คริปโตเคอเรนซี่
Scoop : ปฐมบท ''Digital Asset'' เข้าใจง่ายใน 3 นาที


 
ในปัจจุบันนี้โลกของเราได้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งดิจิทัล โดยอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่สามารถช่วยให้ผู้คนทำกิจกรรมหรือทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ถือเป็นการเชื่อมโลกให้ใกล้กันจนเหมือนกับว่ามองไม่เห็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไปแล้ว อย่างตอนนี้เราสามารถติดต่อสื่อสารกันผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Facebook,Line หรือการประชุมงานกันผ่าน Zoom โดยที่เราอยู่กันคนละจังหวัด คนละประเทศได้  และการมาของอินเทอร์เน็ตนี้ ทำให้เข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ โดยที่ไม่ต้องพึ่งเงินสด แต่ใช้การสแกนจ่ายตามร้านค้าผ่าน QR Code การโอนเงินจากธนาคารหนึ่งสู่อีกธนาคารผ่าน Mobile Banking ซึ่งการทำธุรกรรมทางการเงินในลักษณะนี้ มองในอีกมุมหนึ่งก็คือ การส่งหรือแลกเปลี่ยนมูลค่า โดยที่มูลค่านั้นอยู่ในรูปแบบเงินดิจิทัลนั่นเอง
 
 
แต่เงินดิจิทัลดังกล่าวยังมีความจำเป็นที่ต้องพึ่งตัวกลางอย่างธนาคารมาช่วยดูแล และอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานรัฐ เพราะเงินดิจิทัลนี้ยังจำเป็นต้องมีเงินที่จับต้องได้จริงค้ำอยู่ในธนาคาร แปลว่าเงินที่เราใช้กันอยู่ปกติผ่านระบบอินเทอร์เน็ตนั้น ไม่ถือได้ว่าเป็น “Digital Asset” หรือ “สินทรัพย์ดิจิทัล” เพราะเป็นแค่การอาศัยประโยชน์จากนวัตกรรมเป็นช่องทางส่งผ่านมูลค่า แต่มูลค่าของเงินนั้นยังจำเป็นต้องอ้างอิงจากโลกจริง เราเลยยังทำธุรกรรมทางการเงินในโลกออนไลน์โดยใช้สกุลเงินจริงของแต่ละประเทศ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการสร้างสินทรัพย์ขึ้นมาใหม่
 
 
นอกจากนี้ “เงินดิจิทัล” ดังกล่าวเรียกอีกอย่างได้ว่าเป็นชุดข้อมูลดิจิทัล ที่แม้จะรับส่ง แลกเปลี่ยนกันได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ง่ายต่อการปลอมแปลง จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานเข้ามาควบคุมกำกับดูแล เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางดูแลความถูกต้องของชุดข้อมูล ธนาคารจึงถือได้ว่าเป็นตัวกลางที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วกัน คนส่วนใหญ่ต่างเชื่อใจที่จะพึ่งพาการทำธุรกรรมผ่านตัวกลางนี้ ซึ่งเรียกได้อีกอย่างว่า “ระบบการเงินแบบรวมศูนย์”(Centralized Finance) หรือ CeFi นั่นเอง

- แล้วทำไมยังต้องมี “Digital Asset” เกิดขึ้นมาอีก?
 

แม้ระบบการเงินแบบรวมศูนย์ จะสามารถแก้ไขปัญหาการปลอมแปลงได้ แต่ก็มีข้อกังขาว่าสกุลเงินต่างๆ หรือเงินดิจิทัลในรูปแบบดังกล่าว ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของธนาคารใดธนาคารหนึ่ง รัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งในแต่ละประเทศ ตัวกลางที่มีอำนาจแบบรวมศูนย์นี้ อาจสามารถใช้นโยบายการเงินเป็นอาวุธทางการค้า เป็นระเบิดเวลาที่สร้างวิกฤติทางการเงินในอนาคตได้ อย่างในอดีตเมื่อปี 2008 เกิดวิกฤติซับไพร์มของสหรัฐอเมริกา ที่รัฐเข้าแทรกแซงกลไกลตลาดทางเศรษฐกิจ ด้วยการพิมพ์เงินออกมาอย่างมหาศาล เพื่อหวังอุ้มเศรษฐกิจ จากการฉ้อโกงของนายธนาคารที่ซุกหนี้เสียในตลาดอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก อันส่งผลให้ธนาคารชื่อดังอย่าง Lehman Brother ที่มีมากว่า 150 ปีล้มละลาย และยังส่งผลเสียล้มต่อกันเป็นโดมิโนทั่วโลก
 
 
ภายหลังเหตุการณ์วิกฤติซับไพร์ม ในปี 2009 สกุลเงินดิจิทัล หรือที่เรียกว่า “Cryptocurrency” ได้ถือกำเนิดขึ้นมา โดยสกุลเงินแรก คือ “Bitcoin” จัดตั้งโดยนาย Satoshi Nakamoto (นามแฝง) การเกิดขึ้นของ Bitcoin เป็นระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีตัวกลางควบคุม โดยมีระบบรักษาความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยี Blockchain ถือเป็น Digital Asset ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงครั้งแรกของโลก 

โดยสกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency ที่นำทัพโดย Bitcoin นี้ ก็มีแนวคิดที่จะเป็นอิสระจากการถูกกำกับดูแลโดยใครคนใดคนหนึ่ง วางความเชื่อใจไว้บนระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ หรือระบบที่เปิดให้ทุกคนเท่าเทียมกันและเป็นกลางที่สุด ไม่มีใครเป็นเจ้าของหรือมีอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยจะใช้กลไกลผลตอบแทนให้กับผู้เข้าร่วมดูแลระบบ กล่าวคือ เนื่องจากไม่มีใครมีอำนาจศูนย์กลางในการดูแล Bitcoin จึงมีระบบตอบแทนให้กับผู้ที่เข้าร่วมดูแลระบบที่เรียกว่า “การขุด” ซึ่งอนุญาตให้ใครก็ตามสามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งและเก็บข้อมูลของระบบได้ และจะได้ผลตอบแทนเป็น Bitcoin กลับไป นอกจากนี้แล้ว Bitcoin ยังมีจำนวนจำกัดที่ 21 ล้านเหรียญเท่านั้น จึงจัดเป็นเงินที่มีอธิปไตยเป็นของตัวเอง และถูกเรียกว่าเป็นทองคำดิจิทัลอีกด้วย 
  
แล้วกลไกลการดูแลระบบของ Bitcoin ด้วยการขุด มีวิธีการทำงานอย่างไร เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน เงินในอากาศที่จับต้องไม่ได้อย่าง “Digital Asset” มีมูลค่าขึ้นมาได้อย่างไร ติดตามได้ในสัปดาห์หน้ากับ “Blockchain เบื้องหลังการสร้างมูลค่าให้ Digital Asset”

LastUpdate 04/12/2564 22:31:30 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 6:40 am