แบงก์-นอนแบงก์
EXIM BANK ผนึก บสย. เดินเกมเปลี่ยนประเทศไทย จับมือ "เติมทุน-ค้ำประกัน" ปลดล็อก "บุคคล" กู้สินเชื่อซัพพลายเออร์ส่งออกได้ พร้อมชูสินเชื่อโลจิสติกส์ ดอกเบี้ยต่ำ 5% บนเงื่อนไขห้ามขึ้นค่าระวาง 3 เดือน หวังปั้นผู้ส่งออกตัวจริง 1 แสนราย


EXIM BANK ผนึกกำลัง บสย. เดินเกมเปลี่ยนประเทศไทย หนุนผู้ประกอบการใน Supply Chain การส่งออก เข้าถึงแหล่งเงินทุนพร้อมค้ำประกันสินเชื่อให้ เพื่อเติมทุนเสริมสภาพคล่อง ยกระดับคุณภาพธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สร้างผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก และปั้น SME 3 แสนรายในประเทศ ให้เป็นผู้ส่งออกตัวจริงให้ได้อย่างน้อย 1 แสนราย ชูสินเชื่อเด็ดดอกเบี้ยต่ำ 2 ประเภท ปลดล็อก "บุคคล" กู้สินเชื่อซัพพลายเออร์ส่งออกได้ แค่มีใบ Po มาแสดง และ"สินเชื่อโลจิสติกส์"ดอกเบี้ยต่ำ 5% แค่ทำตามเงื่อนไข ไม่ขึ้นค่าขนส่งสินค้า 3 เดือน

 

 

 

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ได้ร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นนวัตกรรมการให้สินเชื่อแก่ Supply Chain การส่งออก โดยนำ บสย. เข้ามาแทนหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยสมบูรณ์ และปลดล็อกให้ “บุคคล” สามารถกู้เงินทำธุรกิจเพื่อส่งมอบวัตถุดิบให้ผู้ส่งออก เติมเต็มสภาพคล่องให้แก่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เพื่อกระตุ้นการส่งออกของไทยท่ามกลางปัจจัยท้าทายในปัจจุบัน

 

"เดิม EXIM BANK ไม่เคยให้สินเชื่อกับบุคคล แต่เนื่องจากต้องการที่จะสร้างผู้ส่งออกตัวจริงให้เกิดขึ้นให้ได้ 1 แสนราย จาก SME ที่มีอยู่ประมาณ 3 แสนราย เราจึงร่วมกันคิดนวัตกรรมใหม่กับ บสย. เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME สามารถยืนหยัดเป็นผู้ส่งออกที่แท้จริงได้ในตลาดการค้าระหว่างประเทศ นั่นคือเกมที่ผม และบสย.ต้องการที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้สินค้าไทยที่มีคุณภาพเข้าสู่เวทีโลก และการมายื่นขอสินเชื่อเพียงผู้ประกอบการมีใบ PO จะซื้อจะขาย กับลูกค้า ก็สามารถมายื่นขอสินเชื่อกับ EXIM BANK ได้ ซึ่งตั้งเป้าปล่อยกู้ในส่วนสินเชื่อประเภทนี้ไว้  1 พันล้านบาท และคาดว่าจะปล่อยกู้ผู้ประกอบการได้ประมาณ 2 พันราย ส่วนหากเต็มวงเงิน 1 พันล้านบาท แล้ว จะปล่อยกู้เพิ่มเติมอีกหรือไม่หากยังมีผู้ประกอบการสนใจอีกจำนวนมาก เรื่องนี้ผมจะทำการประเมินผลการปล่อยกู้ ในระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี และหากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ไม่เกินระดับ 5% ก็สามารถเพิ่มเติมวงเงินเพื่อต่อทุนให้กับผู้ประกอบการอีกได้" ดร.รักษ์กล่าว

 

 

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวต่อไปว่า สำหรับนวัตกรรมการให้สินเชื่อแก่ Supply Chain การส่งออก โดย  EXIM BANK ปล่อยสินเชื่อเพื่อเติมทุนให้กับผู้ประกอบการ และ บสย.เป็นผู้ค้ำประกันนั้น มี 2 สินเชื่อ ประกอบด้วย 1.สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อซัพพลายเออร์ส่งออก สำหรับนิติบุคคลและบุคคลที่ผลิต/จำหน่ายสินค้าและบริการให้แก่ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อมดำเนินธุรกิจส่งออก วงเงินกู้ 2 แสนบาท ถึงสูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย Prime Rate (เท่ากับ 5.75% ต่อปี ณ ปัจจุบัน) ตลอดอายุโครงการ 5 ปี ใช้เพียงหนังสือค้ำประกัน บสย. ร่วมกับผู้บริหารหลัก และ/หรือนิติบุคคลค้ำประกัน นอกจากนี้ พิเศษ! ยังลดดอกเบี้ยให้อีก 0.75 % ในปีแรก สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีเอกสารรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตามที่ธนาคารกำหนด

 
 
 
 
2.สินเชื่อ EXIM Logistics สำหรับผู้ให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทั้งทางเรือ ทางบก และทางอากาศ วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 5.0% ต่อปีในปีแรก เท่ากับซอฟ์โลน์ สำหรับวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถใช้เพียงหนังสือค้ำประกัน บสย. ร่วมกับบุคคลหรือนิติบุคคลค้ำประกันเท่านั้น และพิเศษ! ยังลดดอกเบี้ยให้อีก 0.50% ใน 2 ปีแรกสำหรับผู้เข้าร่วมงานและลงทะเบียนในกิจกรรมต่าง ๆ ของ EXIM BANK หรืออยู่ในสมาคมหรือเป็นสมาชิกตามที่ธนาคารกำหนด
 
 
 
 
"สินเชื่อ EXIM Logistics ดอกเบี้ย 5% ถือว่าเป็นดอกเบี้ยที่ต่ำมากๆ หากผู้ประกอบการต้องการสินเชื่อนี้ก็สามารถเข้ามาขอสินเชื่อกับทาง EXIM BANK ได้ เพียงแต่เรามีเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการรายนั้นที่ต้องการดอกเบี้ยต่ำจะต้องไม่ขึ้นค่าระวางหรือค่าขนส่งสินค้าทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ภายในระยะเวลา 3 เดือน นี่เป็นเงื่อนไขที่เรากำหนดไว้ เนื่องจากเรามองว่าปีที่แล้วค่าระวางสินค้ามีการปรับตัวสูงขึ้นมากถึง 50% ซึ่งสร้างผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการมากและกระทบต่อราคาสินค้าที่นำมาขายให้กับประชาชนก็แพงขึ้นด้วย ผมจึงต้องการทำให้ภาษีของประชาชนคุ้มกว่าเดิม โดยมีเงื่อนไขให้คงราคาค่าระวางเดิมไว้ 3 เดือน แล้วผมจะยอมให้อัตราดอกเบี้ยในราคาที่ต่ำ"ดร.รักษ์กล่าว
 
 
 
 
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ยังระบุต่อไปว่า หากผู้ประกอบการท่านใดสนใจสามารถเข้ามาขอรับบริการได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 มีนาคม 2566 หรือสามารถสอบถามทีี EXIM Contact Center โทร. 0 2169 9999 นอกจากนี้ ที่พิเศษสุดๆ คือ หากขอสินเชื่อภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ยอีก 0.25% ต่อปีในปีแรก ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ค่าธรรมเนียม Front-end Fee รวมลดเหลือเพียง 1% จากเดิม 2% กรณีใช้ บสย.ค้ำประกันร่วม เพื่อต้องการที่จะลดภาระผู้ประกอบการเพิ่มเติม

 
 
 
ด้าน นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า ไม่เพียงแต่ EXIM BANK เท่านั้น ที่เราร่วมมือกันเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการสร้าง SME ให้เป็นผู้ส่งออกตัวจริงได้ 1 แสนราย บสย.ยังพร้อมที่จะจับมือกับธนาคารพาณิชย์รายอื่นๆ อีก เพื่อให้การสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
 
 
 
 
โดย บสย.มีวงเงินค้ำประกัน รวมทั้งสิ้น  94,000 ล้านบาท ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 (PGS 9) ประกอบด้วย 3 โครงการสำคัญ ดังนี้
• โครงการ บสย. SMEs นำเข้า-ส่งออก วงเงิน 1,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียม 3 ปี
• โครงการ บสย. SMEs เติมเต็มรายย่อย วงเงิน 8,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียม 3 ปี
• โครงการ บสย. SMEs ดีแน่นอน วงเงิน 85,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปี
 

 
 
 
"การช่วยเหลือเติมทุน-ค้ำประกันให้กับผู้ประกอยการ SME ให้ได้เป็นผู้ส่งออกอย่างเต็มตัวนี้ บสย.มีวงเงินค้ำประกันอยู่ทั้งสิ้น 94,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบอย่างน้อย 116,000 ล้านบาท และสามารถช่วยเหลือ SMEs ได้จำนวน 20,600 ราย พร้อมกับช่วยการจ้างงานในระบบได้อีกกว่า 6 แสนตำแหน่ง ซึ่งผมในฐานะผู้บริหารสูงสุดของ บสย.และเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งต่อจาก ดร.รักษ์ ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ บสย.จะต้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้ได้เป็นผู้ส่งออกอย่างแท้จริง เพื่อช่วยนำเงินตราเข้าประเทศและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศไทยให้กลับคืนมาโดยเร็ว"นายสิทธิกรกล่าว
 
 
 
ทั้งนี้หากผู้ประกอบการสนใจสินเชื่อเติมทุน-ค้ำประกัน สองประเภทนี้ สามารถติดต่อเข้ามาได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 พฤศจิกายน 2565 หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs บสย. F.A.Center โทร. 0 2890 9999 หรือ Line @doctor.tcg

 
 
 
ดร.รักษ์กล่าวต่อท้ายว่า ท่ามกลางปัจจัยท้าทายรอบด้าน EXIM BANK ยังมุ่งสู่บทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย เร่งเดินหน้าสานพลังกับพันธมิตร อาทิ บสย. ซึ่งทั้งสองหน่วยงานอยู่ระหว่างพัฒนาเครื่องมือในการประเมินคุณภาพสินเชื่อ (Credit Scoring) และส่งต่อลูกค้าระหว่างกัน (Referral) เพื่อให้สามารถบริการแก่ผู้ประกอบการได้สะดวก รวดเร็ว และง่ายยิ่งขึ้น เร่งฟื้นเศรษฐกิจไทยและต่อยอดการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน โดยใช้จุดแข็งของทั้งสององค์กร ทำหน้าที่ซ่อม สร้าง และเสริมให้เศรษฐกิจตั้งแต่ระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ไปจนถึงโรงงานสามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ใช้ศักยภาพของตนเองบวกกับความได้เปรียบของประเทศเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างไร้พรมแดน สร้างเสน่ห์ของสินค้าไทยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีดิจิทัล และสุขภาพมากขึ้น สร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวหรือ BCG Economy โดยสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
 
 
 
 
 
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ยังกล่าวอีกว่า ในปัจจุบันการส่งออกถือเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะในปี 2565 นี้ ที่รายได้การท่องเที่ยวจากนักลงทุนต่างชาติยังคงหดหาย ยังไม่กลับคืนสู่สภาวะปกติ โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญของโลกที่เกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน จนลุกลามกลายเป็นสงครามตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ได้บั่นทอนทิศทางการฟื้นตัวทั้งของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวรัสเซียในแต่ละปีจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมาก รวมถึงผลกระทบต่อเนื่องที่ลามไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน จนส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในส่วนของการนำเข้าน้ำมันในราคาที่สูงขึ้นมากจนอาจมีความเสี่ยงต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยที่อาจจะขาดดุลมากขึ้นได้ ขณะที่ค่าเงินบาทก็อ่อนค่าลงประมาณ 5% นับตั้งแต่เกิดสงคราม สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงอาจเป็นสัญญาณว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยอาจจะมีแนวโน้มที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด โดยหน่วยงานเศรษฐกิจของประเทศไทยหลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนต่างคาดการณ์กันว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศไทยในปี 2565 อาจจะขยายตัวไม่ถึงระดับ 3% จากปัจจัยการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ขณะที่มีความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงถึงเสถียรภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจระยะยาวถูกบั่นทอนลง โดยเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ระดับสูงที่สุดในรอบ 13 ปี โดยอยู่ที่ 5.7% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากและจะส่งผลกระทบกดดันกำลังซื้อในประเทศให้ถดถอยลงเนื่องจากเงินด้อยค่าลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการทุกภาคอุตสาหกรรมก็มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาสินค้าต่างๆ จะปรับสูงขึ้น ซึ่งสุดท้ายไปกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนให้ลดน้อยลง

 
 
 
ดร.รักษ์ยังมองอีกว่า ความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เปรียบเสมือน “มะเร็ง” ร้าย ที่อาจลุกลามและสร้างแรงกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย แม้ในระยะแรก อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงจำกัด เพราะไทยพึ่งพาการค้ากับรัสเซียและยูเครนเพียง 0.6% (รัสเซีย 0.5% ยูเครน 0.1%) ของมูลค่าการค้ารวมของไทย แต่อาจกดดันการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยนับตั้งแต่เปิดประเทศเมื่อปลายปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวรัสเซียได้กลับเข้ามาในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 10% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทย อย่างไรก็ตาม ภาวะปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเริ่มได้รับผลกระทบทางอ้อมด้านราคา (Price Effect) ที่ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่รัสเซียและยูเครนมีส่วนแบ่งในตลาดโลกค่อนข้างมาก ที่เห็นได้ชัดได้แก่ สินค้ากลุ่มพลังงาน โดยราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 40% จนเริ่มส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจที่พึ่งพาพลังงานสูง อาทิ การขนส่ง โรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล เหล็ก ซีเมนต์ รวมถึงกลุ่มธัญพืชที่จะกระทบต่อการผลิตอาหาร และกลุ่มแร่หายากที่จะกระทบต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมตามมา นอกจากนี้ ผลกระทบด้านราคาดังกล่าวยังอาจลุกลามจนกระทบอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคถูกกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น การลงทุนอาจได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้การนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุนมีราคาแพงขึ้น

 
 
"ฉะนั้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยก้าวข้ามความเสี่ยงดังกล่าวและขยายตัวได้ต่อเนื่อง ผู้ส่งออกไทยภายใต้โลกยุค Next Normal ต้องพลิกโฉม Supply Chain ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การหาวัตถุดิบ การผลิต การกระจายสินค้า การขาย และตัวสินค้าเอง กล่าวคือ การหาวัตถุดิบเพื่อป้อนกระบวนการผลิตมุ่งเน้นแหล่งใกล้ๆ โดยเฉพาะภายในประเทศหรือภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงด้านการขาดแคลนวัตถุดิบหรือข้อจำกัดของการขนส่งข้ามประเทศ การผลิตในแต่ละขั้นตอนเน้นการยกระดับเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมูลค่าสินค้า การขนส่งและกระจายสินค้าต้องมีแผนสำรองอยู่เสมอ การขายสินค้าเน้นออนไลน์มากขึ้น สินค้าต้องมีอัตลักษณ์และสอดรับกับเมกะเทรนด์ยุคใหม่ อาทิ การใส่ใจสิ่งแวดล้อม ขณะที่ผู้ส่งออกไทยพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศ (Local Content) เป็นส่วนใหญ่ คิดเป็น 70% ของมูลค่าส่งออกรวม และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ค่าขนส่งสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นสาเหตุให้ EXIM BANK ในบทบาทของการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย จึงเข้ามาประสานความร่วมมือกับ บสย. เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใน Supply Chain การส่งออกเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเสริมสภาพคล่องและยกระดับคุณภาพธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สร้างผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก ผู้ส่งออก และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ตลอดทั้งกระบวนการของธุรกิจส่งออกและที่เกี่ยวเนื่องให้แข็งแกร่งและแข่งขันได้ในระดับสากล"ดร.รักษ์กล่าวทิ้งท้าย
 
 

LastUpdate 07/04/2565 22:22:23 โดย :
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 11:45 pm