบ หรือเติบโต 600% จากปี 2562  ที่มียอดขายอยู่ที่ประมาณ 6.6 แสนใบ
 

LastUpdate 10/04/2564 10:58:15 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 2:25 pm