ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
แม่อายุ 108 ปีคว้ารางวัล 'แม่ 100 ปี' 2556 ม.มหิดล


งาน มหิดล - วันแม่ประจำปี 2556 ได้จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นปีที่ 28 แล้ว เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา มีการมอบรางวัลแก่แม่หลายประเภท สำหรับ “แม่ 100 ปี” เป็นรางวัลที่จัดขึ้นเพื่อประกาศเกียรติคุณแก่แม่ที่มีอายุยืนยาวถึง 5  แผ่นดิน และเพื่อเป็นข้อมูลวิชาการทางประากรศาสตร์เกี่ยวกับความยืนยาวชีวิตของประชากรไทย รวมทั้งเป็นข้อมูลให้ศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตและการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจของแม่ 100 ปีเหล่านี้ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นหลังต่อไป เป็นแม่ที่มีสุขภาพดี อายุ 100 ปีขึ้นไป

ในปีนี้มีผู้เสนอชื่อจำนวน 66 รายจากทั่วประเทศ มีผู้ได้รับคัดเลือก จำนวน 5 ท่าน ดังนี้คือ

-รางวัลแม่ 100  ปี ภาคเหนือ ได้แก่ แม่สิน มิ่งมิตร อายุ 103 ปี จังหวัดสุโขทัย

อาศัยอยู่กับบุตรคนสุดท้องที่อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มีบุตรธิดา รวม 7 คน ปัจจุบันบุตรคนโต  อายุ 78 ปี และบุตรคนสุดท้องอายุ  59 ปี อาชีพเดิมทำนา และทำไร่ถั่วเหลือง แม่สินเป็นคนอารมณ์ดี คุยเก่ง มีสายตาดี สามารถสนเข็มเย็บผ้าได้  เดินได้โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้า  แม่เป็นคนขยัน ชอบกวาดบ้าน  ดายหญ้า  มีความจำดี สามารถท่องบทสวดมนต์ยาวได้  อาหารที่กินเป็นประจำ คือ แตงโม สับปะรดกินกับข้าว ไม่ชอบกินอาหารมัน

- รางวัลแม่ 100 ปี ภาคอีสาน ได้แก่ แม่บัน โพธิรัตน์ อายุ 108 ปี

อาศัยอยู่กับบุตรชายคนโตที่อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ มีบุตรธิดา รวม 12 คน แต่เสียชีวิตตั้งแต่เล็กๆ จำนวน 7 คน  บุตรชายคนโตขณะนี้ อายุ 80 ปี  คนสุดท้องอายุ 71 ปี มีหลาน รวม 24 คน  แม้ว่าขณะนี้ แม่บัน  โพธิรัตน์  จะมีอายุ 108 ปีแล้วก็ตาม  ก็ยังสามารถเดินได้ ปลูกพืชผักต่าง ๆ โดยมีบุตรชายคนโตคอยช่วยเหลือ  ใส่เสื้อผ้าเองได้ หูตึง ตาข้างซ้ายเห็นไม่ชัด แต่สามารถเตรียมกับข้าวและกินข้าวได้เอง  โดยชอบกินอาหารรสไม่เผ็ด ไม่ชอบกินอาหารมันและแกงกะทิ อาหารที่กินเป็นประจำคือ ปลา ผักกาดเขียว และผักกุยช่าย

- รางวัลแม่ 100 ปี ภาคใต้ ได้แก่ แม่มูล ธรรมวุฒิ  อายุ 103  ปี 

อาศัยอยู่กับลูกสาวที่อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร มีบุตรธิดา รวม  10  คน  ปัจจุบันบุตรคนโตอายุ 80 ปี บุตรคนสุดท้องอายุ  56 ปี  อาชีพเดิมทำนา ทำสวน  แม่มูลเป็นคนอารมณ์ดี คุยเก่ง  ยังสามารถเดินได้โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้าช่วย รับประทานอาหารเองได้  ทำงานบ้าน  กวาดบ้าน ตามองเห็นได้ดี  ส่วนหูได้ยินไม่ชัดเจน  อาหารที่กินเป็นประจำ คือ ข้าวต้ม แกงจืด ต้มขาหมู ไม่กินอาหารรสเผ็ด

- รางวัลแม่ 100 ปี ภาคกลาง ได้แก่ แม่ย้วน  รอดอุไร  อายุ 101 ปี

อาศัยอยู่กับลูกสาว ที่อำเมือง จังหวัดชลบุรี มีบุตรธิดารวม  12  คน  ปัจจุบันบุตรคนโต อายุ 77 ปี  บุตรคนสุดท้องอายุ 59 ปี อาชีพเดิมค้าขาย นามสกุลเดิม คือ กุลวาณิชย์  อาศัยอยู่กับหลวงน้า ซึ่งบวชเป็นพระที่วัดเทพศิรินทร์ แม่มีฝีมือจัดดอกไม้ในวังด้วยฝีมืออันปราณีต ปัจจุบันแม่ย้วนยังช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวันได้เป็นอย่างดี สามารถเดินเหินเองได้โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้าช่วย  อาบน้ำเองได้ รับประทานอาหารเองได้ ตามองเห็นได้ดี หูก็ยังปกติดี อาหารที่ชอบกินเป็นประจำ คือ แกงจืดปลาเค็ม น้ำพริกกะปิไม่ใส่พริก ไม่ชอบอาหารรสเผ็ด มีสุขภาพจิตดี จิตใจดี รักลูกหลาน คำสอนที่แม่ย้วนมักจะสอนลูกๆ เสมอ คือ ให้ทำมาหากิน ซื่อสัตย์สุจริต และอย่าด่าว่าคนอื่น

- รางวัลแม่ 100 ปี กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ แม่หนู เปรมศิริ อายุ 104 ปี

อาศัยอยู่กับลูกสาวและหลานชายที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี  มีบุตรธิดา รวม 7 คน  ปัจจุบันบุตรคนโต อายุ 75 ปี  บุตรคนสุดท้องอายุ 60  ปี อาชีพเดิมทำนา ทำสวนผลไม้ ชีวิตแม่โตมากับน้ำตั้งแต่เด็ก แม่จึงมีสุขภาพที่แข็งแรงจากการทำสวน แม่เป็นคนจิตใจดี มีแต่ความเมตตาให้ลูกหลาน แม่หนูเดินได้โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้าช่วย แต่ในระยะที่ไม่ไกลมากนัก หุงข้าวเองได้ รับประทานอาหารเองได้  และเข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัวได้ ตามองเห็นได้ดี  ส่วนหูได้ยินไม่ชัดเจน  อาหารที่กินเป็นประจำ คือ ผักพื้นบ้านทุกชนิด ผักต้มน้ำพริก แกงส้ม แกงข่าไก่

สำหรับรางวัลแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จัดตั้งขึ้นตามแนวคิดที่ว่า สิ่งแวดล้อมดีเริ่มต้นที่แม่คัดเลือกแม่ที่มีบทบาทในการสนับสนุนให้ลูกเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมที่ดี และเป็นแม่ที่มีบทบาทสนับสนุนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสังคมอย่างเด่นชัด

ในปีนี้มีผู้เสนอชื่อจำนวน 42 รายจากทั่วประเทศ มีผู้ได้รับคัดเลือกจำนวน 4 ราย ดังนี้

- รางวัลแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภาคเหนือ ได้แก่ แม่สุนีพร หลี่จา  จังหวัดเชียงราย

ด้วยความสามารถทางภาษาที่สามารถสื่อสารกับชนเผ่ากระเหรี่ยง  แม่จึงเป็นผู้นำร่วมกับชุมชนบ้านปางสาในการริเริ่มจัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่จัน ระยะทาง 1 กิโลเมตร  ปัจจุบันนี้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งอนุรักษ์ปลาที่มีพันธุ์ปลาหลากหลายสายพันธุ์  นอกจากนี้แม่ยังเป็นหัวหน้าโครงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วย เพื่อปลูกป่า ถาวรเฉลิมพระเกียรติในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่จัน แม่สลอง  เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดินและเป็นแนวกันไฟเปียก  โดยถ่ายทอดให้เยาวชนในชุมชนรู้จักรักและหวงแหนป่าไม้ แม่ยึดหลักงานกับครอบครัวต้องไปด้วยกัน  การเรียนรู้จักประสบการณ์ตรงเป็นสิ่งสำคัญ จะทำให้ผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดรักษ์ และใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

- รางวัลแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภาคใต้ มีผู้ได้รับรางวัล 2 ท่าน คือ

1.แม่ฝาติม๊ะ  สลำยาดี  จังหวัดปัตตานี

การสอนลูกให้เป็นคนดี เปรียบเสมือนการรดน้ำพรวนดินต้นไม้ เพื่อรอวันผลิดอกออกผล  แม่ปลูกฝังให้ลูกทุกคนรู้รักสิ่งแวดล้อม โดยมีลูกสาวเข้ามาช่วยเหลือเป็นตัวแทนหมู่บ้านช่วยเหลือสังคม ในเครือข่ายรักษ์โลกที่น้ำตกทรายขาว ผลจากการศึกษาวิจัยสภาพน้ำตกทรายขาว ปรากฏว่าน้ำที่น้ำตกแห่งนี้มีสภาพดี และทำให้ลูกของแม่ได้รับรู้ถึงความลำบากในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ  ให้ปลอดภัยจากพวกนายทุน นอกจากนี้แม่ยังชวนคนในหมู่บ้านมาทำหมักชีวภาพ น้ำยาซักผ้า ยาสระผม เพื่อหวังว่าจะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น  แม่ฝาติม๊ะยังได้เข้าร่วมอบรมโครงอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นผู้ประสานงานระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล กับชุมชนบ้านทรายขาวในเรื่องสิ่งแวดล้อม และโครงการวิจัยพันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  โดยนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

2.แม่พูลทรัพย์  ศรีชู  จังหวัดสงขลา

ด้วยความคิดที่ว่าบ้าน โรงเรียน และชุมชน  เป็นหัวใจในการสร้างชุมชนและการศึกษา  รวมถึงการร่วมมือร่วมใจในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้เข้มแข็ง  แม่มองเห็นทรัพยากรถูกทำลายอย่างเห็นได้ชัด นาข้าวได้ผลผลิตไม่ดี วิถีตาลโตนดซึ่งมีความผูกพันกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง และทะเลสาบสงขลา แหล่งทำมาหากินของชาวบ้านอย่างยาวนาน กลับถูกลืมเลือน แม่พูลทรัพย์จึงเป็นแกนนำในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ชื่อว่า โหนด-นา-เลและจัดตั้งชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วิถีโหนด-นา-เล ของตำบลท่าหิน นอกจากนี้ แม่พูลทรัพย์ยังได้ประสานงานกับทางโรงเรียน ปลูกตาลโตนดเพิ่มบนคันนา และที่สาธารณะ แม่ยังนำเสนอต่อมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่องปัญหาปฏิกูล จากการเลี้ยงสุกร จากการประสานงานในครั้งนี้ แม่จึงได้บ่อแก๊ส จำนวน 6 บ่อ เพื่อนำสิ่งปฏิกูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดรายจ่าย ในครัวเรือน บทบาทของแม่พูลทรัพย์ คือ กระตุ้นให้ชุมชนเกิดความตระหนักในปัญหา และร่วมกันดูแลทรัพยากร และสภาพแวดล้อมที่กำลังจะหมดไป

-รางวัลแม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภาคกลาง ได้แก่ แม่กิมลี้ แซ่ตัน จังหวัดชัยนาท

ด้วยความรักหวงแหนป่า อันเป็นสมบัติของชุมชน แม่กิมลี้ แซ่ตัน จึงได้เป็นผู้นำชุมชนในการต่อต้านนายทุนที่จะมารับสัมปทานระเบิดเขารังไก่ ร่วมกับชุมชน ในการบุกเบิกและอนุรักษ์ป่าไม่ให้ใครมาบุกรุกพื้นที่  แม่ยังมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยผลักดันเขารังไก่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และส่งเสริมให้ชุมชนนำวัชพืช เช่น ผักตบชวามาจักสานเป็นของใช้ จนกลายเป็นสินค้าโอท็อป  ในขณะเดียวกันแม่กิมลี้ยังปลูกฝังให้ลูก ๆ ปลูกต้นไม้ และนำผลผลิตมาบริโภคในครัวเรือน เลือกใช้วัสดุที่ย่อยสลายง่าย  ลูกทุกคนรู้รักษ์พลังงาน และใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้แม่ที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัล แม่สู้ชีวิต” “แม่ 100 ปีและ แม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม”  ได้เข้ารับประทานรางวัล จาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในงาน มหิดล - วันแม่ในวันที่ 9  สิงหาคม 2556 ณ  สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา 


LastUpdate 10/08/2556 11:54:04 โดย : Admin

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 6:52 am