การตลาด
Special Report : ''ยักษ์ค้าปลีกไทย'' เดินเกมบุกตลาดต่างประเทศ ''สยามพิวรรธน์'' ชิมลางลุยมาเลเซีย


หลังจากปล่อยให้กลุ่มเซ็นทรัลเดินเครื่องบุกตลาดต่างประเทศมาพักใหญ่ ล่าสุด “กลุ่มสยามพิวรรธน์” ก็ออกมาประกาศแผนเชิงรุกบุกตลาดต่างประเทศบ้าง หลังจากก่อนหน้านี้ได้จับมือกับพันธมิตรจากต่างประเทศนำสินค้าและบริการเข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทย เพื่อเป็นการชิมลางตลาด ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ผลการตอบรับเป็นที่น่าพอใจ 
 

ล่าสุดออกมาประกาศยุทศาสตร์จับมือ “พาวิลเลียนกรุ๊ป” บิ๊กอสังหาริมทรัพย์จากประเทศมาเลเซีย นำธุรกิจสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นจำนวน 3 แบรนด์ ได้แก่ ร้าน ICONCRAFT ร้าน Absolute Siam และร้าน Ecotopia บุกตลาดประเทศมาเลเซีย เพื่อเป็นการทดลองตลาด ก่อนที่จะมีการต่อยอดไปยังประเทศที่มีศักยภาพอื่นๆ  

นางอุสรา ยงปิยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจค้าปลีก บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของและผู้บริหารสยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์, สยามดิสคัฟเวอรี่, ไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจนับจากนี้บริษัทจะเดินหน้ารุกตลาดรีเทลในตลาดต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้บริษัทมีความพร้อมในด้านศักยภาพ โดยพันธมิตรรายแรกที่จะจับมือร่วมกันขยายธุรกิจในต่างประเทศ คือ พาวิลเลียนกรุ๊ป (Pavilion Group) เจ้าของและผู้บริหารห้างระดับไฮเอนท์ และอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นเจ้าของศูนย์การค้าพาวิลเลียน บูกิต จาลิล (Pavilion Bukit Jalil) ไลฟ์สไตล์มอลล์ที่ใหญ่ที่สุดทางใต้ของกรุงกัวลาลัมเปอร์ 
 

สำหรับรูปแบบของการเข้าไปทำธุรกิจ กลุ่มสยามพิวรรธน์จะเข้าไปเปิดโซนดิสคัฟเวอรี่ สยาม บนพื้นที่กว่า 1,200 ตร.ม. โดยภายในโซนดังกล่าว ประกอบไปด้วยสินค้าจำนวน 3 แบรนด์ ได้แก่ ร้าน ICONCRAFT ร้าน Absolute Siam และร้าน Ecotopia ซึ่งเหตุผลที่ทำให้กลุ่มสยามพิวรรธน์เลือกทั้ง 3 แบรนด์ไปเปิดให้บริการในประเทศมาเลเซีย เนื่องจากแต่ละร้านมีอัตลักษณ์ความเป็นไทยในการนำเสนอสินค้าไทย เพราะสินค้าแต่ละชิ้นผลิตโดยช่างฝีมือคนไทย จึงทำให้สินค้ามีความแตกต่างจากแบรนด์สินค้าอื่นๆ  

นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้ามาเลเซียถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง อีกทั้งยังเป็นลูกค้าหลักของกลุ่มสยามพิวรรธน์ คือ มีจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการติดอันดับ 1 ใน 5 ขอลูกค้าชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์การค้าของกลุ่มสยามพิวรรธน์ทั้ง 3 แห่ง คือ สยามพารากอน,สยามเซ็นเตอร์  และสยามดิสคัฟเวอรี ส่วนลูกค้า 4 อันดับที่เหลือจะเป็นชาวจีน ญี่ปุ่น เกาหลี  และยุโรป ซึ่งหากมองไปที่ยอดการใช้จ่ายของลูกค้าต่างชาติจะมีอัตราส่วนสูงกว่าคนไทย 30-40%  คือ คนไทยเฉลี่ยกว่า 2,000 บาทต่อคนต่อครั้ง ขณะที่ลูกค้าชาวต่างชาติเฉลี่ย 3,500 บาทต่อคนต่อครั้ง 
 
 

ทั้งนี้ สินค้าของทั้ง 3 แบรนด์ ที่นำเข้าไปทำตลาดในประเทศมาเลเซีย  เบื้องต้นจะนำเข้าไปกว่า 1,000 รายการ จากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 300 ราย  ซึ่งแนวทางการทำตลาดดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการช่วยส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้ก้าวสู่ตลาดโลก โดยหลังจากทดลองทำตลาดไประยะหนึ่ง  กลุ่มสยามพิวรรธน์วางเป้าหมายไว้ว่าจะขยายสาขาของทั้ง 3 แบรนด์ ให้ได้ 3 แห่งภายในระยะเวลา 2 ปี 

นางอุสรา กล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทได้เริ่มศึกษาและเจรจากับพันธมิตรแล้วในหลายประเทศ เช่น จีน ยุโรป สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งหากประเทศไหนมีความพร้อม บริษัทก็จะเข้าไปลงทุนให้เร็วที่สุด โดยเบื้องต้นได้วางแผนงานไว้ว่าจะเข้าไปลงทุนในต่างประเทศประมาณ 11 ประเทศ  ภายในระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้  เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกมีการเปิดกว้าง และมีความหลากหลายในด้านของแพลตฟอร์ม แต่อย่างไรก็ดี การจะเข้าไปลงทุนได้ในแต่ละประเทศต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความพร้อม  
              
การก้าวออกไปทำตลาดนอกประเทศของกลุ่มสยามพิวรรธน์ในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะจากแผนที่วางไว้ว่าจะเข้าไปบุกตลาดต่างประเทศใน 11  ประเทศ ภายใน 3 ปี ใครจะไปรู้ว่าภายในระยะเวลาดังกล่าว  การบุกตลาดต่างประเทศของกลุ่มสยามพิวรรธน์อาจจะไม่ใช่แค่การนำร้านสินค้าไลฟ์สไตล์แฟชั่นเข้าไปทำตลาดเท่านั้น แต่อาจจะเป็นการนำศูนย์การค้า หรือ ห้างสรรพสินค้า เข้าไปตั้งในต่างประเทศ เหมือนกับที่กลุ่มเซ็นทรัลทำก็ได้...ใครจะไปรู้ 

แม้ว่าตอนนี้กลุ่มเซ็นทรัลจะยังไม่ออกมาประกาศแผนชิงรุกว่าจะขยายธุรกิจในต่างประเทศอย่างไรบ้าง แต่ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัลก็สร้างความฮือฮาให้กับวงการค้าปลีกไทยพอสมควร  เพราะท่ามกลางที่ทุกคนกำลังระมัดระวังตัวในการทำธุรกิจ  เนื่องจากไม่รู้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะจบลงยังไง แต่กลุ่มเซ็นทรัลก็ใช้เงินก้อนโตกว่า 1 พันล้านฟรังก์สวิส หรือประมาณ 31,000 ล้านบาท เข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ชั้นนำต่างๆ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และโรงแรมอีกหนึ่งแห่งในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา  ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลกลายเป็นหนึ่งในผู้นำค้าปลีกระดับลักชัวรีที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป เนื่องจากมีธุรกิจที่อยู่ภายใต้การบริหารใน 5 ประเทศ รวม 21 เมืองในยุโรป   
 

นอกจากเดินหน้าบุกทวีปยุโรปแล้ว ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลุ่มเซ็นทรัลก็เดินหน้าลุยไม่ถอยเช่นกัน โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม เนื่องจากในอนาคตกลุ่มเซ็นทรัลมีแผนที่จะปั้นให้ธุรกิจในประเทศเวียดนามเป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 เพราะตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมาได้เข้าไปลงทุนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มียอดขายเติบโตอย่างเนื่อง   

จากความสำเร็จที่ได้รับดังกล่าว ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลได้วางเป้าหมายไว้ว่าอยากจะมีร้านค้าทั้งหมดให้ได้กว่า 753 ร้าน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.5 ล้านตารางเมตร ใน 57 จังหวัดทั่วประเทศเวียดนาม ภายในปี 2565 จากปัจจุบันมีทั้งหมดกว่า 200 ร้าน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 7 แสนตารางเมตร ใน 37 จังหวัด มีลูกค้ามาใช้บริการกว่า 1.75 แสนคนต่อวัน ซึ่งธุรกิจที่อยู่ภายใต้การดูแลทั้งหมดจะมีทั้งในส่วนของกลุ่มธุรกิจแฟชั่น ซูเปอร์สปอร์ต, มาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์, กลุ่มธุรกิจฮาร์ดไลน์ อย่าง บีทูเอส  และเหงียนคิม รวมไปถึงธุรกิจอาหาร อย่าง โก (บิ๊กซี) และ ลานชีมาร์ท เป็นต้น 

นอกจากนี้ กลุ่มเซ็นทรัลยังมีธุรกิจ “เซ็นทรัล ไอ-ซิตี้” ศูนย์การค้าไทยขนาดใหญ่เต็มรูปแบบในประเทศมาเลเซีย และธุรกิจห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ในพื้นที่ศูนย์การค้าแกรนด์ อินโดนีเซีย อีกด้วย ซึ่งจากการที่มีธุรกิจอยู่ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลมีรายได้รวมหลักแสนล้านบาท แม้ว่าปี 2563 ที่ผ่านมา จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ไปบ้าง แต่รายได้รวมก็ยังอยู่ที่หลัก 194,311 ล้านบาท (ลดลง 13%)

LastUpdate 16/10/2564 18:34:07 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 7:42 pm