ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมคร.เผย2เดือนพบผู้ป่วยสงสัยเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน21ราย


กรมควบคุมโรคเผยต้นปี 2559 เกือบ 2 เดือนพบผู้ป่วยที่สงสัยเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน 21 ราย เกือบทั้งหมดเป็นเพศชาย แนะไม่ควรทิ้งเด็ก/ผู้สูงอายุไว้ในรถที่จอดกลางแจ้ง


          
นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีอุณหภูมิสูง ทำให้อากาศร้อนอย่างต่อเนื่อง และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่  โดยช่วงที่อากาศร้อนนี้ โรคที่ประชาชนควรระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ การเจ็บป่วยเนื่องจากภาวะอากาศร้อน     
 
          
 
 
 ในช่วงอากาศร้อนจัดแบบนี้ บางพื้นที่อาจมีอุหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส หากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ต่อเนื่อง อาจเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศร้อนได้ โดยเฉพาะฮีทสโตรก(Heat stroke) ซึ่งเป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ จากผลของสภาพอากาศที่ร้อน จะมีอาการพบได้ตั้งแต่ปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชักไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้
          
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมา พบการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศร้อน จำนวน 56 ราย โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 33  ที่สำคัญพบว่ากิจกรรมก่อนเสียชีวิตส่วนใหญ่ทำงานหรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศที่ร้อน ร้อยละ 33  รองลงมาคือดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 16 และล่าสุดในปี 2559 นี้ จากการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระหว่างวันที่ 1 มี.ค.-17 เม.ย 2559 มีผู้ป่วยจากการเฝ้าระวังที่สงสัยเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน 21 ราย แยกเป็นเพศชาย 20ราย หญิง 1 ราย อายุเฉลี่ย 51 ปี (ช่วงอายุ 29-72 ปี) โดยพบการเสียชีวิตนอกบ้านตามสถานที่สาธารณะ 13 ราย  ในรถ 2 ราย  วัด 1 ราย และภายในบ้าน 5 ราย  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาชีพรับจ้าง ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญ คือ การดื่มสุราช่วงอากาศร้อน และผู้มีโรคประจำตัว
          
สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงกว่าคนทั่วไปมี 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ออกกำลังกาย  2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบและผู้สูงอายุ  3.ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง  4.คนอ้วน 5.ผู้ที่อดนอน และ 6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  
          
นายแพทย์อำนวย กล่าวแนะนำว่า ประชาชนควรดูแลสุขภาพตนเอง ดังนี้ 1.สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี  2.ควรอยู่ภายในบ้านหรือในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก 3.ลดหรือเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้งนานๆ 4.สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง 5.ควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก 6.หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด  และ 7.อย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดไว้กลางแจ้ง เนื่องจากอุณหภูมิภายในรถจะสูงกว่าภายนอก  ส่วนผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และใช้เวลาที่เหมาะสม ผู้ที่มีโรคประจำตัวหากมีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ใจสั่น ตะคริว หน้ามืด ขอให้พบแพทย์หรือโทรขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669  สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
 


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 เม.ย. 2559 เวลา : 09:51:39

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 3:09 am