ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
รมว.พลังงานถกทวิภาคี "มาเลเซีย -สปป.ลาว" ในงานเซต้า 2016


 


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทย พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ ร่วมหารือแบบทวิภาคีกับรัฐมนตรีด้านพลังงานของมาเลเซียและสปป.ลาว โดยการหารือร่วมกับมาเลเซียมีข้อสรุปว่าจะเพิ่มความร่วมมือด้านพลังงานทดแทนระหว่างกันมากขึ้นโดยเฉพาะด้านไบโอแมส และพลังงานจากแสงอาทิตย์ ในขณะที่ สปป.ลาว เสนอขายไฟฟ้าไทยเพิ่มผ่านระบบสายส่ง
 
 
 

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงการเจรจาทวิภาคี ภายในงาน การประชุมและนิทรรศการนานาชาติพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2559 (SETA 2016) ระหว่างพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีพลังงานของไทย และ Dr. Maximus Johnity Ongkili Minister of Energy, Green Technology and Water ของมาเลเซีย ว่า ทางรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้กล่าวชื่นชมถึงการจัดงานเซต้า 2016 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดขึ้นเป็นครั้งแรกว่าประสบความสำเร็จและได้รับความสนใจจากคนในวงการพลังงานจากนานาประเทศ พร้อมทั้งเชิญชวนให้ไทยเข้าร่วมงาน IGM ที่ทางมาเลเซียจะจัดขึ้นในลักษณะเดียวกันนี้ ในช่วงเดือนมิถุนายน ปีนี้  

รัฐมนตรีทั้งสองประเทศได้หารือกันถึงความร่วมมือที่จะส่งเสริมพลังงานทดแทนให้มากยิ่งขึ้นทั้งในส่วนของไบโอแมส และพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ทางมาเลเซียมีนโยบายที่จะสนับสนุน รวมทั้งการเชื่อมโยงระบบสายส่งและแลกเปลี่ยนไฟฟ้าที่มากขึ้นของทั้งสองประเทศในอนาคตด้วย

สำหรับในการหารือทวิภาค ระหว่างรัฐมนตรีพลังงานของไทยกับ นายวีระพน วีระวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ของ สปป.ลาว นั้น ทางฝ่ายลาวเสนอที่จะให้ไทยรับซื้อจากลาวในลักษณะผ่านระบบสายส่งที่เชื่อมต่อกัน (Grid to Grid) เนื่องจาก สปป. มีโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กจำนวนมาก ที่ยังมีไฟฟ้าเหลือที่จะส่งขายให้กับไทย จากเดิมที่การซื้อขายไฟฟ้ากับ สปป.ลาวนั้น เป็นแบบทำสัญญาซื้อโดยตรงไปที่โครงการโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้เสนอให้ทาง สปป.ลาว ได้มีการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าให้มีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกันกับไทยเสียก่อน
 

นายทวารัฐ ยังกล่าวถึงการบรรยายในหัวข้อ Thailand Energy Blueprint ให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาในงานเซต้า 2016 ด้วยว่า แผนบูรณาการด้านพลังงานดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน คือการกระจายเชื้อเพลิงจากเดิมที่ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูง โดยหันมาเพิ่มสัดส่วนของเชื้อเพลิงถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ควบคู่ไปกับการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทน ก่อให้เกิดความมั่งคั่งด้านเศรษฐกิจ โดยมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่สะท้อนต้นทุน เป็นธรรมกับผู้บริโภค และมีความยั่งยืน โดยมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม




 

LastUpdate 24/03/2559 15:39:22 โดย : Admin

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 4:13 am