ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมทรัพย์สินทางปัญญาจัดสัมมนา เพื่อผู้ประกอบการไทยบุกตลาดอาเซียนด้วยทรัพย์สินทางปัญญา


 
นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเปิดเผยว่า ในช่วงเดือน สิงหาคม 2555 – พฤษภาคม 2556 กรมทรัพย์สินทางปัญญา มีกำหนดจัดการสัมมนา “บุกตลาดอาเซียนด้วยทรัพย์สินทางปัญญา” เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทยด้านทรัพย์สินทางปัญญาก่อนส่งออกไปประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 9 ประเทศ การสัมมนาดังกล่าวจะจัดขึ้นทั้งหมด 6 ครั้ง ให้ครบทั้ง 9 ประเทศสมาชิกอาเซียน เนื่องจากทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นเครื่องมือการตลาดที่สำคัญ ที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการในประเทศอาเซียนได้ หลังจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จะต้องลดเลิกภาษีศุลกากร และมาตรการที่มิใช่ภาษีระหว่างกัน ผู้ประกอบการไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาก่อนส่งออก ดังนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงมีแผนจะเชิญผู้เชี่ยวชาญ และผู้ตรวจสอบเครื่องหมายการค้า และสิทธิบัตรจากประเทศสมาชิกอาเซียนมาบรรยายถึงวิธีการยื่นคำขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศอาเซียนทั้ง 9 ประเทศ ให้ผู้ส่งออกไทยได้รับทราบข้อมูล เพราะทรัพย์สินทางปัญญามีหลักการคุ้มครองพิเศษ คือจดทะเบียนที่ประเทศไหนจะคุ้มครองในเขตอาณาของประเทศนั้น เช่น ให้เครื่องหมายการค้าได้รับความคุ้มครองในประเทศสิงคโปร์ ผู้ส่งออกก็จะต้องไปจดทะเบียนเพื่อขอรับความคุ้มครองในประเทศสิงคโปร์
 
การ สัมมนาครั้งแรกได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555 เรื่องการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และการออกแบบผลิตภัณฑ์ในประเทศเวียดนาม โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากเวียดนาม และผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ส่งออกสินค้าไปยังประเทศเวียดนามมาบรรยาย ซึ่งประสบความสำเร็จได้รับความสนใจจากผู้ส่งออกไทยที่สนใจไปบุกตลาดใน เวียดนามเป็นอย่างดี และในครั้งที่ 2 เรื่อง บุกตลาดอาเซียนด้วยทรัพย์สินทางปัญญา: ฟิลิปปินส์ ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับความร่วมมือจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาฟิลิปปินส์ในการส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านเครื่องหมายการค้า และด้านสิทธิบัตร บริษัท เอพลัสซัพพลาย จำกัด สมาคมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมาบรรยายให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำการค้า การลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์
 
ครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้จัดสัมมนา “บุกตลาดอาเซียนด้วยทรัพย์สินทางปัญญา: อินโดนีเซีย” ซึ่งอินโดนีเซียถือได้ว่าเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย จากตัวเลขของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในช่วง 3 ไตรมาสของปี 2555 หรือช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2555 มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปอินโดนีเซียมีมูลค่าถึง 290,573.1 ล้านบาท และเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 6 ของไทย เป็นรองเพียงประเทศใหญ่ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เป็นต้น ประกอบกับการที่ไทยและอินโดนีเซียกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community หรือ AEC ในปี พ.ศ. 2558 หรือ ค.ศ. 2015  อันจะส่งผลให้การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ แรงงาน และการลงทุนเป็นเสรี
 
กรมทรัพย์สินทางปัญญามีแผนจะจัดการสัมมนาครั้งที่ 4 เรื่อง “บุกตลาดอาเซียนด้วยทรัพย์สินทางปัญญา:บรูไน และมาเลเซีย” ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ครั้งที่ 5 เรื่อง “บุกตลาดอาเซียนด้วยทรัพย์สินทางปัญญา: สิงคโปร์” ในช่วงเดือนมีนาคม 2556 และครั้งที่ 6 เรื่อง “บุกตลาดอาเซียนด้วยทรัพย์สินทางปัญญา: กัมพูชา ลาว และเมียนม่าร์” เดือนพฤษภาคม 2556
ทั้งนี้ การสัมมนาดังกล่าวกำหนดจัดขึ้น ณ กรุงเทพฯ ซึ่งผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมการสัมมนาได้ที่ เบอร์โทรสาร 02-547-4651 หรือ www.ipthailand.go.th
 
นอก จากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนรวมทั้งไทยยังเตรียมการที่จะเข้าเป็นสมาชิกความตกลงด้าน ทรัพย์สินทางปัญญาในกรอบขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกที่สำคัญ 2 ฉบับ คือ (1) พิธีสารมาดริด ซึ่งจะอำนวยความสะดวกด้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ และ (2) ความตกลงเฮก ซึ่งจะอำนวยความสะดวกด้านการจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ในต่าง ประเทศให้เสร็จสิ้นภายในปี 2558 ที่จะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งความตกลงเหล่านี้จะยิ่งช่วยอำนวยความสะดวกผู้ส่งออกไทยในอนาคตสามารถขอยื่นจดทะเบียนในต่างประเทศผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้
อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเปิดเผยด้วยว่า ไทยมีแผนที่จะเพิ่มกิจกรรมความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญากับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนม่าร์ ลาว กัมพูชา และเวียดนามมากขึ้น เพื่อช่วยประเทศเหล่านี้ให้พัฒนาระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น คือจะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยเกิดความมั่นใจด้วยว่าเมื่อส่งออกสินค้า หรือบริการไปยังประเทศเหล่านี้ทรัพย์สินทางปัญญาของตนจะสามารถจดทะเบียนเพื่อรองรับความคุ้มครอง และไม่ถูกลอกเลียนแบบ


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ธ.ค. 2555 เวลา : 14:12:37

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 11:35 pm