ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เคทีซีมั่นใจไตรมาส 2 ฟื้นทำกำไร แจ้ง3 เดือนแรก รายได้ 3,102 ล้านบาท


เคทีซีเชื่อการแข่งขันตลาดสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเข้มข้น จากสภาวะเศรษฐกิจที่มีเงินสนับสนุนจากนโยบายเพิ่มค่าแรงและงบกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ มั่นใจแผนลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่ผ่านมา เอื้อให้ไตรมาส2 ฟื้นทำกำไร เตรียมลุยโปรแกรมการตลาดเชิงรุกสร้างความต่างเป็นรายเซ็กเม้นท์ให้กับสมาชิกทั้งพอร์ต เสริมด้วยกลยุทธ์การตลาดแบบออนไลน์ ควบคู่การหารายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และนำเสนอผลิตภัณฑ์ร่วมกับธนาคารกรุงไทย เพื่อให้ลูกค้ารับประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะธุรกิจสินเชื่อบุคคลเดินแต้มต่อเจาะกลุ่มข้าราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีบัญชีผ่านธนาคารกรุงไทยมากขึ้น โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2555 เคทีซีสามารถทำรายได้อยู่ที่ 3,102 ล้านบาท มีฐานสมาชิกรวม 2.2 ล้านบัญชี พอร์ตลูกหนี้รวม 41,418 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 155 ล้านบาท ผลกระทบต่อเนื่องจากค่าใช้จ่ายตั้งสำรองหนี้เสียจากภาวะน้ำท่วมช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี2554

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 เดือนแรกมีแนวโน้มดีขึ้น จากตัวเลขดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้บริโภคมีความต้องการใช้จ่ายต่อเนื่อง ภาคธุรกิจหันกลับมาลงทุนหลังภาวะเศรษฐกิจปรับดีขึ้นจากปัญหาอุทกภัยคลี่คลาย ประกอบกับการสนับสนุนเม็ดเงินจากภาครัฐเข้าระบบเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มการลงทุนในประเทศ และการเร่งจ่ายเงินของรัฐเพื่อฟื้นฟูผลกระทบดังกล่าว นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยในส่วนของตลาดสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลคาดว่าทุกสถาบันการเงินจะมีการแข่งขันเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดยอดการใช่จ่ายผ่านบัตรและขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น

 สำหรับฐานะทางการเงิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2555 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 45,743 ล้านบาท ลดลงจาก 47,443 ล้านบาท ณ วันที่ 31ธันวาคม2554 พอร์ตลูกหนี้การค้ารวมสุทธิเท่ากับ 41,418 ล้านบาท ลดลงจาก 43,135 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ฐานสมาชิกรวม 2.2ล้านบัญชีประกอบด้วยบัตรเครดิต 1,610,849 บัตร ยอดลูกหนี้บัตรเครดิตสุทธิ 29,774 ล้านบาท สินเชื่อบุคคลเคทีซี แคช เท่ากับ 585,845บัญชี ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคล 11,332 ล้านบาท เป็นต้น

นายระเฑียรกล่าวว่า เนื่องจากบริษัทฯ ยังคงมีภาระค่าใช้จ่ายตั้งสำรองหนี้เสียจากผลกระทบของภาวะน้ำท่วมต่อเนื่องในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนหน้า โดยในไตรมาสแรกของปี 2555 หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลงเหลือเพียง 1,298 ล้านบาท จากเดิมในไตรมาสที่ 4 ของปี2554 มีจำนวน 2,288ล้านบาท อีกทั้งค่าใช้จ่ายทางการเงินและค่าใช้จ่ายในการบริหารงานเพิ่มขึ้น 6% เท่ากับ28 ล้านบาท และ 3% เท่ากับ37 ล้านบาท ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จึงส่งผลให้บริษัทฯ ขาดทุนสุทธิในไตรมาสแรก 155 ล้านบาท”

ทั้งนี้ รายได้รวมเพิ่มขึ้น1% อยู่ที่ 3,102ล้านบาท โดยที่รายได้ดอกเบี้ยรับ (รวมค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน)รายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่นๆ ในไตรมาสนี้เท่ากับ 1,997 ล้านบาท 817 ล้านบาท และ287 ล้านบาท คิดเป็น 64% 26% และ 10% ของรายได้รวม สำหรับรายได้อื่นๆ ประมาณ 83% มาจากหนี้สูญได้รับคืน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวม(ไม่รวมภาษีเงินได้) เท่ากับ 3,235 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อนหน้า จากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญสำหรับธุรกิจบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นในปลายปี 2554 และลดลง 36% หากเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา เพราะได้ตั้งสำรองพิเศษไว้แล้วสำหรับกรณีลูกหนี้ที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ดังนั้น เมื่ออายุหนี้ครบ 90 วัน ซึ่งตกอยู่ในช่วงระหว่างไตรมาสแรกของปี2555 แม้ว่าจะต้องตั้งสำรอง 100% สำหรับหนี้ดังกล่าวแต่ปริมาณก็ไม่มากนัก

สำหรับค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่อรายได้(Cost to Income Ratio) ในไตรมาสที่ 1 ปี2555 เท่ากับ 46%เท่ากับสิ้นปี2554 ซึ่งเป็นมูลค่าที่ได้หักสำรองคะแนนพิเศษ 838 ล้านบาทออกแล้ว อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังมีนโยบายในการลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานในด้านต่างๆ ลง และมุ่งมั่นปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงให้อยู่ระดับเดียวกับอุตสาหกรรม”

“ในไตรมาสแรกของปี2555 บริษัทฯ มีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) ทั้งสิ้น 28,115 ล้านบาท ประกอบด้วยวงเงินจากธนาคารกรุงไทย18,030 ล้านบาท และที่เหลืออีก 10,085 ล้านบาท จากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ โดยมีอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 8.7 เท่า ซึ่งต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ที่ 10 เท่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin) เพิ่มจาก 13.6% ณ สิ้นปี เป็น 13.8%เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของรายได้ดอกเบี้ยรับจากธุรกิจสินเชื่อบุคคลที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเฉลี่ยเท่ากับ 5.18%เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก4.94% ณ สิ้นปี 2554

นายระเฑียรกล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายการดำเนินธุรกิจ และกลยุทธ์การตลาดบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลของเคทีซีนับจากนี้ บริษัทฯ จะเร่งสร้างความได้เปรียบจากคู่แข่งขัน โดยออกโปรแกรมการตลาดเชิงรุกที่น่าสนใจตามความต้องการของสมาชิกเป็นรายกลุ่มและมุ่งใช้การตลาดออนไลน์ เนื่องจากง่ายต่อการปรับเปลี่ยนและต้นทุนต่ำ รวมทั้งจัดหารายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Synergy Business) ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว ประกันภัย การขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ เป็นต้น ตลอดจนร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ร่วมกันเพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ เคทีซียังตั้งเป้าเติบโตในธุรกิจสินเชื่อบุคคลอย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นการเจาะกลุ่มข้าราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีบัญชีเงินเดือนผ่านธนาคารกรุงไทยมากขึ้น และนำเสนอโปรโมชั่นการตลาดที่หลากหลายและการตลาดผ่านออนไลน์เช่นกัน ตลอดจนรักษาคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบปฏิบัติงานในองค์กรแบบ End to End เน้นให้แต่ละส่วนทำงานอย่างเข้าใจแท้จริง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของงานไปจนกระทั่งจุดสิ้นสุดของงานอย่างมีประสิทธิภาพและคล่องตัว อีกทั้งยังได้ขยายขอบเขตงานคอลล์ เซ็นเตอร์ (Call Center) ให้เป็นงานด้านคอนแท็คท์ เซ็นเตอร์ (Contact Center)เพื่อให้ครอบคลุมทุกช่องทางการติดต่อสื่อสารกับลูกค้ารวมถึงออนไลน์ โดยการฝึกอบรมให้ความรู้พนักงานอย่างเข้มข้นและให้เกิดความเป็นเจ้าของร่วมกับองค์กรอีกด้วย จึงเป็นที่คาดว่าในไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวจะส่งผลให้บริษัทฯ สามารถกลับมาทำผลกำไรได้ต่อไป

 

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 พ.ค. 2555 เวลา : 12:40:45

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 1:16 pm