ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์ วิเคราะห์ราคาน้ำมันวันนี้ : ราคาน้ำมันดิบอ่อนตัว หลังตัวเลขเศรษฐกิจจีนส่อแววซบเซา


เวสต์เท็กซัสส่งมอบเดือน ก.ค. ปรับลดลง 0.26 เหรียญฯ ปิดที่ 95.77 เหรียญฯ และเบรนท์ส่งมอบเดือน ก.ค. ปรับลดลง 0.61 เหรียญฯ ปิดที่ 103.95 เหรียญฯ
 
- นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจของจีนในไตรมาส 2 จะอ่อนตัวลงไปอีก และอาจทำให้ตัวเลขจีดีพีทั้งปีต่ำกว่าเป้าหมายที่ 7.5% หลังจากตัวเลขการส่งออกเดือน พ.ค. โตต่ำสุดในรอบเกือบหนึ่งปี ที่ 1% ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าร่วง 0.3% นอกจากนี้ตัวเลขเงินเฟ้อยังออกมาต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ที่ 2.1% และตัวเลขการปล่อยเงินกู้จากธนาคารเดือน พ.ค. อยู่เพียง 667.4 พันล้านหยวน ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 850 พันล้านหยวน ซึ่งส่งสัญญาณว่าแรงซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงไม่ฟื้นตัว
 
- อัตราการใช้กำลังกลั่นของจีนเดือน พ.ค. ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน มาอยู่ที่ 9.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันในประเทศขยายตัวต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 55 ที่ 1.1.% มาอยู่ที่ 9.48 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับโรงกลั่นในประเทศอยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาล
+ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง หลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่าตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ต่ำ น่าจะช่วยให้ภาครัฐฯ ใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงิน (QE3) ได้ต่อไป
 
+ ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตน้ำมันในแอฟริกา โดยเฉพาะลิเบียและไนจีเรีย โดยที่สถานการณ์ประท้วงที่คลังน้ำมันดิบในลิเบียยังคงยืดเยื้อมากว่า 20 วัน ในขณะที่ไนจีเรียประสบปัญหาจากกลุ่มก่อความไม่สงบอิสลาม Boko Haram ซึ่งเหตุการณ์โจมตีล่าสุดมีผู้เสียชีวิต 13 ราย
 
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากไต้หวันส่งออกน้ำมันเบนซินลดลงจากโรงกลั่นที่ประสบปัญหาทางเทคนิค และอินเดียนำเข้าน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดในภูมิภาคตึงตัวมากขึ้น
 
ราคาน้ำมันมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ จากแรงซื้อของนักค้าน้ำมันในตลาดสิงคโปร์ เนื่องจากมองว่าความต้องการน้ำมันดีเซลในภูมิภาคน่าจะทรงตัวในช่วง 1-2 เดือนนี้
 
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
กรอบการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ ไทยออยล์คาดเบรนท์ยังคงอยู่ในกรอบเดิมที่ 98 - 106 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่เวสต์เท็กซัสอยู่ในกรอบ 90 -98 เหรียญฯ โดยในวันนี้ติดตามรายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน มิ.ย.  โดยสำนักสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) และโอเปก
 
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่
วันอังคาร: การผลิตภาคอุตสาหกรรมอังกฤษ ดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจของธุรกิจขนาดเล็กสหรัฐฯ
วันพุธ: ดุลบัญชีงบประมาณสหรัฐฯ อัตราการว่างงานอังกฤษ และการผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน
วันพฤหัส: รายงานเศรษฐกิจประจำเดือนจากธนาคารกลางยุโรป ยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน ยอดขายปลีกสหรัฐฯ
วันศุกร์: ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน ความรู้สึกของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ(ม.มิชิแกน) ดุลบัญชีเดินสะพัด และการผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ
 
- ติดตามรายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน มิ.ย. โดยสำนักสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) และโอเปก ในวันที่ 11 มิ.ย. รวมถึง รานงานของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ในวันที่ 12 มิ.ย. นี้
 
- การเลือกตั้งประธานาธิบดีของอิหร่านในวันที่ 14 มิ.ย. นี้ ที่มีผู้สมัครชิงตำแหน่ง ทั้งหมด 8 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ภักดีต่อผู้นำสูงสุด ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะไม่มีผลต่อการดำเนินโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านในปัจจุบัน
 
- จับตาความรุนแรงในซีเรียที่ยังคงยืดเยื้อ หลังทางการฝรั่งเศสเปิดเผยหลักฐานส่วนใหญ่บ่งชี้ว่ารัฐบาลมีการใช้อาวุธเคมีในการต่อสู้กับกลุ่มกบฎในสงครามกลางเมือง
 
- ติดตามการให้สิทธิพิเศษของเกาหลีใต้ต่อผู้น้ำเข้าน้ำมันดิบจากภูมิภาคอื่นนอกเหนือจากตะวันออกกลาง เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางและเพื่อแสดงถึงการสนับสนุนมาตรคว่ำบาตรที่มีต่อโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน
 
- การซ่อมบำรุงของแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในแถบทะเลเหนือที่จะเริ่มขึ้นในเดือน มิ.ย. โดยใช้เวลา 20 วัน ซึ่งจะทำให้อุปทานน้ำมันดิบบางส่วนหายไป
 
- รายงานเศรษฐกิจประจำเดือนของธนาคารกลางยุโรปต่อมุมมองในการดำเนินนโยบายต่างๆ หลังตัวเลขเศรษฐกิจโดยเฉพาะในตลาดแรงงานและภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัว
 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 มิ.ย. 2556 เวลา : 12:28:32

18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 12:21 pm