ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
มท. เผยงบมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของปชช.ก่อหนี้ผูกพันแล้วกว่า 3.2 หมื่นลบ.


 


 มท. เผยงบมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน ก่อหนี้ผูกพันแล้วกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท   ยืนยันเม็ดเงินจะสามารถกระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากได้ตามเป้าหมาย
 

นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลมอบหมายให้ดำเนินโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน โดยจัดสรรงบประมาณดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว เป็นจำนวนเงิน 42,368.42 ล้านบาท และขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 11 มี.ค. 59) การดำเนินงานโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน โดยภาพรวมสามารถก่อหนี้ผูกพันแล้ว เป็นจำนวนเงิน 32,704.67 ล้านบาท และมียอดการเบิกจ่ายงบประมาณตามมาตรการต่างๆ เป็นจำนวนเงิน 15,736.85 ล้านบาท ได้แก่ 

1.มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) ได้รับอนุมัติโครงการจากสำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่แล้วจำนวน 121,527 โครงการ เป็นเงิน 36,254.78 ล้านบาท ได้ก่อหนี้ผูกพัน 27,937.88 ล้านบาท และเบิกจ่ายแล้ว 11,946.32 ล้านบาท 2.มาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ได้รับการอนุมัติโครงการ จำนวน 3,800 โครงการ เป็นเงิน 3,114.95 ล้านบาท ได้ก่อหนี้ผูกพัน 2,323.96 ล้านบาท และเบิกจ่ายแล้ว 1,856.00 ล้านบาท 3.โครงการสนับสนุนการจัดหาเครื่องจักรกลทางการเกษตรให้แก่กลุ่มสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ได้รับอนุมัติโครงการ จำนวน 412 รายการ เป็นเงิน 247.51 ล้านบาท ดำเนินการในพื้นที่ 21 จังหวัด ได้ก่อหนี้ผูกพัน 156.39 ล้านบาท และเบิกจ่ายแล้ว 121.72 ล้านบาท และ 4.มาตรการส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทยได้รับงบประมาณ 4,105 รายการ เป็นเงิน 2,286.44 ล้านบาท ได้ก่อหนี้ผูกพัน 2,286.44 ล้านบาท และเบิกจ่ายแล้ว 1,812.81 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากได้ตามเป้าหมาย

โดยเฉพาะการดำเนินงานโครงการของงบตำบลละ 5 ล้านบาท ซึ่งในภาพรวมมีความคืบหน้าในการดำเนินงานเป็นที่น่าพึงพอใจ และข้อมูลจากระบบ GFMIS มีหลายจังหวัดที่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก เช่น จังหวัดนราธิวาส เบิกจ่ายแล้วร้อยละ 91.01 ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร 385 ล้านบาท จังหวัดสกลนคร เบิกจ่ายแล้วร้อยละ 82.45 ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร 625 ล้านบาท และจังหวัดกาญจนบุรี เบิกจ่ายแล้วร้อยละ 78.59 ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร 490 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการเร่งรัดติดตามการดำเนินงานและการเบิกจ่ายงบประมาณตามมาตรการดังกล่าว รวมทั้งกำชับให้ทุกจังหวัด กำกับดูแลและตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสและคุ้มค่าในทุกๆ โครงการในพื้นที่ และรับฟังปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการ

 พร้อมทั้งหาวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และจากการตรวจติดตามผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้การดำเนินงานล่าช้า อาทิเช่น เรื่องการขออนุญาตใช้พื้นที่ในการดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่สาธารณประโยชน์ พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ปัญหาเรื่องบุคลากรเจ้าหน้าที่การเงินระดับอำเภอ (เสมียนตราอำเภอ) มีไม่เพียงพอ ปัญหาเรื่องการกำหนดราคากลาง และการตรวจการจ้าง ปัญหาเรื่องการรับจ้างงาน กรณีผู้รับจ้างในระดับอำเภอมีจำนวนจำกัด แต่มีปริมาณงานจ้างเป็นจำนวนมาก ปัญหาความไม่เสถียรของระบบอินเทอร์เน็ต ส่งผลทำให้การรับส่งข้อมูลในการดำเนินงานมีความล่าช้า ปัญหาการตรวจรับงาน โดยเฉพาะการตรวจรับงานโครงการก่อสร้างที่มีเนื้องานคอนกรีต ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ระยะเวลาในการบ่มคอนกรีตอายุ 28 วัน ส่งผลทำให้การเบิกจ่ายเงินล่าช้า เนื่องจากผู้ตรวจรับงานรอระยะเวลาการบ่มคอนกรีตตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ตลอดจนปัญหาความไม่ชัดเจนในเรื่องอำนาจในการอนุมัติเปลี่ยนแปลงโครงการ เป็นต้น ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้งบประมาณตามมาตรการดังกล่าว มีห้วงระยะเวลาดำเนินการที่จำกัด โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลา 3 สัปดาห์ที่เหลือ ที่ทุกจังหวัดจะต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ได้รับจัดสรรให้ทันตามกำหนดระยะเวลา จึงเกรงว่าระบบอาจจะรองรับไม่ทัน ดังนั้นเพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมายจึงจำเป็นจะต้องทำการก่อหนี้ผูกพันโดยการจองเงินในระบบ (PO) ไว้ก่อนในทุกๆโครงการ ภายใน 31 มีนาคมนี้ ซึ่งพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งและต้องการให้แต่ละหน่วยงานเร่งก่อหนี้ผูกพันให้ได้มากที่สุด โดยได้มอบเป็นนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ในแต่ละพื้นที่ลงไปกำกับติดตาม ตรวจสอบดูแลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้ประสานขอความร่วมมือกับหน่วยงานตรวจสอบ อาทิ ป.ป.ช. และ สตง.เข้าร่วมเป็นกลไกตรวจสอบและให้คำแนะนำในการดำเนินงานกับผู้ปฏิบัติงานด้วย เพื่อให้ทุกโครงการและทุกงบประมาณ เป็นไปอย่างโปร่งใส คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ.
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 มี.ค. 2559 เวลา : 08:58:39

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:06 am