ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
โพลเผยประชาชนกังวลภัยแล้ง กลัวไม่มีน้ำกิน-ใช้


สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้ง เป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,158 คน ระหว่างวันที่ 23-27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

 

ผลสำรวจพบว่าส่วนใหญ่ค่อนข้างวิตกกังวลถึงวิตกกังวลมาก โดยประชาชน 52.85% รู้สึกค่อนข้างวิตก เพราะปริมาณฝนตกเฉลี่ยในแต่ละพื้นที่น้อยลง ฝนทิ้งช่วง กลัวไม่มีน้ำกิน น้ำใช้ ประชาชนในหลายพื้นที่ต้องแย่งน้ำกัน สภาพแวดล้อม ธรรมชาติเสื่อมโทรม ฟื้นฟูไม่ทัน ฯลฯ ขณะที่มีประชาชน 24.87% รู้สึกวิตกกังวลมาก เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆลดลง ภาคเกษตรกรรมประสบปัญหา ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ การเสนอข่าวภัยแล้งมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ฯลฯ

แต่มีประชาชน 18.65% ไม่ค่อยวิตก เพราะเชื่อมั่นในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล มีโครงการฝนเทียมที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ฯลฯ และอีก 3.63% ไม่วิตก เพราะที่ผ่านมาไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากนัก เชื่อว่าบ้านเมืองจะสามารถผ่านวิกฤติภัยแล้งนี้ได้ หากมีการรณรงค์และกระตุ้นให้ทุกฝ่ายช่วยกัน ฯลฯ

สำหรับวิธีการรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งของประชาชนอันดับ 1 คอยติดตามข่าวภัยแล้ง พยากรณ์อากาศ การประกาศแจ้งเตือนต่างๆของภาครัฐ 78.50%, อันดับ 2 ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หาวิธีรับมือ วางแผนการใช้น้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด 75.13%, อันดับ 3 หาอุปกรณ์ภาชนะที่มีขนาดใหญ่สำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ยามขาดแคลน 69.95%, อันดับ 4 ช่วยแนะนำ บอกต่อให้ทุกคนตระหนักและให้ความร่วมมือ ปลูกป่า รักษาสิ่งแวดล้อม 62.95% และอันดับ 5 ขุดน้ำบาดาล หาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้เอง 52.59% ส่วนพฤติกรรมการใช้น้ำของประชาชนในขณะนี้ส่วนใหญ่ 71.76% ใช้น้ำอย่างประหยัดกว่าปกติ เพราะเชื่อว่าสถานการณ์ภัยแล้งยาวนานมากขึ้น ควรใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและเป็นประโยชน์มากที่สุด ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือบ้านเมืองและเพื่อตัวเราเองจะได้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างพอเพียง ฯลฯ ส่วนประชาชนที่เหลืออีก 28.24% ยังใช้น้ำเหมือนเดิม เพราะใช้ตามปกติเท่าที่จำเป็น ไม่ได้เป็นคนใช้น้ำสิ้นเปลือง ใช้น้ำประหยัดอยู่แล้ว ฯลฯ

สิ่งที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้ง อันดับ 1 คือ การแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เช่น การสร้างฝาย เขื่อน ขุดลอกคูคลองต่างๆ ฟื้นฟูป่าและหาแหล่งน้ำเพิ่ม 84.72%, อันดับ 2 มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน เอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะการช่วยเหลือเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อน 77.98%

อันดับ 3 การบริหารจัดการน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ 71.24%, อันดับ 4 รณรงค์ ประกาศ แจ้งเตือนให้ประชาชนตื่นตัวเรื่องภัยแล้ง เห็นคุณค่าของน้ำและใช้อย่างประหยัด 68.39% และอันดับ 5 ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนลงพื้นที่จัดประชุมเพื่อรับทราบปัญหาและแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน 63.47%


บันทึกโดย : วันที่ : 28 ก.พ. 2559 เวลา : 10:10:12

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:33 pm