แบงก์-นอนแบงก์
บทวิเคราะห์เกียรตินาคินภัทร(KKP): พลิกท่องเที่ยวไทย ให้ฟื้นได้อย่างทรงพลัง (ตอนที่ 1)


พลิกท่องเที่ยวไทย ให้ฟื้นได้อย่างทรงพลัง (ตอนที่ 1)

• KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร เผยระยะเวลาในการแจกจ่ายวัคซีนของประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อแผนการเปิดประเทศและสูญเสียโอกาสในการเป็นประเทศแรกที่นักท่องเที่ยวจะเลือกเดินทาง (First Country To Visit) โดยประเมินว่า หากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 2 ล้านคนในปีนี้ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่เพียง 34% ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมราวครึ่งหนึ่งจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวหรือจำต้องปิดตัวถาวร
 
• ธุรกิจโรงแรมเริ่มมีสัญญาณ Oversupply มาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 โดยเฉพาะโรงแรมขนาดกลางและประหยัด ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 มาซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงขึ้น จนนำไปสู่การปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ และมีสัดส่วนหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020
 
• ความท้าทายสำคัญอีกด้านคือการท่องเที่ยวไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนในสัดส่วนสูงถึงกว่า 30% ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะผ่านพ้นไป อาจไม่สามารถคาดหวังให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาเติบโตได้ดีเหมือนที่ผ่านมา จากการที่จีนสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ และแนวโน้มชะลอตัวของการตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ 

 
สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลกอย่างสาหัส รวมถึงเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวในระดับสูง แม้ว่าในการระบาดระลอกแรกไทยจะสามารถควบคุมการระบาดได้เป็นอย่างดี ประกอบกับมีมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศจากภาครัฐในระหว่างที่ยังไม่สามารถกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้จนสามารถกระตุ้นสถานการณ์การท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงครึ่งปีหลังให้กระเตื้องขึ้นมาบ้าง แต่การระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายปี 2020 จากการลักลอบเข้าไทยผ่านพรมแดนธรรมชาติและการแพร่ระบาดในตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร จนทำให้หลายพื้นที่ต้องกลับมาใช้มาตรการกักตัวอีกครั้ง ส่งผลให้ความกังวลของทั้งประชาชนและหลายภาคส่วนเพิ่มสูงขึ้น ซ้ำเติมโอกาสที่การท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นจากนักท่องเที่ยวไทย และกลับไปซบเซาอีกครั้ง แต่ก่อนที่จะประเมินสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยในระยะต่อไป ขอย้อนกลับไปดูว่าการท่องเที่ยวไทยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไรในหลายทศวรรษที่ผ่านมา
 
 
 
การท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะจากจีน
 
ในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา รายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ภาคบริการของไทยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอย่างมาก สวนทางกับบทบาทของภาคการผลิตที่ลดลง โดยไทยสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า จากการที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ถึง 8 ล้านคนก่อนปี 1998 มาเป็นเกือบ 40 ล้านคนในปี 2019 (รูปที่ 1) ส่งผลให้ในปัจจุบัน ไทยถือเป็นเศรษฐกิจที่มีการพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก ทั้งในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและรายได้จากนักท่องเที่ยว โดยคิดเป็นมูลค่าต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมถึงราว 20% ต่อ GDP ขณะที่ขนาดของภาคการท่องเที่ยวทั้งหมดของโลกอยู่ที่ 10% ต่อ GDP โลก ในปี 2019 ก่อนสถานการณ์โควิด-19 (UNWTO)


กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักเปลี่ยนจากนักท่องเที่ยวจากยุโรปและญี่ปุ่น เป็นนักท่องเที่ยวจีน การขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ช่วงตามสัดส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติหลัก ช่วงแรกคือระหว่างปี 1998 - 2011 รายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นแต่ยังคิดเป็นมูลค่าต่อเศรษฐกิจไทยเฉลี่ยเพียงประมาณ 5.4% ต่อ GDP จากกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่ส่งผลให้การเดินทางระหว่างประเทศเติบโตขึ้นอย่างมาก หนึ่งในโครงการสำคัญที่ทำให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในที่ท่องเที่ยวสำคัญในภูมิภาคคือ Amazing Thailand 1998 - 1999 ที่ออกมาหลังวิกฤตเศรษฐกิจของไทยในปี 1997 ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนของไทยลอยตัวและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างมาก ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวไทยถูกลงกว่าครึ่ง ทำให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากขึ้น กระทั่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวเกิน 10 ล้านคนเป็นครั้งแรกในปี 2001 โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่มาไทย ได้แก่ ยุโรป (25%) อาเซียน (22%) และญี่ปุ่น (12%) ตามลำดับ
 
ช่วงหลังตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทยเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นยุคของนักท่องเที่ยวจีน ที่เริ่มจากกระแสของภาพยนตร์ Lost In Thailand ในปี 2012 ส่งผลให้มีการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจีนและกลายเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับ 1 ของไทยในปัจจุบัน โดยล่าสุดปี 2019 มีจำนวนคิดเป็นมากกว่า 1 ใน 4 (หรือ 28%) ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่า 12% ของ GDP หรือกล่าวได้ว่าการใช้จ่ายเกือบ 3% ในเศรษฐกิจไทยมาจากนักท่องเที่ยวจีน สะท้อนให้เห็นการพึ่งพาที่กระจุกตัวในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนในระยะหลัง
 
อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยมีสัญญาณชะลอลง จากการหันมาเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยขยายตัวในระยะหลังเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากในช่วงระหว่างปี 2012 - 2015 ที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดเฉลี่ย 50% ต่อปี เหลือในระดับเฉลี่ย 10% ต่อปีระหว่างปี 2016 - 2018 ก่อนที่ในปี 2019 จะขยายตัวเพียง 4.4% ก่อนสถานการณ์โควิด-19 สอดคล้องกับแนวโน้มการออกเดินทางออกนอกประเทศของคนจีนที่เติบโตชะลอเหลือเพียง 3.3% ขณะที่ตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศจีนเองยังขยายตัวได้ดีถึง 8.4% ในปี 2019 เมื่อประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 และการแจกจ่ายวัคซีนที่อาจทำให้การเดินทางออกและกลับประเทศของนักท่องเที่ยวจีนยากลำบากขึ้น และนโยบายของทางการจีนที่ส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านการสนับสนุนอุปสงค์ในด้านต่าง ๆ (Dual Circulation Strategy) จะทำให้การเติบโตของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางนอกประเทศ โดยเฉพาะที่มายังไทยมีแนวโน้มชะลอลงอย่างมาก โอกาสที่จะเห็นนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทยกว่า 10 ล้านคนดังเช่นช่วงก่อนโควิด-19 อาจเป็นไปได้ยากในเร็ว ๆ นี้ และนับเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการท่องเที่ยวไทยในระยะต่อไป 

ห้องพักขยายตัวเร็ว แข่งขันสูง จนมีสัญญาณ Oversupply มาตั้งแต่ก่อนโควิด-19ระบาด
 
ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ทางตรงจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวมากที่สุด โดยรายจ่ายสำหรับที่พักอาศัยคิดเป็น 29% ของรายรับจากการท่องเที่ยวทั้งหมด ธุรกิจโรงแรมจึงเป็นธุรกิจที่ขยายตัวเร็ว และมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จนเริ่มเกิดสัญญาณ Oversupply
 

โรงแรมระดับกลางและที่พักราคาประหยัดขยายตัวสูงเกินกว่า 10% ต่อปี ขณะที่โรงแรมหรู (Luxury) ขยายตัวเพียง 6% ต่อปี และมีสัดส่วนในตลาดลดลงจาก 40% เหลือ 35% ในตลาดโรงแรมปี 2018 (รูปที่ 2) สะท้อนให้เห็นถึงภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นของธุรกิจโรงแรมระดับกลางและประหยัด ซึ่งยังไม่รวมถึงที่พักราคาประหยัดที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องที่มีอยู่ค่อนข้างมาก จำนวนห้องพักที่เพิ่มขึ้นส่งผลกดดันต่อราคาห้องพักในบางพื้นที่ และสะท้อนให้เห็นภาวะอุปทานห้องพักล้นเกิน (Oversupply) ที่เริ่มส่งสัญญาณมากขึ้น ก่อนสถานการณ์โควิด-19
สาเหตุที่โรงแรมระดับกลางและราคาประหยัดมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเป็นผลทั้งจาก (1) กลุ่มนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ที่มาไทยเปลี่ยนแปลงไปเป็นนักท่องเที่ยวในเอเชีย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่มักเดินทางมากับกรุ๊ปทัวร์ และเน้นท่องเที่ยวแบบประหยัดมากกว่าการพักหรูอยู่สบาย สะท้อนจากสัดส่วนรายจ่ายที่พักของนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นเพียง 25% ของค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยทั้งหมด (2019) ต่ำกว่านักท่องเที่ยวยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านที่พักราว 33%  ขณะที่กลุ่มโรงแรมที่ได้รับประโยชน์จากนักท่องเที่ยวจีนมีการกระจุกตัวเฉพาะโรงแรมที่มีเครือข่ายกับธุรกิจจัดการทัวร์ กระทั่งเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตในปี 2018 และการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนที่มากับกรุ๊ปทัวร์ลดลง (2) การขยายตัวของแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว (E-Tourism Platform) ทำให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงโรงแรมต่าง ๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวกลุ่ม Generation Y และ Z (เกิดหลังปี 1980) ที่มีงบประมาณด้านการท่องเที่ยวจำกัด ส่งผลให้มีโรงแรมระดับกลางและราคาประหยัดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
 
 
เริ่มมีสัญญาณ Oversupply จากอุปทานห้องพักที่ขยายตัวต่อเนื่อง แต่อุปสงค์เริ่มชะลอตัวลง สะท้อนจาก (1) อัตราการเข้าพักขยายตัวชะลอลง สะท้อนการเข้าใกล้ระดับอิ่มตัว จากช่วงก่อน ปี 2010 - 2014 ที่อัตราการเข้าพักของนักท่องเที่ยวขยายตัวมากกว่าจำนวนห้องพักแรมในไทย แต่ในช่วงปี 2015 - 2019 จำนวนห้องพักแรมขยายตัวเฉลี่ย 4.7% ต่อปี แต่อัตราการเข้าพักแรม (Occupancy Rate) ขยายตัวเพียง 2.3% ต่อปี (รูปที่ 3) (2) การแข่งขันด้านราคาห้องพักสูงขึ้น จากระดับราคาห้องพักเฉลี่ยของห้องที่มีคนเข้าพัก (Average Daily Room Rate: ADR) ที่ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องจากปี 2016 ที่ขยายตัว 22% เหลือเพียง 1% ในปี 2019 เช่นเดียวกับรายรับของโรงแรม (Revenue Per Available Room: RevPAR) ที่อัตราการขยายตัวลดลงจาก 25% เหลือเพียง 1% ในช่วงปีเดียวกัน
 

การกระจุกตัวสูงของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเมืองท่องเที่ยวไม่กี่แห่งก่อให้เกิด Oversupply ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) ที่มีจำนวนห้องพักแรมรวมกันกว่า 51% ของจำนวนห้องพักทั้งประเทศ ในปี 2019 และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 91% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาในประเทศไทย (รูปที่ 5) และเมื่อรวมรายได้ทั้งหมดทั้งจากนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเฉพาะใน 6 จังหวัดยอดนิยม มีรายรับรวมถึง 77% ของรายได้จากการท่องเที่ยวรวม ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ อีกกว่า 90% มีส่วนแบ่งจากการท่องเที่ยวเพียง 1 ใน 5 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด การกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะในภาคใต้ ส่งผลให้มีการเร่งลงทุนด้านโรงแรมและที่พักอย่างมากจนเกิดปัญหา Oversupply ในพื้นที่ โดยในปี 2019 ทั้งอัตราการเข้าพักและราคาห้องพักเฉลี่ยในภาคใต้หดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี (รูปที่ 6) ส่งผลให้รายรับเฉลี่ยของผู้ประกอบการโรงแรมและที่พักลดลง ก่อนจะถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์โควิด-19 ในปีต่อมา


ผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรง-ลากยาว
 
การระบาดระลอกสองของโควิด-19 และความล่าช้าของการกระจายวัคซีนส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยวตลอดปี 2021 KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร มองว่าการระบาดระลอกสองจะส่งผลกระทบต่อโมเมนตัมการฟื้นตัวของการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศตลอดครึ่งปีแรก จากตัวเลขรายงานผู้ติดเชื้อในระลอกสองที่สูง และแนวโน้มการระบาดที่คาดว่าจะกินเวลายาวนานกว่าการระบาดระลอกแรก ขณะที่ความล่าช้าของการได้รับและแจกจ่ายวัคซีนแก่ประชากรในประเทศที่คาดว่าจะเริ่มขับเคลื่อนได้อย่างจริงจังในครึ่งปีหลัง ซึ่งช้ากว่าในหลายประเทศ จะส่งผลให้การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มล่าช้าออกไป กระทบต่อการวางแผนด้านสภาพคล่องของผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่แบกรับภาระต้นทุนมากว่า 10 เดือน และทำให้ไทยพลาดโอกาสในการเป็นประเทศแรกที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางมาท่องเที่ยว (First Country To Visit) หลังสถานการณ์โควิด-19คลี่คลาย
KKP Research คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2021 จะอยู่ที่เพียง 2 ล้านคน ซึ่งจะทยอยเดินทางเข้ามาในช่วงไตรมาส 4 อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถเปิดประเทศได้เลยในปีนี้ โดย KKP Research คาดว่าภาครัฐจะเริ่มผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านการเข้าเมือง เพื่อรองรับฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงปลายปี โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนและนักท่องเที่ยวจากยุโรปที่นิยมเดินทางมาพักผ่อนระยะยาวตามเมืองท่องเที่ยวทางทะเลทางใต้ของไทย โดยอาจใช้หนังสือรับรองการฉีดวัคซีนเพื่อการเดินทาง (Vaccine Passport) ผลตรวจเชื้อแบบเร็ว ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่นักท่องเที่ยวบางประเทศ (Green Lane) และลดหรือยกเลิกระยะเวลาการกักตัว (Alternative State Quarantine)
 
 
การเปิดประเทศมีแนวโน้มจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจผ่านการทำข้อตกลง Travel Bubble ระหว่างประเทศ หรือภูมิภาค (Regional Tourism) ที่มีอัตราการติดเชื้อต่อประชากรต่ำ และ/หรือมีอัตราการรับวัคซีนต่อประชากรสูงมากพอ (ปกติใช้เกณฑ์มากกว่า 2 ใน 3) ที่เชื่อได้ว่าทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) โดยจากอัตราการแจกจ่ายวัคซีนล่าสุดบ่งชี้ว่ากลุ่มประเทศหรือดินแดนที่ประชากรจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ภายในสิ้นปี 2021 ได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน (เกิน 100 ล้านคน) นอกเหนือจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (รูปที่ 7) ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งปี 2021 คาดว่าจะอยู่ที่เพียง 34% (รูปที่ 8) ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าอัตราการเข้าพักในช่วงก่อนโควิด-19ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 71% ถึงกว่าครึ่งหนึ่ง และมีห้องพักปล่อยว่างถึง 2 ใน 3 หรือเฉลี่ย 540,000 ห้องต่อวัน ส่งผลให้ตลอดปีนี้ โรงแรมมากกว่าครึ่งหนึ่งอาจจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวเป็นบางช่วงเวลาหรืออาจจำต้องปิดตัวถาวร และธุรกิจโรงแรมที่อยู่รอดจะเริ่มทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นไป

 

จังหวัดใกล้กรุงเทพฯ หรือมีฐานนักท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวก่อน  ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมในจังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครที่เป็นแหล่งกำลังซื้อหลักในระยะที่สามารถขับรถยนต์ส่วนตัวถึงได้ เช่น เช่นชลบุรี (พัทยา) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) หรือในจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวไทยเป็นฐานเดิม เช่น  เชียงใหม่ สามารถฟื้นตัวได้เร็วจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ของปี 2020 ขณะที่จังหวัดท่องเที่ยวในภาคใต้ทั้งภูเก็ต กระบี่ และสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) ที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง และมีภาพจำด้านค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่ค่อนข้างแพง ในไตรมาส 4 ยังมีอัตราการเข้าพักต่ำกว่า 15% (รูปที่ 9) 


โครงการเราเที่ยวด้วยกันช่วยเหลือโรงแรมกลุ่มบนมากกว่าโรงแรมระดับล่าง โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่ช่วยอุดหนุนค่าที่พักและการเดินทาง 40% แต่ไม่เกิน 3,000 บาท ก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจ (Unintended Consequence) ต่อโรงแรมระดับกลางและโรงแรมราคาประหยัด เนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวภายในประเทศที่ยังสามารถใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวได้ คือ กลุ่มชนชั้นกลางหรือกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งมีแนวโน้มจะเลือกเข้าพักในโรงแรมระดับ 4 หรือ 5 ดาว ที่จ่ายเพียงในราคาที่เมื่อหักเงินอุดหนุนจากรัฐแล้ว เป็นราคาที่พร้อมจ่ายได้ (รูปที่ 10) ส่งผลให้โรงแรมระดับกลางและโรงแรมราคาประหยัดถูกดึงกลุ่มลูกค้าเดิมออกไป และไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพียงพอในห้วงเวลาที่ธุรกิจท่องเที่ยวมีความไม่แน่นอนสูง 


ธุรกิจโรงแรมรายได้หดหายกว่า 70% และมีปัญหาหนี้เสียในภาคธนาคารโดยเฉพาะในกลุ่มที่พักขนาดเล็ก ธุรกิจโรงแรมที่เริ่มฟื้นตัวและกลับมาเปิดทำการได้ อาจต้องกลับไปปิดทำการอีกครั้งในช่วงต้นปี 2021 และจะยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะรายได้ที่หายไปกว่า 74% ในปี 2020 ส่งผลต่อเนื่องต่อคุณภาพสินเชื่อในภาคธนาคารที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่พักขนาดเล็ก เช่น เกสต์เฮาส์ ที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้เสีย (NPL Ratio)  พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาส 1 ปี 2020 (รูปที่ 11) ขณะที่ธุรกิจโรงแรมโดยรวมยังไม่เห็นผลกระทบด้านคุณภาพหนี้ด้วยความช่วยเหลือผ่านมาตรการพักชำระหนี้ ดังนั้น หากสถานการณ์การท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ธุรกิจที่พักโดยเฉพาะรายย่อยจะยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระยะถัดไป


เมื่อได้ทราบถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยที่ผ่านมากันไปแล้ว ในตอนต่อไป KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทรจะพูดถึงความท้าทายสำคัญที่ไทยยังต้องเผชิญในอนาคต ทั้งรูปแบบการท่องเที่ยวที่จะเปลี่ยนแปลงไปหลังโควิด-19 ศักยภาพการแข่งขันของการท่องเที่ยวไทยในอาเซียน และการพัฒนาจุดแข็งเพื่อสร้างโอกาสของการท่องเที่ยวไทยอย่างที่แข็งแรงกว่าเคยมา
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ก.พ. 2564 เวลา : 18:11:48
25-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (25 เม.ย.67) บวก 3.17 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,364.27 จุด

2. ประกาศ กปน.: 29 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนบ้านบางไผ่-บ้านหนองเพรางาย

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (25 เม.ย.67) บวก 1.72 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,362.82 จุด

4. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำยังคงทรงตัวในกรอบเช่นเดิมระหว่าง 2,290-2,330 เหรียญ

5. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ลบ 42.77 จุด บอนด์ยีลด์พุ่งฉุดตลาด บดบังผลประกอบการ บจ.แกร่ง

6. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ร่วง 3.70 เหรียญ นักลงทุนคลายกังวลความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

7. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในภาคเหนือ-ภาคกลาง-ภาคตะวันออก-ภาคใต้ ฝั่งตต. 20% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคอีสาน-ภาคใต้ ฝั่ง ตอ. 10%

8. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 37.00-37.25 บาท/ดอลลาร์

9. ทองเปิดตลาด (25 เม.ย. 67) ปรับขึ้น 200 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 41,300 บาท

10. ค่าเงินบาทเปิดวันนึ้ (25 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 37.08 บาทต่อดอลลาร์

11. ตลาดหุ้นไทยเปิด (25 เม.ย.67) ลบ 2.13 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,358.97 จุด

12. ตลาดหุ้นปิด (24 เม.ย.67) บวก 3.64 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,361.10 จุด

13. ประกาศ กปน.: 27 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล สถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง

14. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (24 เม.ย.67) บวก 3.44 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,360.90 จุด

15. MTS Gold คาดว่าจะมีกรอบแนวรับที่ 2,260 เหรียญ และแนวต้านที่ 2,335 เหรียญ

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 10:10 pm