ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบปรับลด จากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงและความกังวลต่อเศรษฐกิจจีน


- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับตัวลดลง เนื่องจากตลาดหุ้นดาวโจนส์และ S&P ของสหรัฐฯ ปรับลดลงมากกว่า 2-3% ซึ่งถือว่าเป็นไตรมาสที่แย่ที่สุดในรอบ 4 ปี โดยตลาดหุ้นดาวโจนส์ปิดอยู่ที่ระดับ 16001.89 จุด และตลาดหุ้น S&P ปรับลดลดงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี มาปิดอยู่ที่ระดับ 1881.77 จุด มีสาเหตุมาจากนักลงทุนมีความกังวลต่อเศรษฐกิจของจีน และการคาดการณ์การปรับอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
  

- ความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของจีนยังคงส่งผลกดดันราคาน้ำมัน โดยผลกำไรเดือน ส.ค. ของบริษัทอุตสาหกรรมของประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการบริโภคเป็นอันดับสูงสุดในโลกนั้น ปรับลดลงอย่างรวดเร็วในรอบ 4 ปี เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์ปรับลดลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นไปตามการส่งสัญญาณถึงความอ่อนตัวของเศรษฐกิจจีนที่ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ประกอบกับตลาดหุ้นจีนที่ร่วงลง ทำให้ผลกำไรจากการลงทุนลดลง ขณะที่การผันผวนของค่าเงินหยวนนั้นส่งผลให้บริษัทต่างๆ มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
  

+ แต่อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากตัวเลขคาดการณ์ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่จุดส่งมอบน้ำมันดิบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ซึ่งประกาศโดย Genscape ว่าปรับลดลงมากกว่า 1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ผลสำรวจของ Reuters นั้นออกมาในทิศทางเดียวกันว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังปรับตัวลดลงเช่นกัน แต่ปรับลดลงประมาณ 500,000 บาร์เรล ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเวลา 3 สัปดาห์
  

+ รายจ่ายการบริโภคของบุคคลสหรัฐฯ เดือน ส.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 0.3% ซึ่งเป็นค่าทางด้านต่ำสุดในตัวเลขการคาดการณ์ และมีการปรับตัวน้อยกว่าเดือนที่ผ่านมาที่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 0.5% ตัวเลขที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นมีสาเหตุหลักมาจากเงินค่าจ้างและเงินเดือนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น
  

- ดัชนีสัญญาการซื้อบ้านที่รอการปิดการขายสหรัฐฯ เดือน ส.ค. ปรับตัวลดลง 1.4% ซึ่งสวนทางกับตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.5% จึงทำให้ตัวเลขการซื้อขายบ้านในเดือนหน้านั้นยังคงทรงตัวอยู่ในระดับเดิม
  

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีปริมาณอุปทานที่ลดน้อยลงจากการที่โรงกลั่นต่างๆ ในสิงคโปร์ อินเดีย และมาเลเซีย ปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาล ขณะที่อุปสงค์ก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง
  

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีอุปสงค์จากพม่าและเวียดนามเข้ามา ขณะที่อุปทานมีปริมาณลดน้อยลงจากการที่โรงกลั่นในเอเซียเหนือลดกำลังการผลิตลง และโรงกลั่นที่ปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉิน

ทิศทางราคาน้ำมันดิบ

  

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวที่กรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 46-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  

ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจจีน หลังดัชนีภาคการผลิต (Caixin PMI) ขั้นต้นในเดือน ก.ย. ปรับตัวลดลงจาก 47.3 ในเดือน ส.ค. แตะระดับ 47 ต่ำสุดในรอบ 6 ปีครึ่ง ซึ่งตัวเลขที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีนยังคงชะลอตัวจากดัชนีราคาและอุปสงค์ภายนอกประเทศที่อ่อนตัว โดยตลาดยังคงจับตาดัชนีภาคการผลิต (PMI) ขั้นสุดท้ายในประจำเดือน ก.ย.  ที่จะประกาศในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ทั้งนี้ ล่าสุดธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยว่าอัตราการเติบโตของเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาในเอเชียมีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีนสร้างความเสียหายให้กับอุปสงค์โดยรวมในภูมิภาค นอกจากนี้  ADB คาดการณ์ว่าจีนที่เป็นกลไกหลักในการผลักดันอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จะขยายตัวที่ร้อยละ 6.8 ในปีนี้ ลดลงจากร้อยละ 7.2 ในการคาดการณ์ครั้งก่อน ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ระดับต่ำสุดในรอบ 25 ปี เป็นต้นมา
  

ตลาดมองว่าการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่คงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 0 - 0.25  ต่อไป เพิ่มความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางของนโยบาย โดยนักลงทุนบางส่วนได้ปรับการคาดการณ์เรื่องเวลาที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยออกไปถึงปี 59 ถึงแม้ว่า Fed จะยังเน้นย้ำถึงความตั้งใจที่จะปรับขึ้นในปีนี้
  

ผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปกยังคงไม่มีทีท่าว่าจะลดปริมาณการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบ โดยยังคงผลิตน้ำมันดิบเหนือระดับ 31 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยล่าสุด ตัวแทนกลุ่มโอเปกจากคูเวตได้กล่าวในที่ประชุมที่สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตต์ว่ากลุ่มโอเปกยืนยันที่จะผลิตน้ำมันดิบในปริมาณที่สูงต่อเนื่องเพื่อจะรักษาฐานลูกค้าไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าสมาชิกในกลุ่มโอเปกอาจจะได้รับผลกระทบเรื่องราคาน้ำมันดิบตกต่ำก็ตาม
  

จับตาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดลงต่อเนื่อง โดยรายงานล่าสุดของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 18 ก.ย. ปรับลดลง 19,000 บาร์เรลลด สู่ระดับ 9.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับสูงสุดในเดือน มิ.ย. 58 ที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ บางส่วนชะลอการผลิตและขุดเจาะน้ำมันดิบจากภาวะราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำ นอกจากนี้ จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง ซึ่งตลาดมองว่าการปรับลดลงนี้เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน ก.ค.

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 ก.ย. 2558 เวลา : 10:53:02

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 8:01 pm