การค้า-อุตสาหกรรม
''ผ่ากลยุทธ์'' สร้างธุรกิจแฟรนไชส์รายใหม่ เพิ่มศักยภาพการลงทุน ขยายธุรกิจอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ


กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (B2B Franchise) รุ่นที่ 25 เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบแฟรนไชส์ให้ผู้ประกอบการที่เพิ่งเข้าสู่ระบบนำความรู้ไปขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพการลงทุน รองรับการค้ายุคใหม่


 

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (B2B Franchise) รุ่นที่ 25 ว่าการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด เป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ การกำหนดทิศทางขององค์กรที่ถูกต้องเหมาะสม สร้างมาตรฐานคุณภาพธุรกิจทุกด้าน เป็นการสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันของธุรกิจ สามารถดึงดูดลูกค้าเป้าหมายเข้ามาร่วมลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ได้ง่ายขึ้น

อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ คือ “ระบบบริหารจัดการ” มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นระบบการบริหารจัดการ ระบบการเงิน บัญชี ภาษี ระบบโลจิสติกส์ การดูแลวัตถุดิบ สต็อกสินค้า การตลาด แบรนดิ้ง การวิจัยพัฒนา R&D การควบคุมตรวจสอบคุณภาพ และสามารถส่งต่อความสำเร็จจากต้นแบบสู่สาขาอื่นๆ ได้อย่างมีคุณภาพ (แฟรนไชส์ซอร์สู่แฟรนไชส์ซี) การขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์เป็นกลยุทธ์ที่ขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่การจะผลักดันธุรกิจเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์และประสบความสำเร็จได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะธุรกิจที่จะก้าวสู่การเป็นแฟรนไชส์ต้องมีความพร้อมและแข็งแกร่งในระดับหนึ่ง ไม่เช่นนั้นอาจสร้างปัญหาให้กับผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซี) รวมถึงตัวเองได้ในอนาคตได้

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (B2B Franchise) รุ่นที่ 25 ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ถึง วันที่ 1 เมษายน 2565 รวมระยะเวลา 180 ชั่วโมงหรือ 30 วันเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจถึงขั้นตอนในการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ และยกระดับมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และสามารถจัดทำแผนธุรกิจเชิงกลยุทธ์และสร้างคู่มือปฏิบัติงานในระบบแฟรนไชส์ (Franchise Operation Manual) ประกอบด้วย 4 Module ได้แก่ การบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ การวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ กลยุทธ์ทางการตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ และการสร้างคู่มือ แผนธุรกิจและสัญญาในระบบแฟรนไชส์ จากวิทยากรที่มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์

สำหรับความพิเศษของหลักสูตร B2B Franchise ในครั้งนี้ กรมฯ ได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจแฟรนไชส์ และเจ้าของแฟรนไชส์ตัวจริงที่ประสบความสำเร็จแล้ว มาร่วมให้ความรู้และแชร์ประสบการณ์ อาทิ โค้ชโซอี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำตลาดออนไลน์, ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์จาก Baramizi, Shippop บริการขนส่งพัสดุออนไลน์, The waffle, ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว และ Amazon เป็นต้น โดยก่อนจบหลักสูตรผู้เข้าร่วมอบรมจะต้องนำเสนอแผนธุรกิจ (Pitching) แก่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ความเป็นไปได้และแนวทางการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ รวมทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากธนาคารกสิกรไทย (KBank) เข้าร่วมเป็นกรรมการ หากแผนธุรกิจเป็นที่เข้าตา มีความน่าสนใจก็จะเพิ่มโอกาสในการได้รับเงินทุนสินเชื่อเพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจได้อีกด้วย

ทั้งนี้ กรมฯ มีเป้าหมายต้องการยกระดับธุรกิจของคนไทย โดยใช้ระบบแฟรนไชส์เป็นกลยุทธ์ เพื่อขยายธุรกิจเป็นระบบสาขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพในการลงทุน และระบบการสร้างธุรกิจแฟรนไชส์มาตรฐาน ตลอดจนนำแนวทางระบบแฟรนไชส์ไปใช้ในการขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาศักยภาพองค์กรให้สามารถขยายโอกาสทางการตลาดธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ได้อย่างกว้างขวาง ทำให้มีร้านสาขาและแฟรนไชส์ซีเพิ่มขึ้น

อธิบดี กล่าวทิ้งท้ายว่า ธุรกิจแฟรนไชส์มีบทบาทสำคัญในการสร้างผู้ประกอบการและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น   ถึงแม้ว่าระบบแฟรนไชส์จะมีสูตรสำเร็จในการประกอบธุรกิจจากเจ้าของแฟรนไชส์ แต่นักลงทุนอาจต้องเจอกับสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมือนกันในแต่ละพื้นที่ จึงต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพเหล่านั้นให้ได้ และสิ่งสำคัญที่สุดคือการออกแบบธุรกิจให้เหมาะกับการสร้างระบบแฟรนไชส์ เพราะการเริ่มต้นที่ดีคือ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นไปมากกว่าครึ่งทาง

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564) มีผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตร การบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (B2B Franchise) จำนวน 1,094 ราย แบ่งเป็น ธุรกิจอาหาร 464 ราย (คิดเป็นร้อยละ 42) ธุรกิจบริการ จำนวน 183 ราย (คิดเป็นร้อยละ 17) ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 161 ราย (คิดเป็นร้อยละ 15) ธุรกิจเครื่องดื่ม จำนวน 142 ราย (คิดเป็นร้อยละ 13) ธุรกิจความงาม/สปา จำนวน 81 ราย (คิดเป็นร้อยละ 7) และธุรกิจการศึกษา จำนวน 63 ราย (คิดเป็นร้อยละ 6)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1570, โทรศัพท์หมายเลข 0 2547 5953 และ www.dbd.go.th

LastUpdate 01/12/2564 12:29:25 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 7:33 pm