ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวก ขณะที่จำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันสหรัฐฯ ลด


+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเวลา 2 วันติดต่อกัน  หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีดาวโจนส์ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 1% ปิดที่ 16,314.67 จุด ในวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังจากที่ร่วงติดต่อกันเป็นเวลา 3  วัน โดยตลาดขานรับการที่สหรัฐฯ ออกมาเผยตัวเลขจีดีพี ในไตรมาส 2/58 ที่ขยายตัวที่ 3.9% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 3.7% นอกจากนี้ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ได้ออกมาส่งสัญญาณย้ำชัดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ ในการประชุมที่เมืองแอมเฮิร์สท์ รัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ก็ส่งผลให้นักลงทุนคลายความกังวลต่อความไม่ได้แน่นอนของตลาดลงไปได้บ้าง
  

+ จํานวนแท่นขุดเจาะนํ้ามันและก๊าซในสหรัฐฯ ที่เริ่มปรับตัวลดลง ซึ่งในสัปดาห์นี้มีการปรับลดลงอีกครั้ง หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยล่าสุด Baker Hughes รายงานวจํานวนแท่นขุดเจาะนํ้ามันและก๊าซในสหรัฐฯ ลดลงอีก 4 หลุม เหลือ 640 หลุม สิ้นสุดสัปดาห์ที่ 25 ก.ย. 58 ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เดือน ก.ค. หลังจากที่ลดลงไปกว่า 31 หลุมเมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ก็ปรับลดลงด้วยเช่นกัน  โดยลดลงจาก 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากประมาณช่วงปลายเดือน พ.ค.ถึงกลางเดือน ก.ค. มาอยู่ที่ราว 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อสัปดาห์ล่าสุด
  

-/+ บริษัท Markit Economics ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลทางการเงิน ได้เปิดเผยตัวเลข ดัชนีภาคการบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ (Markit Service PMI) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 55.6 ในเดือน ก.ย. จากระดับ 56.1 ในเดือน ส.ค.  โดยหากดัชนีภาคการบริการอยู่สูงกว่าระดับ 50 จะบ่งชี้ถึงภาวะการขยายตัวของภาคบริการ ซึ่งดัชนีภาคบริการของสหรัฐฯ ได้ปรับตัวอยู่เหนือระดับ 50 ติดต่อกันมาเป็นเดือนที่ 23

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ อย่างไรก็ดี อุปสงค์น้ำมันเบนซินในภูมิภาคยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีนก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวในเดือนตุลาคม นอกจากนี้ การปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นก็ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบเบนซินปรับตัวลดลงซึ่งก็ถือเป็นแรงหนุนราคาน้ำมันดิบเบนซินในขณะนี้
  

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงหนุนจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในภูมิภาคทำให้ช่วยบรรเทาภาวะอุปทานล้นตลาด นอกจากนี้  ยังได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากการที่อุปสงค์ในแอฟริกาตะวันตก เวียดนาม และพม่า ที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี  ตัวเลขการส่งออกน้ำมันดีเซลของจีนมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่เบาบาง

ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
  

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวที่กรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 46-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง
  

ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจจีน หลังดัชนีภาคการผลิต (Caixin PMI) ขั้นต้นในเดือน ก.ย. ปรับตัวลดลงจาก 47.3 ในเดือน ส.ค. แตะระดับ 47 ต่ำสุดในรอบ 6 ปีครึ่ง ซึ่งตัวเลขที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีนยังคงชะลอตัวจากดัชนีราคาและอุปสงค์ภายนอกประเทศที่อ่อนตัว โดยตลาดยังคงจับตาดัชนีภาคการผลิต (PMI) ขั้นสุดท้ายในประจำเดือน ก.ย.  ที่จะประกาศในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ทั้งนี้ ล่าสุดธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยว่าอัตราการเติบโตของเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาในเอเชียมีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีนสร้างความเสียหายให้กับอุปสงค์โดยรวมในภูมิภาค นอกจากนี้  ADB คาดการณ์ว่าจีนที่เป็นกลไกหลักในการผลักดันอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จะขยายตัวที่ร้อยละ 6.8 ในปีนี้ ลดลงจากร้อยละ 7.2 ในการคาดการณ์ครั้งก่อน ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ระดับต่ำสุดในรอบ 25 ปี เป็นต้นมา
  

ตลาดมองว่าการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่คงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 0 - 0.25  ต่อไป เพิ่มความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางของนโยบาย โดยนักลงทุนบางส่วนได้ปรับการคาดการณ์เรื่องเวลาที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยออกไปถึงปี 59 ถึงแม้ว่า Fed จะยังเน้นย้ำถึงความตั้งใจที่จะปรับขึ้นในปีนี้

  

ผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปกยังคงไม่มีทีท่าว่าจะลดปริมาณการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบ โดยยังคงผลิตน้ำมันดิบเหนือระดับ 31 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยล่าสุด ตัวแทนกลุ่มโอเปกจากคูเวตได้กล่าวในที่ประชุมที่สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตต์ว่ากลุ่มโอเปกยืนยันที่จะผลิตน้ำมันดิบในปริมาณที่สูงต่อเนื่องเพื่อจะรักษาฐานลูกค้าไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าสมาชิกในกลุ่มโอเปกอาจจะได้รับผลกระทบเรื่องราคาน้ำมันดิบตกต่ำก็ตาม
  

จับตาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดลงต่อเนื่อง โดยรายงานล่าสุดของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 18 ก.ย. ปรับลดลง 19,000 บาร์เรลลด สู่ระดับ 9.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับสูงสุดในเดือน มิ.ย. 58 ที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ บางส่วนชะลอการผลิตและขุดเจาะน้ำมันดิบจากภาวะราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำ นอกจากนี้ จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง ซึ่งตลาดมองว่าการปรับลดลงนี้เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน ก.ค.

 


 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ก.ย. 2558 เวลา : 11:05:14

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 1:39 am