ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น หลังสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด และอุปทานน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลง


+ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับเพิ่มขึ้น หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 เม.ย. 58 ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 1.3 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 483.69 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 4.1 ล้านบาร์เรล และยังนับเป็นตัวเลขที่ปรับเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 58 ทางด้านปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 2.1 ล้านบาร์เรล ซี่งมากกว่าที่คาดการณ์ว่าจะลดลงเพียง 200,000 บาร์เรล

+ นอกจากนี้อุปทานที่ลดลงในสหรัฐฯ ยังช่วยหนุนราคาให้ปรับเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยตัวเลขปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัฐนอร์ทดาโคตาในเดือน ก.พ. 58 ปรับลดลง 15,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 58 ไปแตะที่ระดับ 1.175 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากหินดินดาน (Shale Oil) ในเดือน พ.ค. 58 มีแนวโน้มลดลง 45,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 4.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 4 ปี

+ รายงานประจำเดือนของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้ปรับทบทวนคาดการณ์การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันดิบในปี 2558 เพิ่มขึ้น 90,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 93.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงกว่าปี 2557 อยู่ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จะมีความต้องการพลังงานมากขึ้น เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ความอบอุ่นท่ามกลางสภาพอากาศที่คาดว่าจะหนาวเย็นขึ้น ประกอบกับการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก สำหรับการผลิตน้ำมันดิบในอเมริกาเหนือในช่วงครึ่งปีหลัง ถูกปรับทบทวนลง 160,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ IEA คาดว่าอุปสงค์น้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปค จะอยู่ที่ 30.35 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ในเดือนที่แล้วอยู่เล็กน้อย 

- อย่างไรก็ดี IEA รายงานว่าการผลิตน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปคปรับเพิ่มขึ้น 890,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค. สู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปีที่ 31.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากซาอุดิอาระเบียเพิ่มการผลิตสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับอุปทานที่ฟื้นตัวในอิรักและลิเบีย

+/- คณะกรรมการธนาคารกลางยุโรป(ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ระดับเดิม 0.05% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นไปตามที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ โดยนายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรปกล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ของกรีซ และได้เตรียมเงินทุนฉุกเฉินเพื่อรับมือกับกรณีของกรีซต่อกรณีการผิดนัดชำระหนี้เอาไว้แล้ว โดยยืนยันว่า ECB จะเดินหน้าใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ต่อไป จนกว่าเงินเฟ้อของยูโรโซนจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยตลาดน้ำมันเบนซินปรับตัวดีขึ้น หลังมีอุปสงค์เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับอุปทานในภูมิภาคยังคงลดลง เนื่องจากโรงกลั่นหลายรายยังคงปิดซ่อมบำรุงอยู่ นอกจากนี้อุปทานที่ลดลงยังมาจากตัวเลขปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินของประเทศญี่ปุ่นประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 เม.ย. 58 ปรับลดลง 6.1% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า  

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากตลาดน้ำมันดีเซลค่อนข้างซบเซา หลังอุปสงค์ในประเทศจีนที่ลดน้อยลงโดยเฉพาะอุปสงค์จากภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่อุปทานในประเทศเวียดนามปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ตลาดน้ำมันดีเซลยังถูกกดดันจากการที่โรงกลั่นในภูมิภาคเตรียมเพิ่มการส่งออกน้ำมันดีเซลหลังจากเสร็จสิ้นการซ่อมบำรุง

ทิศทางราคาน้ำมันดิบ

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 57-63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

 ติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ในเดือน มิ.ย. ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (Fed Funds Rate) หรือไม่ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ได้คงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำที่ร้อยละ 0 - 0.25 มานานกว่า 6 ปี หากเฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นและกดดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับลดลงได้ อย่างไรก็ดี รายงานการประชุม FOMC เมื่อวันที่ 17-18 มี.ค. ที่ผ่านมาระบุว่า เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายการเงินของเฟดยังคงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นที่ว่าเฟดควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย.หรือไม่ ล่าสุด ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเปิดเผยว่าเฟดน่าจะสามารถรอต่อไปจนถึงปี 59 สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากมีความเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงต้องใช้เวลากว่าที่อัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานจะกลับสู่ระดับปกติ ดังนั้น เฟดควรจะรอจนกว่าจะถึงครึ่งปีหลังของปีหน้าเพื่อขึ้นอัตราดอกเบี้ย และค่อยๆ ปรับขึ้นทีละน้อยจนแตะระดับร้อยละ 2 ในปลายปี 60 อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจากเฟดบางส่วนมีความเห็นว่า เฟดมีแนวโน้มที่อาจจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในเดือน มิ.ย. 58 นี้ ถึงแม้ว่าข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐฯ ในรอบเดือนที่ผ่านมา ยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอก็ตาม โดยให้เหตุผลว่าหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้าเกินไปอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจมากกว่า และสนับสนุนให้เฟดดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างช้าๆ เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

จับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 15 เม.ย.นี้ว่าจะมีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไปในทิศทางใด รวมถึงติดตามความคืบหน้าการดําเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และความคืบหน้าปัญหาการเจรจาหนี้ระหว่างรัฐบาลกรีซและกลุ่มเจ้าหนี้ โดยล่าสุด ECB เปิดเผยในวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ ECB ได้ซื้อพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันต่างๆ ในสหภาพยุโรปทั้งสิ้นรวมเป็นวงเงิน 4.74 หมื่นล้านยูโร และหากพิจารณารวมการซื้อพันธบัตร Covered Bond และหลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (ABS) ด้วยแล้ว ECB ก็สามารถบรรลุเป้าการซื้อพันธบัตรในวงเงิน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนแล้วในเดือนมี.ค. ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความมุ่งมั่นของ ECB ที่จะอัดฉีดเงินรวมกว่า 1 ล้านล้านยูโรเพื่อที่จะผลักดันเศรษฐกิจยูโรโซน และกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อ 

อุปสงค์น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 2 นี้ หลังโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้ โดยล่าสุด โรงกลั่นหลักในอินเดีย เกาหลี และไต้หวัน อาจทยอยกลับมาดำเนินการผลิตตามปกติในช่วงปลายเดือน เม.ย. นี้

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม

วันพุธ อัตราดอกเบี้ยยูโรโซน

วันพฤหัสบดี จีดีพีจีน - Q1/15

วันศุกร์ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ - มี.ค.


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 เม.ย. 2558 เวลา : 11:11:53

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 11:49 am