ข่าวประชาสัมพันธ์
สทนช.ผนึกกำลังทั่วประเทศสู้ภัยแล้ง เร่งขับเคลื่อน 9 มาตรการให้เป็นรูปธรรม


ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.จัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ชี้แจง 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564/2565 และสรุปความก้าวหน้าการจัดทำข้อเสนอแผนงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2565

ตามที่ สทนช.เสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติและร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่เน้นย้ำทุกหน่วยงานให้เร่งดำเนินการเชิงป้องกันก่อนที่ผลกระทบภัยแล้งจะเกิดขึ้นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนกว่า 2,000 คน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น


 
 
 
สำหรับ 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564/2565 ประกอบด้วย 1.เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภท 2.จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 3.ปฏิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรและพื้นที่เสี่ยง ขาดแคลนน้ำตามสภาพอากาศที่เหมาะสม 4.กำหนดการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง 5.วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 6.เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อสนับสนุนน้ำเตรียมแปลงเพาะปลูกนารอบที่ 1 (นาปี) 7.เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สายรอง 8.ติดตามและประเมินผลเพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามแผน และ 9.สร้างการรับรู้สถานการณ์และแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนที่กำหนด ซึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุได้ทันที
 
 
 
ทั้งนี้ สทนช.จะมีการกำกับ ติดตามผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรการดังกล่าว และรายงานให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ทราบ พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานรายงาน ครม. ต่อไป

 
ขณะเดียวกัน สทนช.ยังใช้เวทีนี้สรุปความก้าวหน้าการจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2565 ที่หน่วยงานเสนอแผนงานโครงการผ่านระบบ Thai Water Plan ประกอบด้วย 4 กิจกรรม คือ การซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ การสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ และการเพิ่มน้ำต้นทุนเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตาม 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564/2565 โดยเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ รายได้ และการจ้างแรงงานให้กับประชาชนหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดพิจารณาความพร้อม ความเหมาะสม และความสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ก่อนเสนอมายัง สทนช.เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี     ขอรับการสนับสนุนงบประมาณต่อไป
 

เลขาธิการ สทนช. กล่าวถึงสถานการณ์น้ำว่า ปัจจุบันแหล่งน้ำทั้งประเทศมีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งสิ้น 36,194 ล้าน ลบ.ม. หรือ คิดเป็น 62 % ของความจุ  โดยเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 29,089 ล้าน ลบ.ม. หรือ 61% ของความจุ ในจำนวนนี้มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 5 แห่งที่เฝ้าระวังน้ำน้อย ซึ่งต้องมีการติดตามการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนอย่างใกล้ชิด ได้แก่ เขื่อนแม่กวง  เขื่อนแม่งัด เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่จาง และเขื่อนสิริกิติ์ ขณะที่การติดตามคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร  ในแม่น้ำสายหลักภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำแม่กลองที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง
 
 
“แม้ว่าในภาพรวมสถานการณ์น้ำต้นทุนในปีนี้จะดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก
ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนค่อนข้างมาก แต่ยังคงต้องบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อน้ำต้นทุนในอนาคต ขณะที่บางพื้นที่ที่มีการคาดการณ์เสี่ยงขาดน้ำล่วงหน้าแล้ว สทนช.ได้เน้นย้ำหน่วยงานเจ้าภาพหลักที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องน้ำอุปโภค-บริโภคที่ต้องมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงหน้า รวมถึงการรณรงค์การทำการเกษตรที่ใช้น้ำน้อย เพื่อลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกรในการลงทุนแล้วอาจเสียหายได้ โดยเฉพาะการทำนาปรังรอบสองในลุ่มเจ้าพระยาที่มีปริมาณน้ำต้นทุนจำกัดในช่วงแล้งนี้ด้วยเช่นกัน” ดร.สุรสีห์ กล่าว

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ม.ค. 2565 เวลา : 12:54:26
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 8:37 pm