การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
''อนุทิน'' เผยให้บริการทางการแพทย์ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมเกือบ 2 พันราย


รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยสถานบริการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรวม 3 แห่ง ให้บริการทางการแพทย์ช่วยผู้ประสบภัยแล้ว 1.7 พันราย ส่วนใหญ่เป็นน้ำกัดเท้า ผลประเมินสุขภาพจิตอยู่ในระดับปกติ ไม่มีรายงานบาดเจ็บและเสียชีวิต ย้ำไม่เลื่อนฉีดวัคซีนโควิด ให้จัดสถานที่อำนวยความสะดวกฉีดประชาชนตามนัดหมาย พร้อมจัดส่งยาชุดให้พื้นที่น้ำท่วม


 
วันนี้ (27 กันยายน 2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสถานบริการได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ว่า  ขณะนี้ได้รับรายงานว่ามีสถานบริการสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเพิ่มอีก 1 แห่ง รวมเป็น 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ น้ำท่วมอาคารบริการชั้น 1 และบริเวณโดยรอบ ทำให้ต้องปิดบริการและย้ายผู้ป่วยทั้ง 26 รายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้การดูแลรักษาต่อตามมาตรฐานทั้งหมดแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ (26 กันยายน ) ส่วนโรงพยาบาลสุโขทัย น้ำท่วมทางเข้าและบริเวณโดยรอบ  เปิดให้บริการผู้ป่วยได้ตามปกติ สำหรับที่รายงานเพิ่มเติม คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)บ้านยางโองนอก อ.บ้านตาก จ.ตาก น้ำท่วมอาคารบริการชั้น 1 เปิดให้บริการได้บางส่วน

ทั้งนี้ ได้กำชับให้สถานบริการทุกแห่งให้ติดตามสถานการณ์ ซึ่งคาดการณ์ 24 ชั่วโมงจะมีฝนตกหนักในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยให้ดำเนินการตามแผนเฝ้าระวังอุทกภัยที่วางไว้ เพื่อให้สามารถบริการผู้ป่วยและดูแลผู้ประสบภัยได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยจิตเวช เพื่อไม่ให้ขาดยา จัดตั้งโรงพยาบาลสนามเมื่อจำเป็นหรือเหมาะสม เตรียมสำรองยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอต่อการให้บริการ สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ขอให้ศูนย์ฉีดต่างๆ บริหารจัดการตามความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนตามที่นัดหมาย โดยอาจจัดเตรียมสถานที่สำรองที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนมากที่สุด

ขณะนี้มีการให้บริการทางการแพทย์ ทั้งเยี่ยมบ้าน แจกยา ให้สุขศึกษา และประเมินสุขภาพจิตในพื้นที่ 4 อำเภอ 2 จังหวัด ได้แก่ อ.เมือง อ.ดอนเจดีย์ และ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี และ อ.สามงา จ.ตาก รวม 1,735 ราย พบการเจ็บป่วย 1,025 ราย เป็นโรคน้ำกัดเท้ามากที่สุด 1,011 ราย และโรคทางระบบผิวหนัง เช่น แพ้ ผื่นคัน 14 ราย ได้ให้การรักษาแล้ว ส่วนประเมินสุขภาพจิต 299 ราย อยู่ในภาวะปกติทุกราย ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากภัยน้ำท่วม ทั้งนี้ ได้ให้กองสาธารณสุขฉุกเฉินประสานองค์การเภสัชกรรมเร่งจัดส่งยาตำราหลวงเพิ่มรวม 5,000 ชุด ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ประสบภัย 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ สุโขทัย กำแพงเพชร นครราชสีมา จังหวัดละ 1,000 ชุด ตรังและเพชรบูรณ์ จังหวัดละ 500 ชุด  

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ก.ย. 2564 เวลา : 18:55:34
18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 4:52 pm