ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมอนามัย เตือนประชาชนพื้นที่แล้ง เลี่ยงใช้ขวดพลาสติกซ้ำตุนน้ำดื่ม


  

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชน เลี่ยงนำขวดน้ำพลาสติกมาใช้ซ้ำในช่วงขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่เสี่ยงอันตรายจากการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย หากจำเป็นต้องใช้ควรมีการทำความสะอาดที่ถูกวิธี พร้อมย้ำให้ดื่มน้ำที่สะอาดเท่านั้น
         
 
 นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในบางพื้นที่ของประเทศไทย กำลังประสบปัญหา ภัยแล้ง ทำให้ขาดแคลนน้ำในการบริโภคและอุปโภค และต้องใช้น้ำอย่างประหยัด ทำให้ประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง มีการนำขวดพลาสติกเปล่าที่ผ่านการใช้งานแล้วมาใส่น้ำเก็บไว้เพื่อดื่มหรือใช้ในครัวเรือนนั้น บางครั้งขวดพลาสติกเหล่านั้นไม่ได้ผ่านการทำความสะอาดที่ถูกวิธี โดยเฉพาะบริเวณปากขวดและฝาขวดที่เกิดจากการใช้ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้ขวดน้ำกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียที่มักพบมากในน้ำบรรจุขวดพลาสติกที่มีการเติมน้ำซ้ำๆ กันหลายครั้ง ซึ่งผลจากการเก็บน้ำดื่มบรรจุขวดโดยกรมอนามัย ตั้งแต่ปี 2554 - 2557 พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 76.47, 72.64, 78.1 และ 73.91 ตามลำดับ พบมีการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย ประชาชนจึงควรให้ความสำคัญระมัดระวังในเรื่องความสะอาด เพราะการขัดถูเพื่อล้างทำความสะอาดขวดน้ำ อาจทำให้เกิดรอยขูดขีดหรือการบุบชำรุดของขวด ที่เกิดจากการนำมาใช้ซ้ำมีแนวโน้มให้เกิดการปนเปื้อนสะสมของเชื้อโรค นอกจากนี้หากขวดน้ำตั้งอยู่ในบริเวณที่มี ความร้อนหรือได้รับแสงแดดอาจมีความเสี่ยงจากสารเคมีจากจากขวดพลาสติกปนเปื้อนลงในน้ำที่อยู่ในขวดได้
          
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า กรณีที่จำเป็นต้องนำขวดพลาสติกเก่ามาใช้ก็ควรทำความสะอาดให้ทั่วถึง และต้องสังเกตลักษณะของขวด หากมีรอยชำรุด รั่ว แตกร้าว บุบ ก็ไม่ควรนำมาใช้ หรือหากเป็นขวดที่มีการปนเปื้อนดิน ก็ควรหลีกเลี่ยงในการนำมาใช้ซ้ำเช่นกัน และสำหรับพื้นที่ทุรกันดารที่ขาดแคลนน้ำสะอาด ก่อนนำมาดื่มควรต้มให้เดือดอย่างน้อย 5นาที เก็บในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด ส่วนการนำน้ำจากแม่น้ำ ลำคลอง หรือแหล่งน้ำผิวดินแหล่งอื่นๆ มาใช้โดยตรง ควรปรับปรุงคุณภาพน้ำและฆ่าเชื้อโรคก่อน ด้วยการแกว่งสารส้มชนิดก้อนในน้ำและให้สังเกตตะกอนในน้ำ หากเริ่มจับตัวให้นำสารส้มออกตั้งทิ้งไว้จนตกตะกอน แล้วนำเฉพาะน้ำใสมาฆ่าเชื้อโรคโดยใช้หยดทิพย์ อ.32ของกรมอนามัย ซึ่งเป็นสารละลายคลอรีนชนิดเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วน 1หยดต่อน้ำ 1ลิตร หรือเติมผงปูนคลอรีนตามปริมาณที่กำหนด จากนั้นปล่อยให้มีระยะเวลาฆ่าเชื้อโรคอย่างน้อย 30นาที ก่อนนำไปใช้ ซึ่งจะช่วยป้องกันเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในน้ำ
         
"ทั้งนี้ ก่อนตักน้ำใส่ภาชนะบรรจุ ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของจุลินทรีย์จากมือที่ไม่สะอาด รวมทั้งทำความสะอาดแก้วน้ำ ภาชนะเก็บน้ำดื่มต่างๆ หลังการใช้งานเพื่อเป็นการป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคอุจจาระร่วงที่อาจตามมาได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 มี.ค. 2559 เวลา : 13:29:07

18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 12:40 pm