ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เร่งยุติปัญหาวัณโรค-พบค่าใช้จ่ายในผู้ป่วยดื้อยารุนแรง1.2ล้านบาท/คน


 


กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ให้รวดเร็วและครอบคลุม เพื่อตัดวงจรการระบาด และเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาร่างแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ.2560–2564  ตั้งเป้า"ลดอัตราอุบัติการณ์ของวัณโรคลงร้อยละ 12 ต่อปี จาก 171 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2557 ให้เหลือ 88 ต่อประชากรแสนคน เมื่อสิ้นปี 2564"  ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายยุติวัณโรคขององค์การอนามัยโลก (WHO)  พร้อมแนะหากมีอาการไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ขอให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
 
        
นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัณโรคยังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ซึ่งจากการคาดการณ์ทางสถิติ คาดว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 120,000 รายต่อปี  และเสียชีวิตปีละ 12,000 ราย  และมีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาปีละ 2,200 ราย  ข้อจำกัดสำคัญของการแก้ไขปัญหาวัณโรคของประเทศไทย  คือ ขีดความสามารถในการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในประชากรกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยวัณโรคที่เข้าสู่ระบบบริการเพียงร้อยละ 60 เท่านั้น นอกจากนี้ปัญหาด้านภาระค่าใช้จ่ายในผู้ป่วยวัณโรคดื้อยารุนแรงมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 1.2 ล้านบาทต่อคน จึงมีความจำเป็นต้องเร่งรัดมาตรการสำคัญเพื่อตัดวงจรการระบาดในประชากรกลุ่มเสี่ยง และยุติปัญหาวัณโรค
 
 
 
        
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมพัฒนาและปรับปรุง“ร่าง”แผนยุทธศาสตร์ วัณโรคระดับชาติ พ.ศ. 2560–2564 เพื่อกำหนดทิศทางและเป็นกลไกสำคัญในการยุติปัญหาวัณโรคอย่างจริงจัง โดยเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาร่างแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวต่อไป สาระสำคัญตามแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ คือ เร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ให้รวดเร็วและครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น เพื่อตัดวงจรการระบาดในชุมชน 


โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเสี่ยง โดยตั้งเป้า "ลดอัตราอุบัติการณ์ของวัณโรคลงร้อยละ 12 ต่อปี จาก 171 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2557 ให้เหลือ 88 ต่อประชากรแสนคน เมื่อสิ้นปี 2564" ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายยุติวัณโรคขององค์การอนามัยโลก (WHO) แผนยุทธศาสตร์นี้มีวัตถุประสงค์โดยย่อ  ดังนี้  1.เพื่อเร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคให้ครอบคลุมร้อยละ 100 ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ต้องขัง แรงงานข้ามชาติ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น โดยประชากรกลุ่มเสี่ยงได้รับการคัดกรอง ตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็ว เข้าถึงการรักษาและการดูแลที่เป็นมาตรฐาน  2.เพื่อลดอัตราตายในผู้ป่วยวัณโรคลงร้อยละ 50 ภายในปี 2564  3.เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการ ด้านการป้องกันและควบคุมวัณโรค  4.เพื่อระดมทรัพยากรในการดำเนินงาน ป้องกัน ดูแล และควบคุมวัณโรค  และ 5.เพื่อเร่งรัดการศึกษาวิจัยที่เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านวัณโรค รวมทั้งส่งเสริม นวัตกรรมสำหรับการพัฒนางานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของพื้นที่
           
นายแพทย์อำนวย กล่าวอีกว่า ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตั้งเป้าหมายไปสู่การยุติการระบาดของวัณโรค (End TB) ให้อัตราป่วยรายใหม่ลดเหลือน้อยกว่า 10 ต่อประชากรแสนคน ใน 20 ปีข้างหน้า(ค.ศ.2035 หรือ พ.ศ.2578) เป็นเป้าหมายระดับโลก ประเทศไทยจะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น ต้องลดต่อเนื่องไปทุกปี ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและทั่วทั้งประเทศ ดำเนินการทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ประชาชน และชุมชน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีด้านห้องปฎิบัติการ การตรวจที่ทันสมัย รวดเร็วและแม่นยำ รวมถึงการใช้ยาใหม่ๆสำหรับวัณโรคดื้อยา เป็นต้น มาใช้ในการแก้ปัญหาวัณโรค เพื่อเป้าหมายการยุติปัญหาในประเทศไทยต่อไป
          
สำหรับข้อแนะนำประชาชนให้สังเกตอาการเจ็บป่วย โดยอาการของวัณโรคจะเริ่มจากไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาให้เร็วที่สุด เพราะวัณโรค หากพบเร็ว โอกาสรักษาหายสูงและไม่แพร่กระจายเชื้อ  หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค โทร 0-2212-2279 กด 4 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 พ.ค. 2559 เวลา : 07:47:42

18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 1:51 pm