ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นฟ้องคลัง-พลังงาน-ปตท.ปมคืนท่อก๊าซไม่ครบ


 


วันนี้ (4 เม.ย.) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกรณีการไม่คืนท่อก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดและการนำท่อก๊าซซึ่งเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินไปแสวงหาประโยชน์ โดยเป็นการฟ้องกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดีจำนวน 11 ราย ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 และไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อให้ศาลปกครองมีคำพิพากษา 
 
 
 
 

นายศรีราชา กล่าวว่า ผู้ตรวจการฯ ได้ติดตามตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเป็นเวลากว่า 3 ปี และพบว่ากระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 และไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย จึงมีมติให้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่ง 


ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่งดังต่อไปนี้
         
 1.ขอให้เพิกถอนมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.50 และวันที่ 10 ส.ค.53 ในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สิน ประกอบด้วย ที่ดินที่ได้จากการเวนคืน สิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินเอกชน และทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ระบุไว้ในคำพิพากษาของศาล คือ โครงการท่อบางปะกง-วังน้อย, โครงการท่อจากชายแดนไทยพม่า-ราชบุรี และโครงการท่อราชบุรี-วังน้อย รวมถึงโครงการท่อย่อย ซึ่งมีมูลค่าทางบัญชี ณ วันที่ 30 ก.ย.44 ประมาณ  16,175 ล้านบาท เนื่องจากมติ ครม.ดังกล่าวเกิดจากการแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จของ รมว.พลังงาน (นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6
          
2.ให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และ PTT ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้กระทรวงการคลังตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 30 ก.ย.44 จำนวน 68,569 ล้านบาท ซึ่ง PTT ได้คืนไปแล้วประมาณ 16,175 ล้านบาท ดังนั้น PTT ยังคงต้องโอนคืนทรัพย์สินให้แก่กระทรวงการคลังอีกจำนวนไม่น้อยกว่า 52,393 ล้านบาท รวมทั้งค่าตอบแทนและผลประโยชน์อื่นใดจากการใช้ทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้แก่ ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์และทรัพย์สินอื่น และสิทธิหรือสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนที่ PTT ได้อาศัยใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการ พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายกำหนดให้ครบถ้วนต่อไป
         
 3.เพิกถอนการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ PTT ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎ

นายศรีราชา กล่าวอีกว่า กรณีนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้เวลากว่า 3 ปี ในการตรวจสอบ จึงได้ข้อมูลกว่า 96 รายการ รวมทั้งข้อมูลที่ได้จากสตง. ที่พบว่ามีท่อก๊าซอีกกว่า 50 รายการที่ยังไม่ได้เปิดเผย ซึ่งเชื่อว่าเป็นหลักฐานที่มีความแน่นพอในการยื่นฟ้องครั้งนี้ เพราะมีเอกสารประกอบคำฟ้องกว่า 500 หน้า สำหรับผู้ถูกฟ้องคดีมีจำนวน 11 ราย ได้แก่ กระทรวงการคลัง นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีตรมว.คลัง นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง ร.ต.หญิงระนองรัตน์ สุวรรณฉวี อดีตรมช.คลัง กระทรวงพลังงาน นายปิยะสวัสดิ์ อัมมะระนันท์ อดีตรมว.พลังงาน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรมว.พลังงาน นายประสิทธิ์ สืบชนะ อดีตรองอธิบดี กรมธนารักษ์ นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อดีตที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทปตท.ฯ 

อย่างไรก็ตามการตรวจสอบบริษัทปตท. ในครั้งนี้ ยังทำให้เชื่อมโยงพบเรื่องการจัดเก็บภาษีเข้ากองทุนน้ำมันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้ตรวจฯได้มีการโต้แย้งไปแล้วก่อนหน้านี้ เพราะเห็นการจัดเก็บภาษีต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ไม่สามารถทำได้โดยคำสั่งฝ่ายบริหาร อีกทั้งขณะนี้ยังมีคำร้องเกี่ยวกับปตท.อีก 2-3 เรื่อง เช่น การสร้างแทงค์เก็บน้ำมันขนาดใหญ่ที่มีราคาสูงเกินความจำเป็น

อนึ่งกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากศาลปกคองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.50 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ คือ คณะรัฐมนตรี, นายกรัฐมนตรี, รมว.พลังงาน และ PTT ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ PTT 
          
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.50 ครม.มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงานเกี่ยวกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจและสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดย ครม.มอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าวแล้วให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ทั้งนี้หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป
          
การดำเนินการตามมติ ครม.ดังกล่าว กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และ PTT ได้ร่วมกันเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อในทะเลและบนบกที่เป็นทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง รวมทั้งระบบท่อที่ได้ก่อสร้างในที่ดินของรัฐภายหลังการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน โดยไม่มีผลตอบแทนคืนให้แก่รัฐ 
          
โดย PTT ได้รายงานผลการดำเนินการตามคำพิพากษาอันเป็นเท็จนี้ต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.51 ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพยืสินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิในการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ PTT ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว

มีรายงานข่าวว่านายศรีราชา มีความตั้งใจจะตรวจสอบเรื่องปตท.ให้แล้วเสร็จก่อนที่จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินในวันนี้ (4 เม.ย.) จึงทำให้มีการแถลงและส่งคำร้องไปยังศาลปกครองในวันดังกล่าว นอกจากนี้นายศรีราชา ยังระบุอีกว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังมีเรื่องร้องเรียนสนามบินสุวรรณภูมิ บริษัท คิงส์พาวเวอร์ และการคิดค่าเก็บเอฟพีของการไฟฟ้า ที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบที่ต้องดำเนินให้แล้วเสร็จ
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 เม.ย. 2559 เวลา : 15:03:14

24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 9:21 am