การค้า-อุตสาหกรรม
ERIA ตั้งวงถกฟื้นฟูเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออก


กระทรวงพาณิชย์ร่วมประชุมคณะกรรมการฯ สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออกถกหาแนวทางฟื้นเศรษฐกิจในภูมิภาค ชี้! การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัล และการพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน จะเป็นปัจจัยสำคัญผลักดันอาเซียนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟื้นตัวในระยะยาว


 
ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เป็นผู้แทนไทยในคณะกรรมการบริหารของสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia: ERIA) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 14 (14th ERIA Governing Board Meeting) ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยเป็นการประชุมประจำปี เพื่อวางนโยบายและกำหนดแผนงานต่างๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนของสถาบัน ERIA ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคภายหลังสถานการณ์โควิค-19 พร้อมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของสถาบัน ERIA

ดร. สรรเสริญ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ มีการแลกเปลี่ยนมุมมองและวิสัยทัศน์เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากวิกฤติของโควิค-19 ต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคและโลก การฟื้นฟูเศรษฐกิจและแนวทางสำคัญในการเดินหน้าต่อในอนาคต (way forward) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องว่า กระแสโลกาภิวัตน์ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทเป็นตัวเร่งในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้อาเซียนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกฟื้นตัวจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาว

ดร. สรรเสริญ เพิ่มเติมว่า ในปีที่ผ่านมา สถาบัน ERIA มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านวิชาการผลักดันให้ประเด็นและผลลัพธ์ต่างๆ (deliverables) ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของบรูไนฯ ในปีนี้ ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ อาทิ การจัดทำเครื่องมือประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTM Toolkit) ซึ่งเป็นแนวทางการปรับปรุงมาตรการ NTMs ของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการค้า ลดต้นทุนและภาระในการเคลื่อนย้ายสินค้าในภูมิภาค กรอบการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นแนวทางที่อาเซียนสามารถนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การศึกษาผลกระทบของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) เพื่อวางแนวทางการเตรียมพร้อมและการรับมือของอาเซียนในการเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการทำงานร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อจัดทำรายงานการทบทวนแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในระยะกลาง (Mid-Term Review (MTR) of AEC 2025)

นอกจากนี้ สถาบัน ERIA ยังได้สนับสนุนอาเซียนโดยมีผลงานศึกษาวิจัย สัมมนา กิจกรรมเพิ่มขีดความสามารถ (capacity building) ครอบคลุมประเด็นสำคัญ อาทิ การเสริมสร้างการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ การลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกโดยส่งเสริมความเชื่อมโยงและการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน พลังงาน และสาธารณสุข ซึ่งมีส่วนช่วยและสนับสนุนการดำเนินการของภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ของอาเซียนและประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออก

ทั้งนี้ สถาบัน ERIA ก่อตั้งขึ้นตามมติของผู้นำในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 ประกอบด้วย ผู้แทนในระดับสูงจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มของอาเซียนและเอเชียตะวันออกผ่านงานวิจัยทางเศรษฐกิจ มีสถานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งปัจจุบันสำนักงานตั้งอยู่ ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย นอกจากนี้ เมื่อต้นปี 2564 สถาบัน ERIA ได้รับการจัดอันดับใน Global Go To Think Tank Index for 2020 ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เป็น International Economics Policy Think Tank อันดับที่ 9 ของโลก

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ต.ค. 2564 เวลา : 12:18:59
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 3:34 pm