ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบปรับลด จากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดการณ์


 - ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับตัวลดลง หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ประกาศปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 20 ก.พ. 58 ปรับเพิ่มขึ้น 8.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 434.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ถึง 2 เท่าที่ระดับ 4 ล้านบาร์เรล และยังเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ เนื่องจากโรงกลั่นต่างๆ ในสหรัฐฯ ได้ลดกำลังการผลิตลงจากการปิดซ่อมบำรุงถึง 199,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 87.4% ของกำลังการผลิตทั้งหมด

 
+ แต่อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบเบรนท์ยังคงมีแรงสนับสนุนทำให้ราคาปรับลดลงไม่มากนัก หลังจากที่นาย อาลี อัล-ไนมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงปิโตรเลียมและทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ออกมาประกาศว่าอุปสงค์น้ำมันดิบจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ประกอบกับความกังวลต่อการหยุดส่งก๊าซธรรมชาติของรัสเซียไปให้ยูเครน หากยูเครนไม่สามารถชำระค่าก๊าซธรรมชาติล่วงหน้าได้ และอาจทำให้การส่งก๊าซธรรมชาติไปยุโรปได้รับผลกระทบไปด้วย
 
- ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน ม.ค. ปรับลดลง 0.7% ต่อเนื่องจากเดือน ธ.ค. ที่ปรับลดลง 0.3% ซึ่งปรับลดลงมากกว่าที่นักเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 0.6% โดยปรับลดลงในหมวดของพลังงานเป็นหลัก
 
+/- ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซน เดือน ก.พ. ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. มาอยู่ที่ระดับ -7.0 ซึ่งเท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ เป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในยูโรโซนน่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
 
+ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ เดือน ม.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 2.8% ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.0 % ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าธุรกิจต่างๆ ได้มีการเพิ่มการลงทุนมากขึ้นในช่วงต้นปีนี้ 
 
ราคาน้ำมันเบนซิน  ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานที่ลดลงจากการเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ และในภูมิภาคเอเซีย รวมไปถึงการประท้วงหยุดงานอย่างต่อเนื่องในสหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตามอุปสงค์ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันเบนซินรายใหญ่ของภูมิภาคยังคงมีไม่มากนัก
 
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีอุปสงค์เพิ่มขึ้นจากทางด้านยุโรป ศรีลังกาและจอร์แดน ประกอบกับมีอุปทานที่ลดลงจากการเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมันต่างๆ 
 
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 58-63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
 
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
 ติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) วันที่ 5 มี.ค. ต่อความคืบหน้าของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดย ECB จะเริ่มอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ในเดือน มี.ค. นี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาและรับมือกับภาวะเงินฝืดในยูโรโซน โดย ECB จะดำเนินมาตรการ QE เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวจะมีมูลค่าอย่างน้อย 1.1 ล้านล้านยูโร (1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยมาตรการนี้จะมีผลตั้งแต่เดือน มี.ค. 2558 จนถึงเดือน ก.ย. 2559
 
โรงกลั่นน้ำมันสหรัฐฯ ในเขต East Coast ยังคงได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดิบอ่อนตัวลง นอกจากนี้การชะลอการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปทำให้ตลาดเกิดความกังวลต่อปริมาณอุปทานของกลุ่มน้ำมันสำหรับทำความร้อนที่อาจตึงตัวในระยะสั้น
 
 ติดตามทิศทางเศรษฐกิจของกรีซและยูโรโซน หลังจากที่รัฐมนตรีคลังยูโรโซนอนุมัติให้ขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซออกไปอีก 4 เดือน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการอนุมัติแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลกรีซไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ก.พ.58 โดยกรีซจะดำเนินการตามแผนปฏิรูปเศรษฐกิจนี้ในเดือน ก.ค.  ซึ่งมาตรการต่างๆ ประกอบด้วย การปราบปรามการเลี่ยงภาษี การจัดตั้งระบบการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น การแก้ปัญหาการลักลอบขนส่งเชื้อเพลิงและยาสูบ การปฏิรูปด้านแรงงาน ซึ่งทางยูโรโซนเผยว่าแผนการดังกล่าวค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ ทำให้ตลาดเริ่มผ่อนคลายความกังวลจากการที่กรีซอาจจะต้องเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ และพ้นจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน 
 
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันพฤหัสดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ - ม.ค.
ความเชื่อมันผู้บริโภคยูโรโซน - ก.พ.
ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ - ม.ค.
วันศุกร์จีดีพีสหรัฐฯ - Q4/14
ดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) สหรัฐฯ - ก.พ.
รายจ่ายในการบริโภคของบุคคลสหรัฐฯ - Q4/14    
ดัชนีความเชื่อมันผู้บริโภคสหรัฐฯ (Reuters/Michigan) - ก.พ.
ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (Chicago PMI) - ก.พ.
วันอาทิตย์ดัชนีภาคการผลิตจีน (PMI) - ก.พ.
ดัชนีภาคการบริการจีน (PMI) - ก.พ.
วันจันทร์ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน (Markit PMI) - ก.พ.
ดัชนีราคาผู้ผลิตยูโรโซน (Markit PMI) - ก.พ.
ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (ISM PMI) - ก..พ
วันอังคารดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน - ม.ค.
ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (Markit PMI) - ก.พ.
วันพุธยอดค้าปลีกยูโรโซน - ม.ค.
วันศุกร์จีดีพียูโรโซน - Q4/14
รายได้นอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ - ก.พ.
อัตราการว่างงานสหรัฐฯ - ก.พ.
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ก.พ. 2558 เวลา : 09:22:22

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 10:16 pm