ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรฯชี้ร้อนแล้งกระทบหมู 2 เด้ง


 


นายสัตวแพทย์ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย เปิดเผยว่า ฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาที่ลูกสุกรขุนเจริญเติบโตช้า โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงที่ยังเลี้ยงแบบโรงเรือนเปิด เพราะสุกรทนต่อความร้อนไม่ไหวทำให้สุกรเกิดความเครียด มีอาการหอบ อาจเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น มีอัตราเสียหายสูงขึ้น การกินอาหารลดลงจากมาตรฐาน ทำให้การเจริญเติบโตต่ำ ประกอบกับภาวะร้อนแล้งเป็นช่วงที่สุกรมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำมาก ส่งผลให้มีโรค PRRS และ PED ที่เกิดเฉพาะในสุกรไม่มีการติดต่อถึงคน เกิดขึ้นเป็นวงกว้างทำให้ลูกสุกรและสุกรขุนเสียหายมากกว่า 20% ในช่วงเวลานี้ สุกรขุนที่ส่งเข้าตลาดจึงลดน้อยลง
 

“คาดว่าภาวะสุกรหายไปจากระบบอันเนื่องมากจากอากาศร้อนที่เกิดขึ้น จะเป็นเช่นนี้ไปอีกประมาณ 2-3 เดือน หลังจากนั้นก็เข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งทางสมาคมฯ ทำการจดบันทึกข้อมูลมา 10กว่าปี พบว่ามีเป็นวงจรหรือที่เรียกว่าวัฎจักรสุกรแบบนี้ทุกปี แต่ปีนี้ภาวะที่เกิดรุนแรงขึ้นจากภัยแล้งที่เกิดยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้” น.สพ.ปราโมทย์ กล่าว
 
 

นอกจากนี้ ปัญหาวิกฤติภัยแล้งรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้แหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดินแห้งแล้งทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงสุกรมากที่สุดในประเทศต่างประสบปัญหาอย่างหนัก เพราะไม่มีน้ำสำหรับให้สุกรกินและใช้ภายในฟาร์มโดยเฉพาะน้ำสำหรับหล่อเลี้ยงระบบความเย็นในโรงเรือนปิดแบบปรับอากาศได้ หรือโรงเรือนระบบอีแวป ที่จำเป็นต้องเปิดตลอดทั้งวัน เกษตรกรจำเป็นต้องซื้อน้ำมาใช้กลายเป็นต้นทุนที่แบกรับสูงขึ้นถึง 10 เท่าตัว ขณะเดียวกัน สุกรที่โตช้ากว่าปกติทำให้ต้องยืดอายุการเลี้ยงออกไป 2-4 สัปดาห์ จึงต้องเสียค่าอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

“เมื่ออุปสงค์กับอุปทานของตลาดไม่สมดุลกันราคาสุกรขุนจึงปรับขึ้นตามกลไกตลาด อย่างไรก็ตามผู้บริโภคสามารถปรับเปลี่ยนแหล่งของโปรตีนได้ แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรนั้นมีเพียงอาชีพเดียวที่เลี้ยงตนเองและครอบครัว เชื่อว่าภาวะราคาคงเข้าสู่ภาวะปกติในไม่ช้า” น.สพ.ปราโมทย์ กล่าว

น.สพ.ปราโมทย์ ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรว่า สภาพอากาศร้อนแล้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความเครียดแก่สัตว์เลี้ยง เกษตรกรควรจัดเตรียมน้ำสะอาดให้เพียงพอ หากเกิดปัญหาการขาดแคลนและน้ำไม่สะอาด ควรใช้คลอรีน 2-3 ppm ผสมในน้ำ เพื่อปรับสภาพน้ำให้สะอาดไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อน ช่วยป้องกันอาการท้องเสียที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์ได้ อาจเพิ่มวิตามินละลายน้ำให้สุกร มีการให้อาหารให้เหมาะสม ควรให้อาหารครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้งขึ้น เพื่อกระตุ้นการกินอาหาร

เกษตรกรต้องตรวจสอบโรงเรือนให้อยู่ในสภาพดี อาจเพิ่มระบบน้ำหยดหรือน้ำพ่นฝอยควบคู่กับการเปิดพัดลมระบายอากาศเพื่อลดความร้อนให้กับสัตว์ แต่ระวังอย่างให้ชื้นแฉะ และต้องมีการจัดการฟาร์ม การสุขาภิบาลและการป้องกันโรคที่ดี จำกัดยานพาหนะและบุคลากรที่จะเข้าภายในฟาร์ม โดยต้องผ่านการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้ง  ที่สำคัญต้องหมั่นดูแลสุขภาพสัตว์ให้แข็งแรง ในกรณีที่พบสัตว์ป่วยหรือตายเกษตรกรต้องมีการกำจัดให้ถูกต้องตามมาตรฐาน ไม่นำไปชำแหละเพื่อบริโภคหรือขาย ห้ามทิ้งซากสัตว์ลงคูคลองเพราะจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว หากพบปัญหาสัตว์เจ็บป่วยผิดปกติควรรีบปรึกษาเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที./



 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 พ.ค. 2559 เวลา : 14:08:29

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 5:57 am