ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดการขุดเจาะลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน


+ ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นหลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ยังคงปรับลดการขุดเจาะน้ำมันดิบลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 5 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยจากรายงานของ Baker Hughes ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 2 ต.ค. 58 พบว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบปรับลดลงถึง 26 หลุม มาอยู่ที่ระดับ 614 หลุม ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีนับตั้งแต่ ส.ค. 53 หลังจากที่ปรับลดลงไปก่อนหน้านี้ 35 หลุมในช่วง 4 สัปดาห์ก่อนหน้า โดยผลจากการปรับลดการขุดเจาะน้ำมันดิบลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับสูงสุดในปีนี้ที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  

-/+ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ในเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้นเพียง 142,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะเพิ่มขึ้น 203,000 ตำแหน่ง หลังการจ้างงานในภาคอุตสาหรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์มีการชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี การจ้างงานในภาคบริการยังคงเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนียังมีการปรับลดการจ้างงานใน 2 เดือนที่ผ่านมาลง 59,000 ตำแหน่ง ในณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวอยู่ที่ระดับ 5.1% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบกว่า 7 ปี หรือนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 51 โดยจากตัวเลขการจ้างงานในช่วงที่ผ่านมาที่ค่อนข้างชะลอตัวลง ส่งผลให้นักลงทุนปรับลดความเชื่อว่า FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ธ.ค. ลงเหลือร้อยละ 30 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 50
  

-  ในช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ผ่านมา ศูนย์เฮอร์ริเคนแห่งชาติของสหรัฐฯ (NHC) ได้ปรับลดระดับความรุนแรงของพายุเฮอร์ริเคน Joaquin ลงมาเหลือความรุนแรงในระดับ 3 นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าพายุดังกล่าวได้เริ่มเคลื่อนตัวออกจากหมู่เกาะบาฮามาสแล้วและได้มีการเคลื่อนตัวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือแทนด้วยระดับความเร็วประมาณ 7 ไมล์ต่อชั่วโมง โดยล่าสุดพายุ Joaquin คาดจะถูกลดระดับลงมาเป็นพายุธรรมดาในเวลาต่อมา ส่งผลให้ความกังวลว่าพายุดังกล่าวจะกระทบต่อการผลิตน้ำมันทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ซึ่งมีกำลงการกลั่นรวมทั้งสิ้นประมาณ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวันลดลง
  

- ในการประชุม G20 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีของซาอุดิอาระเบียกล่าวว่า ซาอุฯ จะยังคงเดินหน้าลงทุนสำรวจและผลิตน้ำมัน รวมถึงการสร้างโรงกลั่น และการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์ต่อไป แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะยังคงอยู่ในระดับต่ำก็ตาม โดยถ้อยแถลงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโอกาสที่กลุ่มโอเปกจะปรับลดกำลังการผลิตมีโอกาสค่อนข้างน้อย ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวสอดคล้องกับรัสเซียที่นายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมากล่าวว่าไม่มีแผนที่จะร่วมมือกับผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกเพื่อปรับลดปริมาณการผลิตลง
  

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอินโดนีเซีย ผู้นำเข้ารายใหญ่ของเอเชีย คาดจะนำเข้าลดลงในเดือน ต.ค. โดยจากการประมาณการในเดือน ต.ค. คาดอินโดนีเซียจะนำเข้าประมาณ 10.14 ล้านบาร์เรล ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 10.54 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ดี ราคายังคงได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันเบนซินที่ยังคงตึงตัวเนื่องจากโรงกลั่นยังคงปิดซ่อมบำรุงในระดับสูง
  

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานน้ำมันดีเซลในตลาดยังคงอยู่ในระดับสูง โดยปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังที่สิงคโปร์อยู่ในระดับที่สูงแม้ว่าในช่วงนี้โรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคจะมีการปิดซ่อมบำรุงก็ตาม แสดงให้เห็นถึงอุปสงค์น้ำมันดีเซลที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนตัวลง

ทิศทางราคาน้ำมันดิบ

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวที่กรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 46-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

จับตาพายุ เฮอร์ริเคน โจควิน (Joaquin) ในมหาสมุทรแอตแลนติก ที่กำลังทวีความแรงจากพายุโซนร้อนเป็น เฮอร์ริเคนระดับ 3 ที่เคลื่อนตัวผ่านหมู่เกาะบาฮามาสในมหาสมุทรแอตแลนติก และมีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นฝั่งทางตะวันออกของสหรัฐฯ รวมถึง New York Harbor ซึ่งเป็นจุดส่งมอบหลักของน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลในสหรัฐฯ ทั้งนี้ พายุดังกล่าวอาจส่งผลให้การผลิตน้ำมันสำเร็จรูปของโรงกลั่น 9 แห่งในฝั่งตะวันออก ซึ่งมีกำลังผลิตราว 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ได้รับผลกระทบไปด้วย
  

ภาพเศรษฐกิจจีนยังคงกดดันราคาต่อเนื่อง หลังดัชนีภาคการผลิตจีน (Caixin PMI) เดือน ก.ย. ที่ปรับลดลงต่อเนื่องมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปีครึ่ง ขณะที่ตัวเลขภาคการผลิตจีนที่เน้นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (NBS PMI) เดือน ก.ย. ก็ยังคงอยู่ในภาวะหดตัว ส่งผลให้ตลาดกังวลว่าเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวจะทำให้ความต้องการใชน้ำมันลดลงตาม
  

จํานวนแท่นขุดเจาะนํ้ามันในสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงต่อเนื่องกว่า 5 สัปดาห์ติดต่อกันและมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงไตรมาส  4 ของปีนี้  โดยรายงานล่าสุด Baker Hughes รายงานจํานวนแท่นขุดเจาะนํ้ามันในสหรัฐฯ สิ้นสุดสัปดาห์ที่ 2 ต.ค.58 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 614 หลุม ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีส่งผลให้เห็นการปรับลดลงของกำลังผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ที่เริ่มลดลงสู่ 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ที่ผ่านมา
  

ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย. ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดการณ์ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนเชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจจะยังไม่ปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปในเดือน ต.ค. สำหรับการประชุมในเดือน ธ.ค. มีนักลงทุนเพียง 30% เท่านั้นที่เชื่อว่า FED จะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นลดลง

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ต.ค. 2558 เวลา : 11:26:56

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 10:47 pm