การตลาด
Scoop : โอกาสท่ามกลางวิกฤต! จับตา ''มิกซ์ยูส 2 แสนล้าน ถ.พระราม 4'' บทพิสูจน์ฝีมือนักลงทุน


หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลเริ่มออกมาทยอยเปิดประเทศเป็นรายจังหวัด ผู้ประกอบการก็เริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นออกมาประกาศเดินหน้าลุยสานต่อโครงการที่ได้เคยประกาศไว้ ซึ่งทำเลที่ถือว่าน่าจับตามองเป็นอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป คือ ถนนพระราม 4  เนื่องจากจะมีโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ทยอยเปิดให้บริการอย่างต่อเนื่อง หลังจากก่อนหน้านี้ได้เริ่มทยอยเปิดตัวกันไปบ้างแล้วไม่ว่าจะเป็นโครงการเอฟวายไอ  โครงการสามย่านมิตรทาวน์ และโครงการเดอะปาร์ค ซึ่งทั้ง 3 โครงการล้วนแต่เป็นโครงการของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ทั้งสิ้น

 
จากความหลากหลายของโครงการมิกซ์ยูสที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้นในย่านพระราม 4 ถือเป็นสิ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากสำหรับนักลงทุน เพราะถ้าหากนำมูลค่าโครงการที่เกิดขึ้นแล้ว  และกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ก็เป็นมูลค่าสูงถึง 201,800 ล้านบาทเลยทีเดียว โดยในมูลค่าดังกล่าว ประกอบด้วย โครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค มูลค่าประมาณ 46,000 ล้านบาท  โครงการ สีลมเอจ มูลค่าประมาณ 1,800 ล้านบาท โครงการ วันแบงค็อก มูลค่าประมาณ 120,000 ล้านบาท โครงการ เอฟวายไอเซ็นเตอร์  มุลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท โครงการสามย่านมิตรทาวน์ มูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท และโครงการ เดอะ ปาร์ค มูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท

ด้วยมูลค่าการลงทุนที่มหาศาลดังกล่าว ทำให้หลายคนต่างตั้งตารอว่า โครงการที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้นจะสามารถพลิกฟื้นให้ถนนพระราม 4 เป็นย่านธุรกิจเหมือนอย่างย่านสุขุมวิท ย่านราชประสงค์ และย่านสยาม ได้หรือไม่  เนื่องจากตอนนี้ไม่ได้มีแค่ปัจจัยลบในด้านของเศรษฐกิจและกำลังซื้อเพียงอย่างเดียว แต่มีปัจจัยลบในด้านของโรคระบาดอย่างโควิด-19 ที่ฉุดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนอีกด้วย

ล่าสุด ดร.บรูซ เอลวาร์ด ผู้นำอาวุโสในองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะลากยาวออกไปอีกประมาณ 1 ปี หรือลากยาวไปจนถึงปี 2565 เนื่องจากประเทศยากจนในทวีปแอฟริกายังเข้าไม่ถึงวัคซีนต้านโควิด-19 ประกอบกับขณะนี้มีผู้ได้รับวัคซีนในประเทศต่างๆ ยังไม่ครอบคลุมประชากร โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาที่มีผู้ได้รับวัคซีนยังไม่ถึง 5% เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ  ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกก็มีประชาชนได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 40% เท่านั้น

สำหรับประเทศไทยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2564) มีประชาชนได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วกว่า 39 ล้านคน หรือคิดเป็น 54.2% ของประชากรทั้งหมด เข็มที่ 2 กว่า 27.4 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรทั้งหมด และเข็มที่ 3 กว่า 2 ล้านคน คิดเป็น 2.9% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนยังไม่ครอบคลุม ประกอบกับตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงทรงตัว ทำให้หลายคนยังมีความกังวล

เช่นเดียวกับโครงการเดอะปาร์ค  ที่หลังจากเปิดตัวโครการในเฟสแรกไป คือ เดอะ ปาร์ค ไลฟ์ (The PARQ Life) พื้นที่ร้านค้าปลีกระดับพรีเมียมไปเมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา  ก็ขอดูสถานการณ์ก่อนที่จะมีการพัฒนาในเฟสที่ 2 ซึ่งเดิมทีมีแผนจะพัฒนาจะพื้นที่สำนักงานและโรงแรม แต่หลังจากมีสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้น ทำให้ต้องมีการทบทวนแผนเดิมที่ได้เคยวางไว้
 

ส่วนโครงการที่เหลือ เช่น โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้การร่วมลงทุนพัฒนาระหว่างบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC กับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ก็ยังคงเดินหน้าก่อสร้างโครงการแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานใต้ดิน ซึ่งทุกอย่างยังคงเป็นไปตามแผน โดยมีกำหนดที่จะเปิดให้บริการในเฟสแรกประมาณปลายปี 2566 เริ่มจากโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ตามด้วยศูนย์การค้าเซ็นทรัลพาร์ค และอาคารสำนักงานเซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส ซึ่งคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2567 และอาคารที่พักอาศัย ดุสิต เรสซิเดนเซส และ ดุสิต พาร์คไซด์ คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงกลางปี 2568

 
ขณะที่ โครงการวันแบงค็อก ซึ่งถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดในย่านนี้ที่ยังคงเดินหน้าก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จตามแผน  โดยในส่วนของเฟสแรก ซึ่งประกอบด้วย อาคาร The Ritz-Carlton, Bangkok และเรสซิเดนท์ 110 ห้อง จะเปิดให้บริการในปี 2566 ส่วนพื้นที่บริการที่เหลือไม่ว่าจะเป็น เรสซิเดนท์หรู พื้นที่รีเทล  หรืออาคารสำนักงาน จะทยอยเปิดให้บริการในปีต่อๆ ไปจนครบสมบูรณ์ในปี 2569
 

สำหรับโครงการที่คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2565 คือ โครงการสีลมเอจ โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่อยู่ภายในการดูแลของบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT ธุรกิจในกลุ่ม “ทีซีซี กรุ๊ป” โครงการนี้เป็นการเข้าไปลงทุนในอาคารห้างสรรพสินค้าโรบินสันเดิม บริเวณหัวมุมถนนสีลม ตัดถนนพระราม 4 เป็นการเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ขนาด 2 ไร่ 2 งาน 71 ตร.ว. สัญญาเช่า 30 ปี  มีการพัฒนาโครงการเป็นแบบมิกซ์ยูส ประกอบด้วย พื้นที่ค้าปลีก และอาคารสำนักงาน

นายธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT กล่าวว่า สีลมเอจ เป็นโครงการแบบ Re-development ครั้งแรกของบริษัทที่จะเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่ง และกระจายความเสี่ยงให้กับบริษัท เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะเข้ามาเพิ่มสัดส่วนของรายได้ประจำ (Recurring Income) ให้กับพอร์ตคอมเมอร์เชียล ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการในเดือน ก.ย.2565 คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการนี้ในไตรมาส 4 ปี 2565 หลังจากนั้นคาดว่าจะใช้เวลาในการคืนทุนประมาณ 9-10 ปี และมีผลตอบแทนการลงทุน IRR (Internal Rate of Return) อยู่ที่กว่า 10%

ขณะที่ผู้ประกอบการกำลังเดินหน้าพัฒนาโครงการใหม่ เพื่อต่อจิกซอว์ในย่านพระราม 4 ให้เต็ม ในส่วนของผู้บริหารกลุ่มค้าปลีก ค้าส่ง และบริการ จำนวน 283 ราย ก็ออกมาเห็นด้วยกับการประกาศเปิดประเทศของภาครัฐ โดยผลสำรวจ TRA Poll ในหัวข้อ “ภาคการค้าปลีกและบริการพร้อมเปิดประเทศ ภายใต้เงื่อนไขมิติเศรษฐกิจและสาธารณสุข” ระบุว่า  ผู้บริหาร 62.1% มองว่า มาตรการสาธารณสุขที่เข้มข้น และจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ค่อยๆ ลดลง เห็นควรสนับสนุนให้ภาครัฐเปิดประเทศ  เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.  2564 เป็นต้นไป เพราะถือเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อของคนในประเทศ และช่วยทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ต.ค. 2564 เวลา : 13:14:05
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 2:35 am