ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สธ. ติดตามผลกระทบสุขภาพประชาชน 3 จว. รอบเหมืองทองคำ


 


วันนี้ (12 พฤษภาคม 2559) นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการที่มีประชาชนร้องเรียนว่าการประกอบกิจการเหมืองทองคำพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ที่อาจทำให้เกิดการปนเปื้อน นั้น อาจมีประชาชนได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองทองคำหรือพื้นที่ศักยภาพแร่ในพื้นที่ประมาณ 8,000 คน  ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพประชาชนรอบเหมืองทองคำอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2558 โดยมีการดำเนินงานใน 4 มาตรการหลัก คือ 1.การเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพประชาชน 2.การสำรวจ เฝ้าระวังทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหาร 3.พัฒนาระบบข้อมูล และ 4.การสื่อสารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง 
 
 
 
          
โดยในปี 2558 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ลงพื้นที่ในการตรวจติดตามและคัดกรองสุขภาพประชาชนในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด จำนวน 3 ครั้ง โดยตรวจหาสารที่อาจปนเปื้อน ได้แก่ แมงกานีสในเลือด สารหนูในปัสสาวะ และไทโอไซยาเนตในปัสสาวะ  และมีผู้ได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพ จำนวน 1,002 ราย พบว่ามีแมงกานีสในเลือดเกินค่าอ้างอิง 417 ราย คิดเป็นร้อยละ 41.6 สารหนูในปัสสาวะเกินค่าอ้างอิง 278 ราย คิดเป็นร้อยละ 27.7 และไทโอไซยาเนตในปัสสาวะเกินค่าอ้างอิง 59 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.9
 
         
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า ในปี 2559 นี้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำ โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานคณะทำงาน และได้แต่งตั้งคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการดังกล่าว 2 ชุด ได้แก่ 1.คณะทำงานตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 2.คณะทำงานตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงผลการตรวจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งออกแบบวางแผนตรวจติดตามสุขภาพของประชาชน รวมทั้งวิเคราะห์หาสาเหตุผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพื่อหามาตรการแนวทางการป้องกันปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการประชุมหารือวางแผนดำเนินการ และติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
         
 
ส่วนการจัดบริการสุขภาพสำหรับประชาชน กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด ดังนี้  จัดตั้งคลินิกอาชีวเวชกรรมและเวชกรรมสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)  จัดตั้งศูนย์อาชีวเวชกรรมและเวชกรรมสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญอาชีวเวชกรรมและเวชกรรมสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลศูนย์ /โรงพยาบาลทั่วไป  เพื่อรองรับการส่งต่อการรักษาผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ และในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)  นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งทีมหมอครอบครัว  เพื่อติดตามเยี่ยมผู้ป่วยและผู้ที่มีระดับโลหะหนักในร่างกายเกินค่าอ้างอิง โดยมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
          
 
นายแพทย์อำนวย กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการดำเนินงานปี 2559 ซึ่งเป็นการศึกษาผลกระทบระยะยาว คือ 1.การติดตามผู้ที่มีระดับโลหะหนักในร่างกายเกินค่าอ้างอิง ทุก 6 เดือน เพื่อเฝ้าระวังการสัมผัสและเฝ้าระวังผลกระทบพร้อมทั้งติดตามว่าที่ดำเนินการไปมีผลในการลดการสัมผัสหรือไม่  2.การเก็บข้อมูลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เปรียบเทียบ โดยเสนอให้มีการมีเลือกพื้นที่เปรียบเทียบใน 3 พื้นที่ โดยพื้นที่ที่จะเลือกต้องมีลักษณะทางธรณีวิทยา ปริมาณน้ำฝน ลักษณะประชากร ฯลฯ ที่คล้ายคลึงกัน  
 
3.การจัดทำคู่มือ การเฝ้าระวัง และดูแลรักษาสุขภาพประชาชน รอบเหมืองทองคำเพื่อให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงร่วมกันจัดทำแนวทางการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และ 4.การแปรผลข้อมูลสิ่งแวดล้อมสุขภาพโดยการใช้แผนที่ เป็นหนึ่งในการแปรผลข้อมูลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งการกระจายตัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบว่ามีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมหรือระยะห่างจากเหมืองอย่างไร ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงาน  หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร 1422



 

 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 พ.ค. 2559 เวลา : 15:33:21

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 6:03 am