แบงก์-นอนแบงก์
Krungthai COMPASS วิเคราะห์ ''ไรเดอร์ แรงขับเคลื่อนใหม่ตลาดสองล้อ''


Key Highlights

- ยอดขายรถมอเตอร์ไซค์ในประเทศ 7 เดือนแรกขยายตัวสูง ต่างกับตลาดรถยนต์ ยอดขายมอเตอร์ไซค์ในประเทศ 7 เดือนแรก ขยายตัว 13.7% หลังจากหดตัว 11.8% ในปีก่อน ขณะที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศ 7 เดือนแรก ขยายตัวเพียง 9.7% หลังจากหดตัวสูงที่ 21.4% ในปีก่อน จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า เพราะวิถีการใช้ชีวิตแบบ New Normal ที่On Demand Delivery มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นมาก และไรเดอร์หันมาใช้มอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะหลักในการขนส่งนี้ เป็นแรงผลักดันให้ยอดขายมอเตอร์ไซค์ในปีนี้ขยายตัวสูงหรือไม่
 
- ข้อมูลรายจังหวัดชี้ให้เห็นว่า ตลาดมอเตอร์ไซค์ที่โตในปีนี้กลับเป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นมากกว่าการเติบโตของปริมาณไรเดอร์ เห็นได้จากจังหวัดที่ตลาดมอเตอร์ไซค์ฟื้นตัวสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เป็นจังหวัดที่มีการปลูกพืชที่ปีนี้มีราคาและผลผลิตที่ขยายตัวสูง ในขณะที่ ตลาดมอเตอร์ไซค์ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งหัวเมืองที่ On Demand Delivery มีความหนาแน่นกลับเติบโตต่ำกว่า 
 
 
- ในระยะข้างหน้า ตลาด On Demand Delivery ที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง และครอบคลุมพื้นที่ในภูมิภาคมากขึ้น จะเป็นแรงขับเคลื่อนตลาดจักรยานยนต์ควบคู่ไปกับรายได้เกษตรกร ไรเดอร์เป็นอาชีพที่จำเป็นต้องใช้มอเตอร์ไซค์ ซึ่งรายได้เฉลี่ยของไรเดอร์ทั้งประเทศหลังหักต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาทต่อเดือน อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถผ่อนชำระค่างวดของมอเตอร์ไซค์ที่เหมาะสมกับไรเดอร์  (ไม่เกิน 150 ซีซี และเป็นเกียร์อัตโนมัติ) นอกจากนั้น แพลตฟอร์มหลายแห่งยังมีการสนับสนุนสินเชื่อพิเศษในการซื้อจักรยานยนต์ที่อาจทำให้ภาระต่อเดือนในการซื้อมอเตอร์ไซค์ลดลงได้อีกด้วย 

มานะ นิมิตรวานิช
 
Krungthai COMPASS

ระยะหลังตลาดมอเตอร์ไซค์เริ่มอิ่มตัว

ย้อนกลับไปในช่วง 5 ปีก่อนเกิดโควิด-19 ตลาดมอเตอร์ไซค์มียอดขายสูงสุด 1.8 ล้านคันในปี 2560 ก่อนจะชะลอต่อเนื่องจนถึงปี 2563 (รูปที่ 1)  ผู้ประกอบการหลายราย ยอมรับว่าตลาดเริ่มอิ่มตัวจากยอดจดทะเบียนสะสมที่อยู่สูงราว 21 ล้านคัน ส่งผลให้สัดส่วนการครอบครองมอเตอร์ไซค์ต่อประชากรอยู่ระดับสูง การที่ตลาดเริ่มอิ่มตัว
ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายปรับทิศทางการตลาดโดยให้น้ำหนักกับตลาดมอเตอร์ไซค์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า อย่างมอเตอร์ไซค์ที่มีขนาด 250 ซีซีขึ้นไป ทำให้ตลาดมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ของไทยเติบโตขึ้นสวนทางกับตลาดมอเตอร์ไซค์หลัก ที่เริ่มชะลอลง
 
 
 
ตลาดมอเตอร์ไซค์ 7 เดือนแรกปีนี้กลับมาโตได้ดีในอัตราที่สูงกว่าที่หดตัวในปีก่อน

ทั้งประเทศ 7 เดือนแรก ขยายตัว 13.7% หลังจากหดตัว 11.8% ในปีก่อน ขณะที่ยอดขายรถยนต์ทั้งประเทศ 7 เดือนแรก ขยายตัวเพียง 9.7% หลังจากหดตัว 21.4% ในปีก่อน การขยายตัวของยอดขายมอเตอร์ไซค์จึงไม่ได้มีสาเหตุจากปัจจัยจากฐานต่ำในปีก่อนเพียงอย่างเดียว แต่สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของตลาดมอเตอร์ไซค์เมื่อเทียบกับตลาดรถยนต์

การเติบโตของตลาดมอเตอร์ไซค์ในปีนี้มาจากภูมิภาคเป็นส่วนใหญ่ โดยการวิเคราะห์รายภาคและรายจังหวัดดูจากยอดจดทะเบียนรถใหม่ป้ายแดง ในช่วง 7 เดือนแรกของปี ยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์ใหม่ในส่วนภูมิภาคเติบโตถึง 16.9% ในขณะที่เป็นการเติบโตในเขตกรุงเทพและปริมณฑลเพียงแค่ร้อยละ 5.8% การเติบโตของยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์เขตกรุงเทพและปริมณฑลที่ต่ำกว่าในภูมิภาค ทำให้สัดส่วนยอดจดทะเบียนในกรุงเทพและปริมณฑลเมื่อเทียบกับทั้งประเทศลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน
 
 
ภาคอีสานเป็นภาคเดียวที่ยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์กลับมาเท่ากับระดับก่อนเกิดโควิด-19

แม้ตลาดมอเตอร์ไซค์ในปีนี้จะโตดี แต่ภาคอีสานเป็นเพียงภาคเดียวที่ฟื้นตัวกลับมาเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19  การวิเคราะห์ว่า ตลาดมอเตอร์ไซค์ในแต่ละภาคกลับมาในระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้วหรือไม่ คำนวณจากสัดส่วนของยอดจดทะเบียนเฉลี่ยรายเดือนในปี 2564 กับยอดจดทะเบียนเฉลี่ยรายเดือน 5 ปีก่อนเกิดโควิด-19 (ปี 2558-2562) ซึ่งจากวิเคราะห์ข้อมูลรายภาค พบว่า มีเพียงภาคอีสานเท่านั้นที่ยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์เฉลี่ยรายเดือนกลับมาเท่ากับระดับช่วงก่อนเกิดโควิด-19  ด้านภาคเหนือก็มีระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่ประมาณ 97% ขณะที่ ภาคอื่นๆ ยังมียอดจดทะเบียนในระดับที่ต่ำกว่าพอสมควร โดยเฉพาะกรุงเทพ และปริมณฑล ที่คาดกันว่าจะได้รับผลบวกจากการบริการขนส่งสินค้าในยุค New Normal แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น
 

แล้วเพราะอะไร ที่ทำให้ยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์ในภาคอีสานเพิ่มสูงขึ้นมาได้จนเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19

รายได้เกษตรกรในภาพรวมที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก มีผลต่อตลาดมอเตอร์ไซค์ในปีนี้ ตลาดมอเตอร์ไซค์พึ่งพาตลาดต่างจังหวัดมากกว่า 70% ทำให้ตลาดขึ้นอยู่กับรายได้เกษตรกรค่อนข้างมาก และด้วยรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปีก่อนก็มีผลทำให้ตลาดมอเตอร์ไซค์ขยายตัวไปด้วย
 

รายได้เกษตรกรคำนวณจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรกร และดัชนีผลผลิตเกษตรในแต่ละช่วงเวลา ในปี 2564 ราคาสินค้าเกษตรหลักอย่างข้าวหดตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ ราคาอ้อย ยางพารา และมันสำปะหลัง ปรับตัวสูงขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม ในด้านผลผลิต พบว่า ยางพาราและมันสำปะหลังมีผลผลิตที่ขยายตัวดีขึ้น แต่อ้อยกลับมีปริมาณผลผลิตที่ลดลงทำให้เกษตรกรที่เพาะปลูกอ้อยเป็นหลักอาจไม่ได้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นมากนัก
 

จังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังและยางพาราเป็นจำนวนมาก กระจุกตัวในภาคอีสานมากที่สุด เมื่อวิเคราะห์ภาพรายจังหวัด พบว่า หลายจังหวัดที่มียอดจดทะเบียนเฉลี่ยรายเดือนในปีนี้ สูงกว่ายอดจดทะเบียนเฉลี่ยรายเดือนในช่วง 5 ปีก่อนโควิด และอีกหลายจังหวัดที่เกือบจะเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เป็นจังหวัดที่มีการปลูกพืชอย่างมันสำปะหลัง ยางพารา เป็นจำนวนมาก ซึ่งในปีนี้มีราคาและผลผลิตที่ขยายตัวสูง สอดคล้องกับดัชนีรายได้เกษตรกรในปีนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากมันสำปะหลังและยางพาราเป็นหลัก โดยจังหวัดเหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในภาคอีสานมากที่สุด และเป็นสาเหตุให้ยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์ในภาคอีสานเพิ่มสูงขึ้นมาได้จนเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 

การเติบโตของตลาดมอเตอร์ไซค์ในปีนี้ยังมาจากรายได้เกษตรกรเป็นหลัก และไม่ได้รับอานิสงส์จากกิจกรรม On Demand Delivery มากนัก เป็นที่น่าสังเกตว่า ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ยกเว้นนครปฐม) รวมทั้ง จังหวัดที่เป็นหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภาคที่คาดว่ากิจกรรม On Demand Delivery มากกว่าจังหวัดอื่นในภาค กลับไม่ได้มียอดจดทะเบียนฟื้นตัวกลับมาเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งก็อาจมองได้ว่า การเติบโตของตลาดมอเตอร์ไซค์ในปีนี้เป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก 

แล้วในอนาคต On Demand Delivery จะช่วยขับเคลื่อนตลาดมอเตอร์ไซค์ได้หรือไม่?

ด้วยวิถี New Normal ตลาด On Demand Delivery ยังมีแนวโน้มโตต่อเนื่อง Euro Monitor คาดการณ์ว่า ตลาด Food Delivery ที่มีสัดส่วนสูงในตลาด On Demand Delivery ในไทยจะเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2565-2567 จะมีอัตรา การเติบโตเฉลี่ยที่ประมาณ 10.7% ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุค New normal ที่ใส่ใจต่อสุขอนามัย ทำให้คาดว่าถึงแม้ภาครัฐจะทยอยผ่อนปรนมาตรการการทานอาหารในร้าน แต่ Food Delivery ก็จะยังคงเติบโตได้

ตลาด On Demand Delivery ที่เติบโต ส่งผลต่อความต้องการไรเดอร์ และตลาดมอเตอร์ไซค์จะได้รับอานิสงส์ จากข้อมูลยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์รายจังหวัด พบว่า ตลาดมอเตอร์ไซค์ของไทยยังมีสัดส่วนอยู่ในภูมิภาคมากกว่า 70% และขับเคลื่อนจากรายได้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยค่อนข้างมาก แต่ในอนาคตตลาด On Demand Delivery ที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่อง จะขยายขอบเขตไปในภูมิภาคมากขึ้นตามลำดับ ทำให้ความต้องการไรเดอร์มีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนั้น คุณสมบัติเบื้องต้นที่แพลตฟอร์มส่วนใหญ่ต้องการ คือ ผู้ที่มาสมัครเป็นไรเดอร์ต้องมีรถมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเอง ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อตลาดมอเตอร์ไซค์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งรายงานเรื่อง “ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวนสภาพการทำงานและหลักประกันทางสังคมของของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในสถานการณ์แพร่ ระบาดของโควิด-19“ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่ารายได้เฉลี่ยของไรเดอร์ทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 18,000 บาทต่อเดือน หักต้นทุนค่าน้ำมัน ค่าสึกหรอ ค่าอินเตอร์เน็ต เฉลี่ยประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน จะเหลือเงินประมาณ 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งรายได้หลังหักต้นทุนนี้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถผ่อนชำระค่างวดของมอเตอร์ไซค์ที่เหมาะสมกับไรเดอร์ (ไม่เกิน 150 ซีซี และเป็นเกียร์อัตโนมัติ) ซึ่งอยู่ในช่วง 2,035-4,207 บาทต่อเดือน1  หรือคิดเป็น 13.6-28.1% ของรายได้หลังหักต้นทุนโดยเฉลี่ย นอกจากนั้น แพลตฟอร์มหลายแห่ง เช่น Robinhood Grab ยังมีการสนับสนุนสินเชื่อพิเศษในการซื้อจักรยานยนต์ที่อาจทำให้ภาระต่อเดือนในการซื้อมอเตอร์ไซค์ลดลงได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกต่อตลาดมอเตอร์ไซค์ข้างต้น ก็อาจจะถูกท้าทายด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ล่าสุดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในไตรมาส 1 ปี 2564 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 90.5% สูงสุดในรอบ 18 ปี นอกจากนั้น ตลาดภูมิภาคที่เป็นตลาดหลักของมอเตอร์ไซค์ก็อาจถูกกดดันมากขึ้นไปอีก จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง “X Ray หนี้ครัวเรือนภูมิภาค” ที่ชี้ให้เห็นว่า ภาระหนี้ครัวเรือนในประเทศที่สูงจากส่วนภูมิภาคเป็นหลัก อีกทั้ง สัดส่วนครัวเรือนที่มีความเปราะบางสูงก็กระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคเช่นเดียวกัน

บันทึกโดย : วันที่ : 23 ก.ย. 2564 เวลา : 12:13:45
20-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. พรุ่งนี้ (20 เม.ย.) ราคาน้ำมันดีเซล ปรับขึ้น 50 สต./ลิตร ตามมติ กบน. มีผลเที่ยงคืนนี้

2. ตลาดหุ้นปิด (19 เม.ย.67) ลบ 28.94 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,332.08 จุด

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (19 เม.ย.67) ลบ 25.09 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,335.93 จุด

4. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับอยู่ที่ระดับ 2,385 เหรียญ และแนวต้านอยู่ที่ระดับ 2,425 เหรียญ

5. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในทุกภาครวมทั้งกรุงเทพปริมณฑล 10% เว้นภาคใต้ ฝั่ง ตอ.20%

6. ทองนิวยอร์ก ปิดเมื่อคืน (18 เม.ย.67) บวก 9.60 เหรียญ รับแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

7. ดัชนีดาวโจนส์ ปิดเมื่อคืน (18 เม.ย.67) บวกแค่ 22.07 จุด เจ้าหน้าที่เฟดตบเท้าหนุนไม่ควรรีบลดดอกเบี้ย

8. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.75-37.05 บาท/ดอลลาร์

9. ตลาดหุ้นไทยเปิด (19 เม.ย.67) ลบ 20.39 จุดดัชนีอยู่ที่ 1,340.63 จุด

10. ทองเปิดตลาด (19 เม.ย. 67) พุ่งขึ้น 550 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 42,500 บาท

11. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (19 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 36.85 บาทต่อดอลลาร์

12. ประกาศ กปน.: ด่วนมาก!!! คืนวันนี้ 18 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนราษฎร์บูรณะ

13. ตลาดหุ้นปิด (18 เม.ย.67) ลบ 5.92 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,361.02 จุด

14. ตลาดหุ้นไทยปิดภาคเช้า (18 เม.ย.67) บวก 1.83 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,368.77 จุด

15. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในทุกภาครวมทั้งกรุงเทพปริมณฑล 10% เว้นภาคใต้ ฝั่ง ตอ.ฝน 20%

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 3:37 am