ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ตั้งคณะทำงานบูรณาการแก้ปัญหาคลองแสนแสบภายใน 2 ปี


 


วันนี้(28 เม.ย. 59) เวลา 09.30 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมการควบคุมระบายน้ำทิ้งของสถานประกอบการเพื่อการฟื้นฟูคลองแสนแสบ โดยมี ดร.วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอดิศักดิ์ ขันตี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายวิวัฒน์ จิรัฐติกาลสกุล CEO นิคมอุตสาหกรรมเหมราช ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ กทม. และผู้อำนวยการเขต 13 เขต ซึ่งมีพื้นที่ติดกับคลองแสนแสบ ร่วมประชุม ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า)

 
ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายเร่งรัดควบคุมมลพิษ ทั้งทางอากาศ ขยะ และน้ำเสีย ที่เกิดจากการผลิตและการบริโภคเพื่อสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับประชาชน โดยให้มีการปรับปรุงคลองแสนแสบให้สะอาดภายใน 2 ปี และได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาคลองแสนแสบให้สะอาด เป็นต้นแบบในการจัดการปัญหาน้ำเสียในแม่น้ำลำคลองอื่น
 
 
 
โดยในส่วนของกรุงเทพมหานครได้รับมอบหมายให้ดำเนินการปรับปรุงทัศนียภาพ 2 ฝั่งคลองให้มีความสวยงาม พร้อมให้ความรู้ความเข้าใจกับคนในชุมชน เพื่อให้ร่วมมือกันวางแผนและสร้างระบบการจัดการของเสียที่มีประสิทธิภาพ สร้างเครือข่ายเพื่อคืนความสะอาดให้คลองแสนแสบ การนำกระบวนการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งควบคุมโรงงานควบคุมคุณภาพน้ำและโรงงานปรับปรุงคุณภาพน้ำให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานคร ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษผลักดันการแก้ปัญหาคลองแสนแสบให้เกิดขึ้นได้จริง

สำหรับการดำเนินการบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน มีโรงควบคุมคุณภาพน้ำ 8 แห่งที่เปิดดำเนินการแล้ว คือ โรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา รัตนโกสินทร์ ช่องนนทรี หนองแขม ทุ่งครุ ดินแดง จตุจักร และบางซื่อ โดยทั้ง 8 แห่งมีความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย รวม 1.12 ล้านลบ.ม./วัน นอกจากนี้ยังมีโครงการบำบัดน้ำเสียอีก 4 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ธนบุรี คลองเตย และบึงหนองบอน ซึ่งจะมีความสามารถในการบำบัดน้ำเสียรวม 665,000 ลบ.ม./วัน ทั้งนี้โครงการบำบัดน้ำเสียที่ครอบคลุมพื้นที่คลองแสนแสบ ได้แก่ โครงการบำบัดน้ำเสียบึงกุ่ม โรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง โครงการบำบัดน้ำเสียมีนบุรี โครงการบำบัดน้ำเสียวังทองหลาง โครงการท่อรวบรวมน้ำเสียเพิ่มเติมในพื้นที่เขตห้วยขวางเข้าโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง และงานระบบท่อรวบรวมน้ำเสียช่วงถนนวิทยุ – คลองตัน เข้าโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การฟื้นฟูคลองแสนแสบเป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานร่วมกันทำมานานแล้ว แต่ยังพบข้อจำกัดหลายด้าน เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลมีนโยบายเดินหน้าเร่งรัดปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบในระยะเวลาอันสั้น ทั้งนี้คลองแสนแสบมีปัญหาด้านกายภาพมากมาย มีการเชื่อมโยงกับคลองต่างๆ กว่า 100 คลอง การจะทำให้คอลงแสนแสบดีขึ้นจึงจำเป็นต้องดูแลคลองอื่นด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญ คือ มิติด้านสังคม ผู้ประกอบการและชุมชนที่ไม่มีการบำบัดน้ำเสียก่อนทิ้ง และยังทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูลลงคลองโดยตรง จำเป็นต้องมีการดูแลปัญหานี้ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งทุกหน่วยงานควรทำงานร่วมกัน ทั้งการสร้างเครือข่ายภาคเอกชน และภาคประชาชนเพื่อให้บรรลุผลในระยะเวลาที่ต้องการ

ด้าน รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ทุกหน่วยงานได้ชี้แจงข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตนเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในคลองแสนแสบ อาทิ การดำเนินการบำบัดน้ำเสียในส่วนของกรุงเทพมหานคร การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการดูแลบำบัดน้ำเสียของนิคมอุตสาหกรรม และการรายงานข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษที่พบว่ามีผู้ประกอบการกว่า 70% ที่มีการทิ้งน้ำเสียลงในคลองแสนแสบอย่างไม่ถูกต้อง ที่ประชุมจึงเห็นควรให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและร่วมกันผลักดันแผนงานให้คลองแสนแสบเป็นคลองที่ใสสะอาด โดยจะมีการประชุมต่อเนื่องทุกเดือน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ และสร้างความร่วมมือกับภาคประชาชน ใน 21 เขตที่มีพื้นที่เชื่อมต่อกับคลองแสนแสบเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
 
 
โดยในขณะนี้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2 ปีตามที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งกรุงเทพมหานครมีหน้าที่ในการพัฒนากายภาพของคลองแสนแสบ อาทิ การรวบรวมน้ำเสียจาก 101 คลองไปบำบัดที่สถานีบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีเพิ่มอีกหลายพื้นที่ในอนาคต การพิจารณาขุดลอกตะกอนคลองแสนแสบเพื่อให้สามารถรับปริมาณน้ำได้มากและสะดวกขึ้น เพื่อให้คลองแสนแสบสามารถเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนใช้เป็นเส้นทางระบายน้ำป้องกันปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่เมือง และเป็นเส้นทางส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับกรุงเทพมหานครในอนาคต




 

LastUpdate 28/04/2559 17:49:28 โดย : Admin

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:07 am