ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 14-18 ก.ย.58 และสรุปสถานการณ์ฯ 7-11 ก.ย.58


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 45 – 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 47 – 53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล   

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (14 – 18 ก.ย. 58)   
  

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มแกว่งตัวอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางของสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 16 – 17 ก.ย. นี้ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นและกดดันราคาน้ำดิบ นอกจากนี้ สภาวะเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันจากจีนมีแนวโน้มที่จะปรับลดลง อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง ตัวเลขคาดการณ์กำลังการผลิตของสหรัฐฯ และจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ลดลงก็เป็นปัจจัยที่เข้ามาพยุงราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  

จับตาการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC)ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในวันที่ 16 – 17 ก.ย. นี้ ว่าจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้แต่อาจจะเป็นการปรับตัวขึ้นอย่างช้าๆ จากการที่ตัวเลขแรงงานของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยล่าสุด กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เผยว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 5.75 ล้านตำแหน่งในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2543 ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 5.1% จาก 5.3% ในเดือน ก.ค. ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งขึ้น
  

จับตาความไม่สงบในตะวันออกกลางหลังล่าสุดกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม หรือ ไอซิส ได้บุกเข้ายึดครองบ่อน้ำมันจาซาล ซึ่งเป็นบ่อน้ำมันแห่งสุดท้ายที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลซีเรียแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ บ่อน้ำมันจาซาลเป็นบ่อน้ำมันขนาดกลาง ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองโบราณ พัลไมรา ซึ่งถูกกลุ่มไอซิสยึดครองอยู่ และอยู่ใกล้กับแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของประเทศซีเรียอีกด้วย อย่างไรดี แม้ว่าซีเรียจะไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ แต่อาจทำให้ตลาดกังวลว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะบานปลายและส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆ ในตะวันออกกลางได้
  

ติดตามเศรษฐกิจจีนว่าจะดำเนินไปในทิศทางอย่างไรต่อไป หลังเศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมาชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกดดันราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่บริโภคน้ำมันดิบเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยล่าสุดตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนปรับตัวลดลงแล้วกว่าร้อยละ 13.4 หรือประมาณ 6.26 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ส.ค. นอกจากนี้ ตลาดหุ้นจีนก็ปิดร่วงต่อเนื่องเมื่อวันจันทร์ที่ 7 ก.ย. จากการที่นักลงทุนเทขายหลังตลาดเปิดทำการเป็นวันแรกจากที่หยุดติดต่อกันเป็นเวลา 4 วัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าทางการจีนจะพยายามออกมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของจีน หรือ CSRC เปิดเผยว่ารัฐบาลจีนได้เตรียมมาตรการปฏิรูปเพื่อปรับปรุงกรอบการทำงานด้านกฎหมาย และยกระดับการกำกับดูแลตลาด โดยอาจจะใช้กลไกต่างๆ เช่น มาตรการหยุดการซื้อขายชั่วคราวกรณีที่ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์โดยรวมเกิดการเปลี่ยนแปลงลดลงอย่างผิดปกติ (circuit breaker) เข้ามาช่วยพยุงภาวะตลาดในช่วงนี้
  

การที่ราคาน้ำมันดิบยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นถึงอัตราการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เผยตัวเลขคาดการณ์กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปี 59 ว่าจะลดลง 400,000 บาร์เรลต่อวันสู่ระดับ 8.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลงกว่า 1 ล้านบาร์เรล เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตสูงสุดในปี 58 ที่ 9.61 ล้านบาร์เรล และคาดว่าจะลงไปอยู่ที่ระดับต่ำสุดที่ 8.63 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ส.ค. ปี 59  นอกจากนี้ Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (สิ้นสุดวันที่ 4 ก.ย.) ปรับลดลง 13 หลุม สู่ระดับ 662 หลุม ซึ่งถือเป็นการลดลงครั้งแรกจากที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 สัปดาห์  
  

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีกของจีน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน  ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (7 – 11 ก.ย. 58)

  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 44.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.47 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 48.14 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 45 เหรียญสหรัฐฯ โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น ประกอบกับ API รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ก.ย. 58 ปรับเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 459 ล้านบาร์เรล สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงสนับสนุนจากการประกาศตัวเลข GDP เฉลี่ยของกลุ่มประเทศยูโรโซนประจำไตรมาส 2 ที่ปรับตัวสูงขึ้นราวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 1.5 จาก
ปีก่อนหน้า

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ก.ย. 2558 เวลา : 11:31:56

16-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 16, 2024, 2:57 pm