การค้า-อุตสาหกรรม
จากปีที่ 1 กรมทะเบียนการค้า สู่ 100 ปี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง พร้อมเผยชื่อ 3 บริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 100 ปีก่อน และยังคงประกอบธุรกิจจนถึงทุกวันนี้


กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ครบรอบ 100 ปี เผยประวัติการจดทะเบียนธุรกิจตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2466 จนถึงปัจจุบันจากปีที่ 1 กรมทะเบียนการค้า สู่ 100 ปี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ครองแชมป์ธุรกิจที่มีการจดทะเบียนประกอบธุรกิจที่ยาวนานต่อเนื่องสูงสุด พร้อมเผย 3 บริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 100 ปีก่อน จนถึงปัจจุบันยังคงประกอบธุรกิจอยู่ด้วยความมั่นคง

 
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ให้การสนับสนุนภาคธุรกิจของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการจดทะเบียนนิติบุคคล ตั้งแต่เริ่มต้นจัดตั้งธุรกิจไปจนสิ้นสุดการประกอบกิจการ ซึ่งรูปแบบธุรกิจสมัยก่อนล้วนเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับค้าขายสินค้าทั่วไปไม่ได้มีความซับซ้อน เช่น ธุรกิจด้านการขนส่ง และธุรกิจธนาคาร เป็นต้น โดยธุรกิจถึงร้อยละ 59 เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่ง การเดินทาง รถไฟ รถราง

นับตั้งแต่ปีที่ 1 ของกรมทะเบียนการค้า (ชื่อเดิมของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2466 กับกฎหมายพระราชบัญญัติลักษณเข้าหุ้นส่วนบริษัทที่ถูกกำหนดขึ้น โดยจากฐานข้อมูลกรมฯ ปรากฏข้อมูลนิติบุคคลในปีที่ 1 จำนวนทั้งสิ้น 74 ราย ซึ่งประเภทธุรกิจที่มีการจัดตั้งสูงสุด ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าปลีก-ค้าส่ง เช่น การขายด้าย ผ้า ของชำ เครื่องประดับ เสื้อผ้า ข้าว วัตถุดิบทางการเกษตร เป็นต้น มีจำนวนสูงสุดถึง 32 ราย คิดเป็นร้อยละ 43 รองลงมา ได้แก่ ธุรกิจโรงสีข้าว จำนวน 6 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 ทั้งนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตทั้งการอุปโภคและบริโภค โดยเป็นธุรกิจที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครถึงร้อยละ 89 (66 ราย) และในส่วนภูมิภาคอีกร้อยละ 11 (8 ราย) ทั้งนี้ ในจำนวน 74 ราย มีธุรกิจที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่จนถึงปัจจุบัน จำนวน 3 ราย คือ 1.) บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล จำกัด ปัจจุบันคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 2.) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ปัจจุบันชื่อ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และ 3.) บริษัท แรนเดอรีเบอรามาการ จำกัด

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา รูปแบบของธุรกิจในช่วงแรกยังคงเป็นธุรกิจค้าปลีก-ขายส่ง (ซื้อมาขายไป) โดยนิยมค้าขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคและกระจุกตัวอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นหลัก แต่ในยุคถัดมาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งการผลิตสินค้าโดยใช้แรงงานคนเป็นหลัก และการใช้เครื่องจักรมาช่วยในการผลิตสินค้า รวมถึง มีการขยายธุรกิจออกสู่ส่วนภูมิภาคตามเขตเมืองขนาดใหญ่ และเมื่อก้าวสู่ยุคที่ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้เครื่องจักรมากขึ้น และมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการเพิ่มขึ้นตามลำดับ ธุรกิจขายส่ง/ขายปลีกยังคงเป็นที่นิยมและมีการจัดตั้งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากสถิติการจดทะเบียนเฉลี่ยต่อปี ในแต่ละช่วงเวลา พบว่าปี พ.ศ. 2466-2500 มีจำนวน 283 ราย พ.ศ.2501-2520 มีจำนวน 3,349 ราย พ.ศ. 2521-2545 มีจำนวน 21,877 ราย พ.ศ.2546-2555 มีจำนวน 48,284 ราย และ พ.ศ.2556-2565 มีจำนวน 68,211 ราย

จวบจนปีที่ 100 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (16 มกราคม 2566) รูปแบบของสังคม เทคโนโลยี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน สภาพแวดล้อม และจำนวนประชากร เปลี่ยนแปลงจากเดิมเป็นอย่างมาก ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการค้าขายเพียงอย่างเดียว ไปสู่ภาคการผลิตและบริการเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้สถิติการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลในปัจจุบัน (มกราคม 2566) มีจำนวนกว่า 1.7 ล้านราย และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนกว่า 28.34 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ 1 คิดเป็น 120,000 เท่า และมีการกระจายตัวสู่พื้นที่ในภูมิภาคมากขึ้น โดยมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 56 และพื้นที่กรุงเทพมหานคร คิดเป็นร้อยละ 44 ของจำนวนนิติบุคคลทั้งประเทศ ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจขายส่งเครื่องจักร โดยมีสัดส่วนจำนวนการจัดตั้งนิติบุคคล คิดเป็นร้อยละ 10, 6 และ 2 ตามลำดับ

ในส่วนของการให้บริการ กรมพัฒนธุรกิจการค้าให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยมีการพัฒนารูปแบบการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ และเข้ากับยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทั้งด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คน ซึ่งในอดีตการให้บริการด้านต่างๆ ของกรม เช่น การจดทะเบียนธุรกิจ การขอหนังสือรับรอง การนำส่งงบการเงิน ฯลฯ ผู้ใช้บริการต้องเดินทางมาติดต่อด้วยตนเอง ทำให้เกิดความยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง กรมฯ จึงได้พัฒนารูปแบบการให้บริการมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 100 ปี ด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาการบริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ จนถึงปัจจุบันได้พัฒนาระบบการให้บริการแบบออนไลน์ทั้งด้านการจดทะเบียนนิติบุคคล (DBD e-Registration) ที่มีการให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลไปแล้วกว่า 105,257 ราย ด้านการให้บริการหนังสือรับรองนิติบุคคล และรายการทางทะเบียนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) มีผู้ใช้งานสะสมตั้งแต่เปิดให้บริการ จำนวนรวม 10,605,890 ราย ด้านบริการนำส่งงบการเงินของนิติบุคคลผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ปัจจุบันมีผู้นำส่งงบการเงินผ่านระบบคิดเป็นร้อยละ 99 ของนิติบุคคลทั้งหมดที่ต้องนำส่งงบการเงิน และด้านการให้บริการข้อมูลนิติบุคคลผ่านทางเว็บไซต์ (DBD DataWarehouse+) ซึ่งเป็นคลังข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่มียอดผู้ใช้งานในแต่ละปีกว่า 11 ล้านครั้ง โดยระบบต่างๆ ที่กรมฯ ได้พัฒนาขึ้นจะช่วยให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว และถูกต้อง รวมทั้ง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และช่วยลดปริมาณกระดาษอีกด้วย

กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังคงไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาให้บริการจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ตามวิสัยทัศน์ ‘เป็นองค์กรภาครัฐชั้นนำด้านบริการดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2570 และสร้างพลังขับเคลื่อนธุรกิจไทย ให้ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม’ อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ก.พ. 2566 เวลา : 22:30:04
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 9:32 am