ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมสุขภาพจิตย้ำ'จิตเภท'รักษาได้


 


 วันนี้ (12 พ.ค.59) ที่กรมสุขภาพจิต นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต พญ.บุญศิริ จันศิริมงคล ผอ.รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ และ คุณเครือวัลย์    เที่ยงธรรม กรรมการสมาคมสายใยครอบครัว ร่วมแถลงข่าวเนื่องในวันโรคจิตเภท (Schizophrenia Awareness Day) โดย อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ทุกวันที่ 24 พ.ค. ของทุกปี หลายประเทศทั่วโลกได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันโรคจิตเภท เพื่อสร้างความตระหนักและลดอคติในสังคมที่มีต่อโรคจิตเภท
 
ซึ่งเป็นกลุ่มอาการของโรคที่มีความผิดปกติของความคิด และการรับรู้ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้มีผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ถึง 26 ล้านคน และเกือบร้อยละ 90 ของผู้ป่วยที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ไม่สามารถเข้าถึงการบำบัดรักษา ส่งผลต่อการทำงานของสมองและการหายขาดของโรค มักพบในช่วงปลายวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 15-35 ปี สำหรับประเทศไทย โรคจิตเภท เป็นโรคทางจิตที่พบมากที่สุด ซึ่งจากรายงานของกรมสุขภาพจิต คาดว่ามีผู้ป่วยโรคจิตเภทซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านอารมณ์ พฤติกรรมและความคิดผิดปกติ จำนวน 412,394 ราย ซึ่งมีเพียง 249,139 ราย หรือประมาณ ร้อยละ 61 เท่านั้น ที่เข้าถึงบริการ  ได้รับการวินิจฉัยและรักษา
 
 

อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ย้ำว่า “โรคจิตเภท” สามารถรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ เส้นทางสู่การหายป่วย คือ 1.ตรวจพบแต่เนิ่นๆ รักษาให้เร็วและต่อเนื่อง 2.ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว ชุมชน และสังคม มีสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่มั่นคง มีระเบียบ และสงบ มีคนพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์และความรู้สึกแก่กันได้ 3.ได้ทำกิจกรรมที่มีความหมายต่อชีวิต ได้แก่ การเรียน งานอาชีพ งานอดิเรก และ 4.ดูสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา ใช้สารเสพติด ซึ่งเหล่านี้จะช่วยให้อาการหายไปโดยเร็ว นำไปสู่การดำเนินชีวิตตามความคาดหวังและวาดฝันไว้ได้
 
 
โดยในวันเสาร์ที่ 14 พ.ค.นี้ กรมสุขภาพจิตกำหนดจัดกิจกรรมรณรงค์ ในประเด็น “ชีวิตที่มีความหวังและความหมาย : Hope and Meaning of Life” ณ ลานคริสตัล คอร์ท ศูนย์การค้าสยามพารากอน ชั้น M เพื่อรณรงค์ให้สังคมและประชาชนเห็นถึงความสำคัญ เกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเภท การดูแลรักษา การเข้าให้ถึงบริการ ตลอดจนความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องอยู่กับโรคจิตเภทได้แสดงศักยภาพและมีที่ยืนในสังคมอีกครั้ง

              
ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า "โรคจิตเภท”เป็นโรคเรื้อรังที่สามารถรักษาได้ ไม่ใช่โรคที่น่ากลัว เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง อาจเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง หรือความผิดปกติจากพันธุกรรม การปรากฏอาการของโรคอาจถูกกระตุ้นจากภาวะความกดดันทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการเสพสารเสพติด "สัญญาณเตือน เช่น ไม่สนใจตัวเอง บางครั้งนั่งนิ่งไม่เคลื่อนไหว มีความคิดผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง มีอาการหลงผิด คิดว่าคนอื่นจะมาทำร้าย มีอาการประสาทหลอน หูแว่ว ได้ยินเสียงคนมาสั่งให้ทำโน่นทำนี่ ได้ยินคนมาพูดคุยกับตน ทั้งๆ ที่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น รวมทั้งเห็นภาพหลอน ซึ่งหากสงสัยว่า ตัวเองหรือผู้ใกล้ชิดมีอาการดังกล่าว สามารถปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการบำบัดรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เริ่มแรก โดยสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนและไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด 


แต่หากไม่ได้รับการรักษา ย่อมส่งผลกระทบ ตั้งแต่ทำให้ตกงาน คุณภาพชีวิตเสื่อมถอย รวมทั้งในรายที่อาการหนักมากๆ ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องหรือรักษาไม่ต่อเนื่อง จะทำให้มีความหวาดระแวงสูง กลัวคนอื่นมาทำร้าย นำไปสู่การก่อเหตุรุนแรง สังคมหวาดกลัว ตอกย้ำตราบาปให้ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 หากพบเห็นผู้ที่มีอาการทางจิตที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสาธารณะ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ รพ. เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ./1669) เพื่อขอความช่วยเหลือในการนำส่ง รพ.   ได้ทันที ขณะเดียวกัน การจะส่งต่อหรือเผยแพร่ภาพหรือข้อมูลใดๆ ของผู้ป่วยไม่ว่าจะด้วยช่องทางหรือวิธีใดก็ตาม ต้องระมัดระวังและไม่ควรทำอย่างยิ่ง ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืน มีบทลงโทษ จำคุกและปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชมีสิทธิคุ้มครองให้ได้รับการบำบัดรักษา รวมทั้งสิทธิคุ้มครองในการเปิดเผยข้อมูล

สำหรับการดูแลรักษานั้น มีทั้ง การรักษาทางกาย ด้วยการใช้ยาเพื่อลดอาการและป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ผู้ป่วยต้องกินยาต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง อาจต้องใช้เวลาหลายปี แต่ยาจะช่วยควบคุมอาการและทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กลับสู่สังคม ดูแลตนเอง และทำงานได้ แต่ถ้าหากมีอาการรุนแรงมากจะรักษาด้วยไฟฟ้า การรักษาทางจิตใจ ด้วยการพูดคุยให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจตัวเองและมีความพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่ผิดปกติ พร้อมปรับกระบวนการคิดที่ส่งผลให้อาการของโรคแย่ลง รวมทั้ง ทำจิตบำบัด  พฤติกรรมบำบัด ออกกำลังกาย และครอบครัวบำบัด การฟื้นฟูสมรรถภาพ เช่น ฝึกทักษะการใช้ชีวิตในสังคม ทักษะการประกอบอาชีพ ทักษะการสื่อสาร สร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น ตลอดจนส่งเสริมให้ญาติมีความรู้ เจตคติ และทักษะการดูแลผู้ป่วย
 
 
ดังนั้น “ผู้ป่วย” จึงต้องเข้าใจโรคและธรรมชาติของโรค ยอมรับการรักษา หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ที่จะทำให้อาการกำเริบ เช่น   การใช้สารเสพติด ดื่มแอลกอฮอล์ “ครอบครัวและคนใกล้ชิด” ก็ต้องเข้าใจผู้ป่วย ช่วยเหลือ ดูแล สนับสนุน ให้กำลังใจ ให้ผู้ป่วยทราบถึงสิทธิและคุณค่าของตัวเอง รวมถึง “สังคม” ภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชน ก็ต้องให้โอกาสผู้ป่วยได้กลับมามีที่ยืนในสังคม เกิดความหวัง และมีชีวิตอยู่กับโรคนี้ได้อย่างมีคุณค่า อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
 

พญ.บุญศิริ จันศิริมงคล ผอ.รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ กล่าวว่า เมื่อผู้ป่วยกลับสู่ชุมชน จะได้รับการติดตามต่อเนื่อง เพื่อป้องกันอาการกำเริบและการป่วยซ้ำ โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้กำเริบซ้ำ ได้แก่ การกินยาไม่ต่อเนื่อง ดื่มสุรา เสพสารเสพติดร่วมด้วย มีปัญหาความสัมพันธ์และการใช้อารมณ์ในครอบครัว ผู้ดูแลไม่มีศักยภาพเพียงพอ มีปัญหาเศรษฐกิจ ไม่มีอาชีพ รายได้ หรือที่อยู่อาศัย ซึ่งเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้งนี้ การบำบัดช่วยเหลือต่อเนื่องในชุมชน ได้นำแนวคิดการฟื้นคืนสู่สภาวะ (recovery model) มาปรับใช้ ด้วยหลักการที่ว่า ผู้ป่วยจิตเวชมีศักยภาพที่จะฟื้นคืนชีวิตกลับเข้าสู่สังคมได้ อย่างมีศักดิ์ศรีและพึ่งพาตนเองได้ มีโอกาสใช้ชีวิตได้อย่างปกติเหมือนคนทั่วไป
 
 
ซึ่งจากการดำเนินงานภายใต้นโยบายขับเคลื่อนแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ รพ.จิตเวชยังคงรับส่งต่อดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังยุ่งยากซับซ้อนจากพื้นที่ เช่น รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ มีคลินิกจิตเวชนครสวรรค์สัญจร เพื่อให้ผู้ป่วยรับยาต่อเนื่องในชุมชน คลินิกเฉพาะทางจิตเภท (คลินิก  ใจดี) และค่ายอุ่นใจเพื่อให้ครอบครัวฝึกดูแลผู้ป่วย ตลอดจน มีการพัฒนา รพ./สถาบันให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญความเป็นเลิศ (Excellence center) เพื่อการพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่ทันสมัยเหมาะสม เช่น รพ.ศรีธัญญา พัฒนารูปแบบการฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง (Rehabilitation) รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ พัฒนารูปแบบชุมชนที่สามารถดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังได้  (community mental health) หรือ รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ กำลังพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้าน (Home ward) และสำนักบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กำลังพัฒนาฐานข้อมูล(Data Center) ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง เป็นต้น

 
 
ด้าน คุณเครือวัลย์ เที่ยงธรรม กรรมการสมาคมสายใยครอบครัวและอดีตผู้อยู่กับปัญหาโรคจิตเภท กล่าวว่า ความหวังและกำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้ที่กำลังเจ็บป่วย ที่จะช่วยให้สามารถก้าวข้ามผ่านความเจ็บป่วยนั้นไปได้ ซึ่งผู้ป่วยหากได้รับการบำบัดรักษาและดูแลอย่างถูกวิธี ก็สามารถกลับคืนสู่สถานภาพเดิมที่เคยเป็นก่อนหน้าได้ ทั้งนี้ ปัจจัยแรกและสำคัญที่สุด คือ ต้องยอมรับก่อนว่า ตนเองมีอาการและเปิดใจที่จะทำการรักษา ประกอบกับ ครอบครัวยอมรับ พามารักษาในระยะเริ่มต้น ตลอดจนมีแพทย์ที่เอาใจใส่ และ ยาที่ใช้ในการรักษามีประสิทธิภาพ อาการของโรคก็จะเบาบางจนถึงหายสนิท นอกจากนี้ ขอวิงวอนสังคมกับการตีตราผู้ป่วยว่าเป็นคนไม่ดีหรือน่ากลัว หรือเรียกคนที่ทำอะไรไม่ดี ทำอะไรแปลกๆ รุนแรง หรือ เรียก ฆาตกร ว่า โรคจิต ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ที่เป็นโรคนี้เสียใจแล้วยังทำให้ไม่กล้าไปรักษา ต้องทนอยู่กับโรค ทำให้โอกาสในการหายลดน้อยลงไปอีก
 
 
ในความเป็นจริง ผู้ที่ป่วยเป็นจิตเภท มีข่าวรุนแรงบ้างเป็นบางครั้ง และที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันก็ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่กำลังรอคอยเวลาที่จะได้กลับคืนสู่สังคม แต่จะกลับมาได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการเปิดใจ ให้โอกาส และกำลังใจจากสังคม ที่จะยอมรับว่า โรคจิตเภท ก็เป็นเหมือนโรคเรื้อรังทั่วไป หากได้รับการรักษาที่ดีแล้ว สามารถกลับคืนสู่สังคม และครอบครัวที่พวกเขารักได้เช่นกัน   
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 พ.ค. 2559 เวลา : 17:31:26

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 3:16 pm