การตลาด
สกู๊ป ''บิ๊กซี'' ปลุก 6 ยุทธศาสตร์ ''สยายปีก'' ธุรกิจในไทยและต่างประเทศ ''ดัน'' ยอดขายเพิ่ม


แม้ว่าจะเหลือกันแค่ 2 แบรนด์หลักๆ สำหรับธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตของไทย คือ บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต และห้างเทสโก้ โลตัส แต่การแข่งขันของห้างค้าปลีกประเภทดังกล่าวก็ยังคงมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง  เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายหลักของห้างค้าปลีกประเภทดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางลงล่างกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว  จึงทำให้ผู้ประกอบการทั้ง 2 ค่ายต้องออกมาทำกิจกรรมส่งเสริมการขายกันอย่างหนัก  เพื่อกระตุ้นให้มียอดขายเป้นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

สำหรับในส่วนของห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ล่าสุดได้มีการออกมาประกาศยุทธศาสตร์เชิงรุก ด้วยการเดินหน้าขยายธุรกิจให้มีฟอร์แมตที่หลากหลาย  เพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภค  เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้น  การปรับกลยุทธ์ให้มีฟอร์แมตร้านที่หลากหลาย จึงถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ตจะเลือกหยิบมาใช้ เพื่อรักษาฐานลูกค้าและขยายฐานลูกค้าเพิ่ม
 
 
นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (บีเจซี) กล่าวว่า แนวทางการทำธุรกิจนับจากนี้  บริษัทจะใช้ยุทธศาสตร์ในการขยายห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์  ด้วยฟอร์แมตที่หลากหลาย  เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกและครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย  ด้วยการพัฒนาช่องทางการซื้อสินค้าที่หลากหลายใน 6 รูปแบบ ประกอบด้วย 1. Hypermarket/Supermarket  ซึ่งเป็นรูปแบบ B2C ได้แก่ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์และบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า  ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสาขาเปิดให้บริการอยู่ที่ 152 สาขา และในปี 2564 นี้บริษัทมีแผนที่จะขยายร้านในฟอร์แมตดังกล่าวเพิ่มอีก 2 สาขา 
 
นอกจากนี้  ยังมีแผนที่จะรีโนเวทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้าอีก 6 สาขา  เช่น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นตอร์ สาขาสำโรง เป็นต้น  ขณะเดียวกัน ก็จะทำการรีโนเวท บิ๊กซี มาร์เก็ต 48 สาขา บิ๊กซี ฟู้ดเพลส 6 สาขา และอัพเกรด บิ๊กซี มาร์เก็ตเป็นบิ๊กซี ฟู้ดเพลส  อีก 10 สาขา  
 
ยุทธ์ศาสตร์ที่ 2 ที่ บิ๊กซีฯ จะเดินไป คือ  Cash & Carry จะเป็นการให้บริการในรูปแบบ B2B ได้แก่ บิ๊กซี ดีโป้ 7 สาขา ขณะที่ยุทธศาสตร์ที่ 3 จะเป็นในส่วนของ Small Formats ในรูปแบบ Convenience ซึ่งจะเป็นในส่วนของ มินิบิ๊กซี  ปัจจุบันมีจำนวนสาขาเปิดให้บริการ 1,231 สาขา  โดยในปี 2564  นี้มีแผนจะขยายสาขาเพิ่ม 100-200 สาขา  ส่วนร้านขายยา Pure ปัจจุบันมี 144 สาขา และร้านกาแฟวาวี ปัจจุบันมี 39 สาขา 
 
ในส่วนของยุทธศาสตร์ที่ 4 Online ในรูปแบบ Omni-Channel ได้แก่ บิ๊กซี ช้อปปิ้งออนไลน์ , บิ๊กซี ไลน์&โทรมาช้อป และบิ๊กซี TMALL GLOBAL ที่เปิดให้ลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติสั่งซื้อสินค้าของบิ๊กซีได้อีกด้วย  ยุทธศาสตร์ที่ 5 New Channels การเพิ่มช่องทางใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้า เช่น บิ๊กซี เวนดิ้ง แมชชีน ซึ่ง บิ๊กซีฯ ได้มีการจับมือกับเครือสหพัฒน์ เพื่อทดลองให้บริการในช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งในอนาคต บิ๊กซีฯ มีเป้าหมายที่จะตั้งให้บริการในโรงพยาบาล โรงงาน อาคารสำนักงาน รวมไปถึงคอนโดมิเนียม และสถานที่อื่นๆอีกมากมาย  
 
สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 6 ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์สุดท้าย คือ  International การขยายสาขาในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีร้านมินิบิ๊กซี ในรูปแบบแฟรนไชส์ในสปป.ลาว จำนวน 51 สาขา  และยังคงมีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายให้ผลการตอบรับเป็นอย่างดี  
 
 
พร้อมกันนี้  ยังมีแผนที่จะนำ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์  เข้าไปขยายสาขาในประเทศกัมพูชาอีก 1 สาขา ส่วนประเทศเวียดนาม บิ๊กซี มีแผนที่จะนำค้าปลีกโมเดลใหม่ๆ เข้าไปเปิดให้บริการ เนื่องจากตลาดมีการแข่งขันค่อนข้างสูง  ซึ่งแนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจค้าปลีกในประเทศเวียดนาม  ซึ่งปัจจุบันมีร้านสะดวกซื้อ บีสมาร์ท  และไฮเปอร์มาร์เก็ตภายใต้แบรนด์ “เอ็มเอ็ม มาร์เก็ต” ทำตลาดอยู่ และได้ผลการตอบรับเป็นอย่างดี 
 
การออกมาประกาศยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจของ บิ๊กซีฯ  ในครั้งนี้  ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการนำฐานข้อมูลของลูกค้าที่บริษัทมีอยู่มาปรับใช้  ซึ่งปัจจุบัน บิ๊กซีฯ มีฐานลูกค้าที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของบิ๊กการ์ด ในปี 2563 ที่ผ่านมาประมาณ  14.7 ล้านคน  เพิ่มขึ้นกว่า 30%  จากปี 2562  และในปี 2564 นี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 16.5 ล้านคน  ซึ่งนอกจากจะให้ความสำคัญกับการขยายหน้าร้านแล้ว  ในด้านของการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์  บิ๊กซีฯ ก็จะให้ความสำคัญเช่นกัน  เนื่องจากช่องทางออนไลน์ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการสร้างรายได้  หลังจากพบว่าในช่วงปีที่ผ่านมามียอดขายเพิ่มขึ้นสูงถึง 200%   ส่งผลให้ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้มาจากช่องทางออนไลน์อยู่ที่ประมาณ 30-40%
 
นายอัศวิน กล่าวอีก  การเชื่อมโยงร้านค้าและออนไลน์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ต้องมี  เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้  เพราะต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นธุรกิจนำเข้า หรือส่งออก  รวมไปถึงธุรกิจด้านการท่องเที่ยว  เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวลดลง 
 
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคในประเทศเองก็มีกำลังซื้อที่ลดลง เมื่อโควิดทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป การตัดสินใจเปลี่ยนไป เงินในกระเป๋าน้อยลง บิ๊กซี  เลยต้องออกมาปรับกลยุทธ์เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะการเกิดขึ้นของโรคโควิด-19  ทำให้รายได้และผลกำไรของภาคธุรกิจปรับตัวลดลง  เช่นเดียวกับ บิ๊กซีฯ  ที่ออกมายอมรับว่าภาพรวมผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2564 นี้ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน  เนื่องจากมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้น 
 
อย่างไรก็ดี  แม้ว่าจะมีปัจจัยลบเกิดขึ้น แต่ บิ๊กซีฯ ก็ยังคงเดินหน้าที่จะใช้งบลงทุน 4,000-5,000 ล้านบาท ในการลงทุนขยายและปรับปรุงสาขาในทุกๆ รูปแบบ รวมไปถึงการทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย เช่น การทำโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม  เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคที่กำลังซื้อยังไม่ฟื้นกลับคืนสู่ภาวะปกติ ซึ่งหลังจากออกมาทำการตลาดภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว บิ๊กซีฯ เชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นยอดขายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
 

LastUpdate 10/04/2564 11:11:51 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 6:53 am