เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
''ก้าวสู่ทศวรรษใหม่ กับโลกการเงินไทยแห่งอนาคต ด้วยดิจิทัล''


ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงาน Bangkok FinTech Fair 2021: Shaping Digital Finance in the New Decade หัวข้อ “A New Decade of Opportunities” โดยกล่าวว่า

 

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น "เร็ว" และ "แรง" อย่างน้อย 2 เรื่องด้วยกัน

เรื่องแรก คือ พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่พลิกโฉมการใช้ชีวิต การดำเนินธุรกิจ และการทำธุรกรรมต่าง ๆ ไปอย่างสิ้นเชิง  ขณะเดียวกันวิกฤติ COVID ก็เข้ามาเร่งให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องเรียนรู้เทคโนโลยี และนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

เรื่องที่ 2 คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เราเห็นภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนภาคเศรษฐกิจในหลายส่วน ทำให้เราต้องหันมาคิดอย่างจริงจังว่า ทำอย่างไรที่จะผลักดันให้ภาคเศรษฐกิจและประเทศ เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนภายใต้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ 

เนื่องจากในวันนี้เป็นงาน FinTech ผมจึงจะขอเน้นในเรื่องแรกคือเรื่อง technology กับ digital  และขอนำเสนอความคิดเกี่ยวกับการปรับตัวของภาคการเงินในทศวรรษนี้ ซึ่งจะขอแบ่งมุมมองเป็น 3 ส่วน ด้วยกัน
 
ส่วนที่ 1 คือ การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เราจะเห็นในภาคการเงินไทย 
 
ส่วนที่ 2 คือ การดำเนินงานของ ธปท. ในการสร้างโอกาสและรับมือกับความท้าทายที่จะมาพร้อมกับ การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังกล่าว  ทั้งในแง่การปรับตัวของ ธปท. เอง และในแง่แนวทางของ ธปท. ที่จะวางภูมิทัศน์หรือ landscape ของระบบการเงินไทยในระยะต่อไป 
 
ส่วนที่ 3 คือ ภาพอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงไปที่ทำให้ประชาชน ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ให้บริการ
ทางการเงินได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

ในส่วนแรก เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญของภาคการเงินไทย ซึ่งมีอย่างน้อย 2 ด้านด้วยกัน
 
เรื่องแรก คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการทางการเงิน อย่างกว้างขวาง  ตัวอย่างเช่น ด้านบริการชำระเงิน โครงสร้างพื้นฐาน PromptPay ทำให้ประชาชนสามารถ ทำธุรกรรมฝาก ถอน โอนเงิน หรือชำระเงินได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว ทุกที่ ทุกเวลา  โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียน PromptPay มากกว่า 60 ล้านหมายเลข และมีมูลค่าธุรกรรมเฉลี่ยต่อวันกว่า 85,000 ล้านบาท  หรือการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น Blockchain มาใช้ในการออกหนังสือค้ำประกันให้กับองค์กรต่าง ๆ  ช่วยลดเวลา ในการออกหนังสือค้ำประกันจากเดิม 3-5 วัน ปัจจุบันเหลือเพียง 10 นาที ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนให้กับธุรกิจและภาครัฐได้มาก

เรื่องที่ 2 คือ การเพิ่มขึ้นของบทบาทของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ทั้งในรูปแบบที่เป็น non-bank เดี่ยวหรือ non-bank ร่วมมือกับธนาคาร  ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่หลากหลาย และมีส่วนสำคัญ ในการเข้ามาเติมเต็มให้กับกลุ่มประชาชนหรือ SMEs ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินบางประเภท โดยเฉพาะ เรื่องของสินเชื่อ  ตัวอย่างเช่น การทำธุรกรรมต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เกิดข้อมูลทางเลือก หรือที่เรียกกันว่า alternative data ที่ช่วยให้ประชาชนที่ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีหลักประกัน หรือไม่มีข้อมูลกับสถาบันการเงิน สามารถใช้ข้อมูลพฤติกรรมในการขอสินเชื่อและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น  ในเรื่องนี้ ธปท. ได้อนุญาตให้มีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลแล้ว  ซึ่งได้รับผลตอบรับดี โดยปัจจุบันการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลนี้ช่วยให้ประชาชนกว่า 2 แสนราย เข้าถึงสินเชื่อกว่า 2 พันล้านบาท 
 
นอกจากนี้ ยังมีผู้เล่นใหม่ ๆ จากอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่พยายามเข้ามาปิดช่องว่างในการให้บริการทางการเงินหรือสนับสนุนการทำธุรกิจให้กับกลุ่ม เช่น กลุ่ม FinTech startups ที่เข้ามาให้บริการในส่วนที่ยังเป็นช่องว่างของการให้บริการโดยกลุ่มธนาคาร อย่างผู้ให้บริการ peer-to-peer lending platform ที่เชื่อมโยงผู้กู้กับผู้ให้กู้โดยตรง หรือ BigTech platforms ที่มีการให้บริการครบวงจรตั้งแต่ให้บริการซื้อขายสินค้า ส่งของ ลงทุน ไปจนถึงการให้บริการทางการเงิน และล่าสุด มีการให้บริการในลักษณะเป็น Decentralized Finance หรือ DeFi ที่ดำเนินกิจกรรมทางการเงินทุกอย่างด้วย smart contracts ซึ่งเป็นการตัดบทบาทของตัวกลางออกไป  แม้ปัจจุบันจะยังมีจำนวนไม่มาก แต่แนวโน้มเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจปัจจุบันจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้แข่งขันได้ 

สำหรับส่วนที่ 2 จากแนวโน้มที่ได้กล่าวไปแล้ว  นอกจากผู้ประกอบการต้องปรับตัว ธปท. เองก็จำเป็นต้องปรับ และดำเนินการเพื่อช่วยให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์จากโอกาสที่มากับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างเต็มที่ โดยการเพิ่มความยืดหยุ่นในการกำกับดูแล และรักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินที่จะคำนึงถึงต้นทุนจากการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของผู้ประกอบธุรกิจ และการกำกับดูแลตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายขนาดและประเภทมากขึ้น  โดยในเรื่องเสถียรภาพนั้น จะให้น้ำหนักของเรื่อง resiliency มากขึ้น คือ ความสามารถในการรับมือกับผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงและแรงกดดันต่าง ๆ รวมถึงความสามารถในการฟื้นตัวหลังจากถูกแรงกระทบ เพื่อให้เกิดวิวัฒนาการสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
 
ท่านผู้มีเกียรติครับ นอกจากการปรับตัวของ ธปท. ให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงแล้ว ธปท. จะดำเนินการใน 3 แนวทางสำหรับสร้างภูมิทัศน์หรือ Landscape ของระบบการเงินไทยในระยะต่อไป หรือที่เรียกกันภายในว่า 3 Open
 
แนวทางที่ 1 หรือ Open แรก คือเรื่องของ Open, shared and interoperable infrastructure  ได้แก่ การมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม โดยต้องเปิดกว้างให้ผู้ให้บริการทั้งรายเดิมและรายใหม่สามารถเข้ามาต่อยอดบริการทางการเงินได้ และแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกัน ประเด็นนี้เป็นเรื่อง open infrastructure นอกจากนี้ ต้องมีการ share infrastructure เพื่อลดต้นทุน และทำให้ Infrastructure ที่สร้างขึ้นมา interoperable หรือสามารถเชื่อมโยงกันได้ ตัวอย่างเช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงิน หรือที่เรียกว่า “Smart financial and payment infrastructure for business” ที่จะเชื่อมโยงกระบวนการทางธุรกิจ การรับส่งใบแจ้งหนี้ การชำระเงินและการชำระภาษี พร้อมใบเสร็จรับเงิน ให้เป็นดิจิทัลอย่างครบวงจร  ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนในการตรวจสอบข้อมูล การจ่ายและรับเงินได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ลดความผิดพลาดและโอกาสเกิดการทุจริต  รวมทั้งนำไปต่อยอดได้ เช่น ใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อขอสินเชื่อสำหรับ ภาคธุรกิจและ SMEs 
 
 
ขณะเดียวกัน การพัฒนาเงินบาทดิจิทัล หรือ CBDC ก็จะเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบการเงินของเราในอนาคต เพิ่มทางเลือกสำหรับประชาชนและธุรกิจให้สามารถเข้าถึงเงินดิจิทัลที่ปลอดภัยได้ ช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมต่าง ๆ และ  รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการหลากหลายประเภทนำไปพัฒนานวัตกรรมเพิ่มเติมได้  และยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ ธปท. ร่วมผลักดัน เช่น digital ID ภายใต้ NDID platform เพื่อใช้ยืนยันตัวตนสำหรับธุรกรรมในภาคธุรกิจ ภาคธนาคาร และภาครัฐ  ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า มีลูกค้าลงทะเบียนใช้งาน NDID แล้วเกือบ 2 ล้านราย  ในอนาคต ธปท. จะร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในการผลักดันให้มีการใช้งาน digital ID อย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนา digital ID สำหรับนิติบุคคลในระยะต่อไป

แนวทางที่ 2 หรือ Open ที่ 2 คือเรื่องของ Open environment  ได้แก่ การสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการแข่งขันอย่างเท่าเทียมเพื่อให้เกิดนวัตกรรมจากผู้เล่นทุกประเภท โดยจะปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อทั้งการปรับตัวของผู้เล่นรายเดิมและการเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่ กำกับดูแลเป็นสัดส่วนที่สอดคล้องกับความเสี่ยงของผู้ประกอบการ หรือ risk proportionality รวมถึงการปรับปรุง regulatory sandbox ของ ธปท. ให้ยืดหยุ่น เปิดรับนวัตกรรมของผู้เล่นใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมสามารถเข้าทดสอบได้  ซึ่งจะช่วยลดภาระที่ผู้ประกอบการต้องติดต่อกับผู้กำกับดูแลหลายราย
 
แนวทางที่ 3 หรือ Open ที่ 3 คือเรื่อง Open data คือ การพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกันได้ เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูล และนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เป็นทิศทางที่ทุกประเทศกำลังเดินหน้าไป  สำหรับในภาคการเงินไทย การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการทางการเงินต่าง ๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำถูกต้องในการวางนโยบาย การบริหารความเสี่ยง และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า  นอกจากนี้ การเปิดให้เข้าถึงข้อมูลสะดวกขึ้นผ่านการใช้เทคโนโลยี APIs ที่มีมาตรฐานร่วมกัน จะช่วยลดความไม่เท่าเทียมของการมีข้อมูล และเพิ่มประโยชน์จากการใช้ digital footprint ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแข่งขันกันที่บริการอย่างแท้จริง โดยต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ  ซึ่งในการเชื่อมโยงข้อมูลทางการเงินเหล่านี้ จำเป็นที่จะต้องกำหนดมาตรฐานและแนวทางในการใช้งานร่วมกัน  ปัจจุบัน ธปท. ร่วมกับภาคธนาคารกำลังดำเนินการเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูล bank statements เพื่อให้ลูกค้านำข้อมูลการเงินของตนเองไปขอใช้บริการอื่น ๆ เช่น การขอสินเชื่อ หรือการยืนยันฐานะกับหน่วยงานอื่นได้สะดวกมากขึ้น  และจะขยายไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลอื่น ๆ ในระยะต่อไป โดย ธปท.จะร่วมกับผู้ประกอบการภาคการเงินกำหนดมาตรฐานและทิศทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางการเงินเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรข้อมูลร่วมกันอย่างชัดเจน
 
มาถึงตรงนี้ หลาย ๆ ท่านอาจมีคำถามในใจว่า จากสิ่งที่ได้เล่าไป พวกท่านจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ในส่วนที่ 3 นี้ ผมจึงจะฉายภาพอนาคตของโอกาสหรือประโยชน์ที่แต่ละภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาคผู้ให้บริการทางการเงินจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านี้
 
ในมุมของประชาชน  จากเดิมที่มีบริการทางการเงินลักษณะเดียวสำหรับทุกคน  และยังมีความไม่สะดวกในการเชื่อมโยงข้อมูลและการทำธุรกรรม online  การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการดังกล่าวข้างต้นจะช่วยทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการรายบุคคลมากยิ่งขึ้น หรือที่เรียกกันว่า mass customization รวมทั้งได้รับความสะดวกในการใช้บริการทางการเงิน เช่น สามารถทำธุรกรรมโดยไม่ต้องไปที่สาขาธนาคาร จากการยืนยันตัวตนข้ามหน่วยงานผ่านโครงสร้างพื้นฐาน digital ID และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการผ่านการใช้มาตรฐาน APIs ร่วมกัน  ซึ่งจะช่วยลดเวลาและต้นทุนในการทำธุรกรรม เปิดโอกาสให้มีบริการทางการเงินที่หลากหลาย ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น  ขณะเดียวกันผู้ที่เข้าถึงบริการทางการเงินได้ยากในอดีต จะมีโอกาสมากขึ้นจากการทำธุรกรรมทางการเงินดิจิทัล ทำให้มี digital footprint ซึ่งเป็นข้อมูลที่สามารถนำมาวิเคราะห์ประกอบการให้บริการของผู้ประกอบการได้ด้วย 
 
ในมุมของผู้ประกอบธุรกิจ การเร่งให้มีการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจ จะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานจากการลดขั้นตอน ลดความผิดพลาด ลดเวลาในการให้บริการ  รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงลูกค้าได้กว้างขวางมากขึ้นจากการให้บริการช่องทางดิจิทัล และการเข้าถึงข้อมูลที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า
 
ในมุมของผู้ให้บริการทางการเงิน การสนับสนุนให้มีการพัฒนาและใช้โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลร่วมกัน เช่น โครงการ Smart financial and payment infrastructure และโครงการอื่น ๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น จะส่งเสริมให้มีการพัฒนานวัตกรรม  ตลอดจนการปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลของ ธปท. ที่จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น จะช่วยลดต้นทุนและเอื้อให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน 

สุดท้ายนี้ คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องกล่าวถึงความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยี ทั้งด้านภัย
ไซเบอร์และการหลอกลวงที่ทวีจำนวนและความหลากหลายของรูปแบบมากขึ้น  ธปท. จึงยังคงให้ความสำคัญกับการยกระดับความสามารถให้การป้องกันและรับมือกับภัยไซเบอร์ของผู้ประกอบการทางการเงินอย่างต่อเนื่อง
ตามมาตรฐานสากล  รวมทั้งการให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้ใช้บริการในการระวังป้องกันตัวเอง  

ท่านผู้มีเกียรติครับ ในช่วง 2 วันนี้ ท่านจะได้รับฟังความเห็นและประสบการณ์จากผู้บริหารชั้นนำ ทั้งไทยและต่างประเทศ จากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน FinTech และภาคธุรกิจ ในเรื่องการขับเคลื่อนโลกการเงินดิจิทัล  และการปรับตัวของภาครัฐและภาคธุรกิจให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เรายังมีหลายเรื่องที่ต้องปรับตัวและเร่งดำเนินการไปด้วยกัน เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน และใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะให้ทศวรรษนี้เป็นทศวรรษใหม่แห่งโอกาสอย่างแท้จริง  สำหรับ ธปท. การปรับตัวไปพร้อมกับทุกภาคส่วน  รวมทั้งการวางภูมิทัศน์ของระบบการเงินให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นใน 3 Open 
 
ที่ได้กล่าว  ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดกว้างสำหรับผู้ให้บริการทั้งรายเดิมและรายใหม่ การสร้างสภาพแวดล้อมในการแข่งขันอย่างเท่าเทียม  และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการ จะเป็นพันธกิจสำคัญของ ธปท. ที่หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกท่านเป็นอย่างดี  เพื่อที่จะมาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงและโอกาสสำหรับประเทศไทยด้วยกัน  
 
 
สำหรับหัวข้อการสัมมนา  Digital Outlook and Overview: ก้าวผ่านวิกฤติ สู้โควิดด้วยดิจิทัล ที่ร่วมบรรยายโดยนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย,ดร.กุลยา ตันติเตมิก อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง,ดร.ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยธนชาต,ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) และคุณมนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล ผู้ดำเนินรายการ มีภาพรวมการบรรยายดังนี้

การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเร่งให้เกิด digital adoption และ digital disruption ในทุกมิติของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการเงิน ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสถาบันการเงิน non-banks ผู้ประกอบการ FinTech รวมถึงภาครัฐและผู้กำกับดูแล ได้มีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ ในอนาคตการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศสำหรับรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล จะเป็นหัวใจสำคัญ ที่นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ มั่นคงปลอดภัย และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างดี ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนในระบบ และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจต่อไป

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นตัวกระตุ้นสำคัญต่อการใช้เทคโนโลยีทางการเงินของผู้บริโภค โดยเฉพาะการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้กลายเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับรัฐบาลในการกระจายรายได้และให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด 

ทั้งนี้ การปรับตัวของผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ จำเป็นต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนแนวคิดวัฒนธรรมและกระบวนการดำเนินงานภายในองค์กรให้เป็นดิจิทัลเป็นลำดับแรก เพื่อต่อยอดไปยังการนำเสนอประสบการณ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งในด้านเทคโนโลยีและการเงินเป็นอีกปัจจัยในการยกระดับ
การให้บริการทางการเงินของไทย โดยในปัจจุบันไทยมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี 5G และ cloud computing อยู่ในระดับสูง ซึ่งพร้อมที่จะตอบสนอง business application ต่างๆ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศทางการเงิน และขยายขอบเขตการให้บริการไปสู่ในระดับภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

อย่างไรก็ดี สำหรับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินนั้น แม้ว่าไทยจะมีระบบการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพมาก แต่ยังคงต้องมีการพัฒนาในอีก 2 ส่วนสำคัญ คือ การเข้าถึงระบบยืนยันตัวตนและตรวจสอบ digital ID ของผู้ทำธุรกรรมด้วยต้นทุนต่ำ และกระบวนการจัดทำเอกสารทางการเงินในรูปแบบ digital document รวมถึงการใช้ digital signature ต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ
ในอนาคต 

การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินดิจิทัลที่มีความหลากหลายขึ้น ทำให้ธปท.ก็จะต้องเพิ่มความคล่องแคล่วและปรับตัวเพื่อตอบสนองความท้าทายในการสร้างสมดุลระหว่างการรักษาเสถียรภาพ ความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัยทางไซเบอร์ของผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการส่งเสริมพัฒนาการของนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ ภายใต้หลักการ 3 Os คือ การส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียม (open environment) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลางสำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน (open infrastructure) และการสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่างๆ (open data) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัลที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจและสังคม
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ต.ค. 2564 เวลา : 18:52:41
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 7:51 am