ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ก.ล.ต.สั่งปรับผู้บริหาร-กล่าวโทษบอร์ด GLOBAL พร้อมพวกกรณีอินไซเดอร์


 ก.ล.ต. เปิดเผยกรณีคณะกรรมการเปรียบเทียบมีคำสั่งเปรียบเทียบผู้กระทำผิด 4 ราย ได้แก่ (1) นายวิทูร               สุริยวนากุล (2) นางสาวกุณฑี สุริยวนากุล  (3) นายอภิลาศ สุริยวนากุล และ (4) นายเกรียงไกร สุริยวนากุล  เป็นเงินรวม 25,322,064.39 บาท กรณีอาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้นสามัญบริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (GLOBAL) และใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญบริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (GLOBAL-W)  และกล่าวโทษผู้กระทำผิด 2 ราย ได้แก่ (1) นายสุรศักดิ์ จันโทริ และ (2) นายเอกกมล จันโทริ กรณีอาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้น GLOBAL


 
ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตรวจสอบเพิ่มเติมพบพยานหลักฐานว่า นายวิทูรกับพวกรวม 4 คน ได้ซื้อและเป็นผู้รับประโยชน์จากการซื้อหุ้น GLOBAL และ GLOBAL-W โดยนายวิทูร ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารของ GLOBAL มีอำนาจตัดสินใจเงื่อนไขความตกลงระหว่าง GLOBAL กับบริษัท เอสซีจี ดีสทริบิวชั่น จำกัด (SCG) บริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% โดยบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในการที่ SCG จะเข้าถือหุ้นในบริษัท GLOBAL ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมด 
ด้วยการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ GLOBAL จะออกเสนอขายให้แบบเฉพาะเจาะจง โดย SCG จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ GLOBAL บางส่วน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ธุรกิจของ GLOBAL แข็งแกร่งขึ้น

ข้อตกลงดังกล่าวเพิ่งได้รับการเปิดเผยต่อประชาชนเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2555 แต่พบว่าระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน - 23 สิงหาคม 2555 นายวิทูรได้อาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้น GLOBAL จำนวน 8,022,881 หุ้น และ GLOBAL-W จำนวน 3,500,700 หน่วย ผ่านบัญชีบุคคลใกล้ชิดอื่นหลายบัญชี และได้รับความช่วยเหลือจากนางสาวกุณฑี นายอภิลาศ และนายเกรียงไกรให้มีการซื้อและชำระค่าซื้อหลักทรัพย์

ส่วนกรณีนายสุรศักดิ์ ก.ล.ต. พบพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าล่วงรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเข้าร่วมทุนดังกล่าว จากการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระของ GLOBAL ได้ซื้อหุ้น GLOBAL จำนวน 75,000 หุ้น ในวันที่ 22 สิงหาคม 2555 ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายเอกกมล

การซื้อหลักทรัพย์โดยอาศัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชน ถือเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก เข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก เป็นความผิดตามมาตรา 241 ซึ่งมีระวางโทษตามมาตรา 296  แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 

นายวิทูร นางสาวกุณฑี นายอภิลาศ และนายเกรียงไกร กระทำผิดตามมาตราข้างต้น จึงได้รับการลงโทษทางอาญาโดยการถูกปรับ คณะกรรมการเปรียบเทียบจึงได้เปรียบเทียบนายวิทูร เป็นเงิน 24,322,064.40 บาท และเปรียบเทียบนางสาวกุณฑี นายอภิลาศ และนายเกรียงไกรในฐานะผู้สนับสนุน เป็นเงินรายละ 333,333.33 บาท 

ส่วนนายสุรศักดิ์และนายเอกกมลไม่ยินยอมเข้ารับการเปรียบเทียบความผิด  ก.ล.ต. จึงได้กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และนายสุรศักดิ์ยังขาดความน่าไว้วางใจให้เป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดีอีกด้วย  

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลยุติธรรม
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 มี.ค. 2559 เวลา : 18:43:34

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 12:50 pm