ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 7-11 มี.ค. 59


 


ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 7-11 มี.ค. 59ราคาน้ำมันดิบผันผวน จับตาการเจรจาระหว่างผู้ผลิตในกลุ่มโอเปคและรัสเซียในช่วงกลางเดือน มี.ค. นี้
 
          

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (7-11 มี.ค. 59)
          
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะผันผวน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของผลการหารือระหว่างประเทศสมาชิกในกลุ่มโอเปคและรัสเซียที่จะคงระดับกำลังการผลิตไว้ให้เท่ากับเดือน ม.ค. 59 นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐยังคงมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสะท้อนภาวะน้ำมันดิบล้นตลาดที่ยังไม่คลี่คลาย อย่างไรก็ดี สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว และมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นภายในปีนี้ และมองว่าตลาดจะเริ่มเข้าสู่ภาวะสมดุลในปี 2017
         
 ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
         
- ติดตามการประชุมนัดพิเศษระหว่างประเทศสมาชิกในกลุ่มโอเปคและรัสเซียที่จะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือน มี.ค. โดยล่าสุดนายยูโรจิโอ เดล ปิโน รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของเวเนซูเอล่า คาดว่าจะมีผู้ผลิตน้ำมันดิบมากกว่า 15 ประเทศที่จะเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เพื่อที่จะหารือถึงการคงระดับกำลังการผลิตไว้ให้เท่ากับเดือน ม.ค. 59 และรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันดิบ
          
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ยังคงมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนภาวะน้ำมันดิบล้นตลาดที่ยังไม่คลี่คลาย โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ประจำสัปดาห์ (สิ้นสุด ณ วันที่ 26 ก.พ.) ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 10.4 ล้านบาร์เรล เป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ถึง 3 เท่า แตะระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 518 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นผลมาจากกำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐ ที่เริ่มปรับลดลงในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประจำไตรมาส 1 ประกอบกับมีการปรับลดอัตราการกลั่นลงหลังจากค่าการกลั่นอ่อนตัวลง รวมไปถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 66.3 ล้านบาร์เรล
 
         
 - สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว และมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นภายในปีนี้ และตลาดจะเริ่มเข้าสู่ภาวะสมดุลในปี 2017 อย่างไรก็ตาม IEAระบุว่า ถ้าหากผู้ผลิตในสหรัฐ ยังคงการผลิตอยู่ในระดับสูง ภาวะสมดุลของอุปสงค์และอุปทานอาจจะเลื่อนออกไปในปี 2018 นอกจากนี้ หากราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงระดับ 40-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ในสหรัฐ กลับมาเริ่มผลิตอีกครั้ง
         
 - จับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 10 มี.ค. นี้ โดย ECB ได้ส่งสัญญาณว่าจะพิจารณาการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งขณะนี้มีวงเงินอยู่ที่ 6 หมื่นล้านยูโร/เดือน นอกจากนี้ ECB อาจพิจารณาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่นำเงินมาฝากไว้ที่ ECB จากขณะนี้ที่ระดับ -0.3% ซึ่งหมายความว่าธนาคารพาณิชย์ที่นำเงินส่วนเกินมาพักไว้ที่ ECB จะต้องเป็นฝ่ายจ่ายค่าฝากแก่ ECB โดยมาตรการของ ECB มีขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินไปปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากภาวะเงินฝืด และผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนปรับเข้าสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ซึ่งล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติของสหภาพยุโรป (Euro Stat) รายงานว่าอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนอยู่ที่เพียง -0.2% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          
- จับตาการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในวันที่ 15-16 มี.ค. นี้ โดยตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและมีแนวโน้มที่จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.25 - 0.50% โดยพิจารณาจากการเปิดเผยรายงานการประชุม Fed เมื่อวันที่ 26 - 27 ม.ค. 59 ในรายงานการประชุมแสดงให้เห็นว่า Fed ยังคงกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และแรงเทขายในตลาดการเงิน ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ส่งผลให้ Fed อาจพิจารณาปรับแผนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐในปี 2559 และอาจจะไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 4 ครั้งในปี 2559 ตามที่เคยส่งสัญญาณในการประชุมเดือน ธ.ค. 58
         
 - ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ปริมาณการส่งออกจีน จีดีพี Q4/15 ยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน ดัชนีราคาผู้ผลิตจีน ยอดค้าปลีกจีน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน และการลงทุนทางตรงของจีน และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ
         
 สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (29 ก.พ. - 4 มี.ค. 59)
         
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.14 ดอลลาร์ ปิดที่ 35.92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.62 ดอลลาร์ ปิดที่ 38.72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 32 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังตลาดได้รับแรงหนุนจากข่าวการหารือระหว่างผู้ผลิตในกลุ่มโอเปคและนอกกลุ่มโอเปคเพื่อคงกำลังการผลิตไว้ ณ ระดับการผลิตเดือน มกราคม และหามาตรการอื่นๆ ที่น่าจะเป็นไปได้ในการรักษาเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐที่ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์มากกว่า 500 ล้านบาร์เรล
         

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 มี.ค. 2559 เวลา : 08:09:11

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:41 am