ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สปสช.เปิดรับฟังความเห็นพัฒนาระบบบัตรทองปี 59 ใน 13 เขตทั่วประเทศ พ.ค.-ก.ค.นี้


 


สปสช.เปิดประชาพิจารณ์ ปี 59 รุกพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รับฟังความเห็น 8 ประเด็น ทั้งด้านคุณภาพและมาตรฐานบริการ บริหารจัดการ การมีส่วนร่วม คุ้มครองสิทธิ์ และกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่น จากผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และประชาชนทุกภาคส่วน ระหว่าง พฤษภาคม-สิงหาคม 2559 นี้    
   
 
นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 18 (13) ได้กำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) รับฟังความคิดเห็นทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เน้นการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อมุ่งสู่การปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข การกำหนดและปรับหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข และการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งบอร์ด สปสช.ได้เปิดรับฟังความเห็นมาตั้งแต่ปี 2548 เบื้องต้นจะเปิดรับฟังความเห็นในระดับภูมิภาคก่อนดำเนินการรับฟังความเห็นระดับประเทศยังส่วนกลาง
 
ทั้งนี้ ในปี 2559 นี้ บอร์ด สปสช.ให้มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นระดับเขตทั้ง 13 เขตทั่วประเทศที่เป็นการรับฟังความเห็นทั่วไป, เวทีรับฟังความเห็นผู้ให้บริการ-ผู้รับบริการ และเวทีรับฟังความเห็นระดับประเทศ โดยกำหนดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2559 มีบางเขตเริ่มดำเนินการไปแล้ว ทั้งนี้ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งผู้ให้บริการ ได้แก่ ผู้แทนหน่วยบริการทุกระดับ ทั้งที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, ผู้รับบริการ ได้แก่ ประชาชนทั่วไปที่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นักวิชาการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง 
 
นพ.จรัล กล่าวว่า ในปีนี้ทางคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคมฯ ได้กำหนดเนื้อหาของการรับฟังความเห็นใน 8 ประเด็น ดังนี้ 1.ด้านประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข ได้แก่ การพัฒนาสิทธิประโยชน์ ความครอบคลุมและการเข้าถึงบริการ และการร่วมจ่ายค่าบริการ 2.ด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุข ได้แก่ มาตรฐานการให้บริการ มาตรการในการควบคุมและส่งเสริมมาตรฐานหน่วยบริการ และการกำกับมาตรฐานหน่วยบริการ 3.ด้านการบริหารจัดการสำนังาน 4.ด้านการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ก่ การบริการจัดการรายบริการ และ Global Budget ระดับเขต 
5.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นและพื้นที่ ได้แก่ โครงสร้างคณะกรรมการ ระเบียบ ประกาศ การพัฒนาศักยภาพ การสนับสนุนงบประมาณ ระบบรายงาน การติดตามประเมินผล โดยท้องถิ่นเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการมีส่วนร่วมต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งในด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตลอดจนการบริการสาธารณสุขด้านต่างๆ 6.ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ได้แก่ การมีส่วนร่วมในคณะกรรมการต่างๆ การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ การพัฒนาศักยภาพ การสนับสนุนงบประมาณ 7.ด้านการรับรรู้และคุ้มครองสิทธิ ได้แก่ การจ่ายเงินช่วยเหลือ ตาม ม.41, ม.18, ม.50 และการสื่อสารเพื่อการรับรู้และเข้าใจ และ 8.ประเด็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ของ สปสช.เขต  
“ผลสรุปที่ได้จากการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ นี้ จะนำเสนอต่อ บอร์ด สปสช.เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพถ้ายหน้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อตอบสนองทั้งผู้ให้และผู้รับบริการอย่างสอดคล้องกัน” นพ.จรัล กล่าว 

 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 พ.ค. 2559 เวลา : 16:17:37

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 12:50 am