การตลาด
Special Report : ''ธุรกิจอีเวนต์'' รับลูกเปิดประเทศ อ้อนรัฐขยายเงื่อนไข รวมตัว 500 คน เพิ่มศักยภาพจัดงาน


ถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอีเวนต์ เนื่องจากล่าสุดศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค.ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) ที่ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมอนามัย กรมควบคุมโรค และภาคีเครือข่ายด้านไมซ์ (MICE: การจัดประชุม ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) อีก 23 องค์กร ในการออกมาตรการผ่อนปรน “โครงการเปิดเมืองปลอดภัย ยกระดับการจัดงานไมซ์ด้วยมาตรฐาน” สำหรับการจัดประชุม งานแสดงสินค้า งานอีเวนท์ งานเทศกาล และงานมหกรรม เพื่อฟื้นฟูประเทศไทยทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม
 

ทั้งนี้ การจัดงาน ไมซ์ ถือเป็นอีกหนึ่งทางออกในการช่วยสร้างงานและกระจายรายได้สู่ชุมชน เพราะการประชุม 1,000 กลุ่ม ที่มีจำนวน 50 คนต่อกลุ่มต่อเดือน จะสามารถสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับภูมิภาคได้มากกว่า 250 ล้านบาท อีกทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางอ้อมในการฟื้นฟูด้านการเดินทางธุรกิจและการท่องเที่ยวในประเทศ
 
สำหรับมาตรการผ่อนปรนการจัดกิจกรรมไมซ์ ศบค.มีมติเห็นชอบข้อเสนอการปรับมาตรการฯ สำหรับกิจการศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ รวมถึงสถานที่ลักษณะเดียวกันในห้างสรรพสินค้าและโรงแรม โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือ COVID Free Setting ได้แก่ การจัดประชุม สัมมนา เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 22.00 น. จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมไม่เกิน 500 คน (พิจารณาปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์) ให้ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา จัดให้มีช่วงเวลาพักเพื่อการระบายอากาศของห้องประชุม จัดเตรียมอาหารแบบแยกเป็นชุด เว้นระยะห่างไม่ให้แออัด ดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับทีเส็บกำหนดอย่างเคร่งครัด

อย่าไรก็ดี การจัดงานไมซ์จะมีการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ด้วยกัน คือ ระยะที่ 1 (1-30 พ.ย.2564) จัดการประชุมกำหนดผู้เข้าร่วมไม่เกิน 500 คน จัดงานแสดงสินค้า (ไม่มีการชิมอาหาร) งานอีเวนต์ต่างๆ งานเทศกาลและงานมหกรรม มีผู้เข้าร่วมไม่เกิน 1,000 คนต่อรอบ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร โดยเกณฑ์ควบคุมความหนาแน่น พิจารณาจากพื้นที่เปล่า ไม่นับพื้นที่ส่วนแสดงสินค้าหรือเวทีไม่น้อยกว่า 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร

ระยะที่ 2 (1-31 ธ.ค.2564) สามารถให้มีการจัดการประชุมได้  โดยกำหนดผู้เข้าร่วมไม่เกิน 1,000 คน จัดงานแสดงสินค้า งานอีเวนต์ต่าง ๆ งานเทศกาลและงานมหกรรมมีผู้เข้าร่วมไม่เกิน 1,000 คนต่อรอบ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร โดยเกณฑ์ควบคุมความหนาแน่น พิจารณาจากพื้นที่เปล่า ไม่นับพื้นที่ส่วนแสดงสินค้าหรือเวทีไม่น้อยกว่า 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร 

ระยะที่ 3 (1 ม.ค.2565 เป็นต้นไป) อนุญาตให้จัดได้ในทุกกิจกรรมตามเหมาะสม โดยจัดได้เต็มพื้นที่ 100% เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร

นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือ CMO กล่าวว่า บริษัทเตรียมพร้อมกลับมาบุกตลาดอีเวนต์อีกครั้ง เพื่อตอบรับนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล โดยบริษัทจะให้ความสำคัญกับการสร้างงานเปิดเมืองเปิดเศรษฐกิจ การจัดอีเวนต์ตามเทศกาล การจัดอีเวนต์วัฒนธรรมและประเพณีให้ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดต่างๆ ซึ่งรูปแบบการจัดงานอีเวนต์ของบริษัทนับจากนี้ จะเน้นไปที่การผสานเทคโนโลยีนวัตกรรม และไอเดียสร้างสรรค์  เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน
 

 
นอกจากนี้ ซีเอ็มโอ ยังจะให้น้ำหนักกับการจัดงานอีเวนต์ด้านความบันเทิง และงานแสดงสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านในตลาดอาเซียน รวมไปถึงการขยายธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้ประจำเข้าบริษัท และกระจายความเสี่ยง โดยขณะนี้ ซีเอ็มโอ ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านการเงิน และการตลาดไว้พร้อมแล้ว เพื่อรักษาความหนึ่งในการเป็นผู้นำของการสร้างสรรค์อีเวนต์ และผลักดันให้มีรายได้กลับมาแตะที่ 1,400 ล้านบาท ภายในปี 2565 เพราะหลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19  ซีเอ็มโอค่อนข้างได้รับผลกระทบอย่างหนัก เห็นได้จากรายได้ที่ปรับตัวลดลงเหลือเพียง 700 ล้านบาทเท่านั้น

ด้าน นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ว่าจะมีการอนุญาตให้สามารถจัดงานอีเวนต์ได้บ้างในปีนี้  แต่ธุรกิจอีเวนต์ก็ยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ เนื่องจากมีเวลาน้อยมากในการจัดงาน ประกอบกับยังมีเงื่อนไขในด้านของการจำกัดจำนวนคนที่จะเข้าร่วมงานอีเวนต์ อีกทั้งยังมีคำถามว่าภายในงานจะสามารถมีเครื่องดื่มแอลกออฮอล์ได้หรือไม่เป็นตัวแปร จึงทำให้ภาพรวมการจัดงานอีเวนต์ในช่วงปลายปีนี้ไม่น่าจะยังคึกคัก

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะยังมีหลายปัจจัยที่ยังไม่เอื้อต่อการจัดงานอีเวนต์ แต่ อินเด็กซ์ฯ ก็ยังคงเดินหน้าจัดงานอีเวนต์โครงการของตัวเองจำนวน 2 งาน ในช่วงปลายปี 2564 นี้ คือ Forest of illumination งานแสงสีที่ คีรี มายา จังหวัดนครราชสีมา และงานอีเวนต์ด้านไลฟ์สไตล์การกีฬาที่เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเป็นการต้อนรับการกลับมาเปิดเมืองอีกครั้งของประเทศไทย

นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน(EMA) และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด กล่าวว่า การเปิดประเทศไม่ส่งผลบวกต่อธุรกิจอีเวนต์นัก เนื่องจากยังมีเงื่อนไขการห้ามรวมตัว ประกอบกับระยะเวลาในการจัดงานอีเวนต์ปีนี้เหลือเพียงแค่  2 เดือนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการจัดกิจกรรม เนื่องจากงานอีเวนต์ปกติที่มีมูลค่าประมาณ 50 -100 ล้านบาท จะใช้ระยะเวลาในการเตรียมงานประมาณ 3 เดือน ซึ่งถ้าภาครัฐสามารถปลดล็อกเงื่อนไขการรวมตัวให้ได้ถึง 500 คน เพื่อรองรับการเปิดเมืองเชื่อว่าจะทำให้ภาพรวมธุรกิจอีเวนต์น่าจะมีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท
 

ทั้งนี้ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) ประเมินว่า  หากปีนี้มีการจัดกิจกรรมเคาท์ดาวน์น่าจะทำให้ธุรกิจอีเวนต์กลับมาฟื้นตัวได้ที่ประมาณ 20-30% จาก 10 เดือนที่ผ่านมา ภาพรวมของธุรกิจอีเวนต์ เรียกได้ว่า เป็นศูนย์ เนื่องจากไม่สามารถจัดกิจกรรมอะไรได้เลย พร้อมระบุอีกว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวล คือ เมื่อผู้ประกอบการเตรียมลงทุนที่จะจัดงานอีเวนต์ แต่หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดและมีการสั่งยกเลิกการจัดงานเหมือนกับงานเคาท์ดาวน์ปีที่ผ่านมา หากเป็นเช่นนี้จะส่งผลกระทบการลงทุนของผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก

LastUpdate 23/10/2564 15:15:18 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 8:23 am