ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ฟิทช์ฯคงอันดับเครดิต 4 แบงก์ใหญ่ของไทย BBL, KBANK, SCB, KTB


 


บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งของไทย โดยคงอันดับเครดิตสากลระยะยาว (Long-term Issuer Default Rating - IDR) ของบมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ 'BBB+' และคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวของธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่ 'BBB'
 
นอกจากนี้ ฟิทช์ยังได้คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทอีก 2 แห่งที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ บล.กสิกรไทย (KS) และบล.ไทยพาณิชย์ (SCBS)  ที่ 'AA-(tha)' โดยแนวโน้มอันดับเครดิตทั้งหมดมีเสถียรภาพ

         
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
         
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BBL KBank และ SCB พิจารณาจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร (Viability Rating  หรือ VR) ในขณะที่อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ KTB มีปัจจัยสนับสนุนจากอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ของธนาคาร

         
อันดับเครดิตภายในประเทศของ KS และ SCBS พิจารณาจากการที่บริษัทมีสถานะเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อธนาคารแม่ ซึ่งคือ KBank และ SCB ตามลำดับ โดยทั้งสองบริษัทมีบทบาทที่สำคัญในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจรูปแบบธนาคารครบวงจร (universal banking strategy) ของธนาคารแม่ อีกทั้งธนาคารแม่ยังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทลูก และยังมีการเชื่อมโยงในด้านการบริหารงานและการดำเนินงานในระดับสูง

         
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
         
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL KBank SCB และ KTB พิจารณาจากเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศไทย และฐานลูกค้าขนาดใหญ่ รวมทั้งความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารแต่ละแห่งซึ่งที่ผ่านมาอยู่ในระดับดีมาอย่างต่อเนื่อง แต่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ยังคงไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL สะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีของธนาคารซึ่งเป็นผลมาจากความระมัดระวังในด้านระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite) ของธนาคาร อัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำกว่าธนาคารอื่น และความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ถือว่าอยู่ในระดับสูงกว่าธนาคารอื่น (ในด้านระดับของสำรองหนี้สงสัยจะสูญ) นอกจากนี้อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของ BBL โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารอยู่ในกลุ่มที่สูงที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย
 
ฟิทช์เชื่อว่า BBL น่าจะสามารถรักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเติบโตของสินทรัพย์ในระดับที่ไม่สูงนักและการมีกำไรสะสมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจอาจปรับตัวแย่ลง นอกจากนี้ความแข็งแกร่งของเครือข่ายทางธุรกิจในด้านเงินฝากและการถือครองสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงในด้านสภาพคล่องของ BBL

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KBank สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่าความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวมของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตใกล้เคียงกันหรือสูงกว่า โดยเฉพาะในด้านความสามารถในการทำกำไร คุณภาพสินทรัพย์และเงินกองทุน อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความคาดหวังของฟิทช์ว่า KBank น่าจะสามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ท้าทายมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าได้ เนื่องจากธนาคารมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่สมเหตุสมผลในด้านของเงินกองทุน ระดับสำรองหนี้สงสัยจะสูญ และความสามารถในการทำกำไร

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB  พิจารณาจากเครือข่ายธุรกิจธนาคารครบวงจรที่แข็งแกร่งของธนาคาร โดยเฉพาะในธุรกิจธนาคารสำหรับลูกค้ารายย่อย  (retail banking) การที่ SCB มีระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite) ที่สูงกว่าธนาคารขนาดใหญ่อื่นน่าจะส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารมีความผันผวนมากกว่าในช่วงวัฏจักรของธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตามธนาคารยังคงมีความสามารถในการทำกำไรที่สม่ำเสมอซึ่งส่งผลให้ผลการดำเนินงานโดยรวมของธนาคารยังคงแข็งแกร่ง สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซาจะยังคงเป็นข้อจำกัดในด้านผลการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร แต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระดับเงินทุนซึ่งอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ของธนาคาร
 
 
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB อยู่ต่ำกว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ อยู่ 2 อันดับ ซึ่งสะท้อนถึงฐานะเงินกองทุน คุณภาพสินทรัพย์ และความสามารถในการทำกำไรที่อ่อนแอกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่อื่น อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ เช่น อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และอัตรากำไรปรับตัวแย่ลงในปี 2558 และยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ นอกจากนี้ KTB ยังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระดับที่มากกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ ซึ่งเห็นได้จากคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวแย่ลงในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีแนวโน้มจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง  อย่างไรก็ตามอัตราส่วนที่สำคัญทางการเงินโดยส่วนใหญ่ ยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และสอดคล้องกับหรือดีกว่า ค่าเฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยโดยรวม

         
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ
         
อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่ง สะท้อนถึงการที่ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย โดยธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านเงินฝากมากกว่า 14% ของระบบธนาคารพาณิชย์ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ KTB ที่ ‘BBB’ อยู่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์อีก 3 แห่ง 1 อันดับ เนื่องจาก KTB ไม่เพียงแต่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศเท่านั้น แต่ KTB ยังมีความสำคัญในเชิงกลยุทย์ต่อรัฐบาลไทย โดย KTB เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งเดียวที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ ทั้งยังมีความใกล้ชิดในการดำเนินงานกับกระทรวงการคลังและธนาคารยังใช้สัญลักษณ์ทางการค้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสัญลักษณ์ของกระทรวงการคลัง รวมทั้งยังมีบทบาทในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่คล้ายกับธนาคารรัฐ (quasi-policy) อีกด้วย

         
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – หุ้นกู้ด้อยสิทธิและตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน
         
หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ที่ไม่เข้าเกณฑ์บาเซล 3) ของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่ง มีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว หรือ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ 1 อันดับ เพื่อสะท้อนสถานะด้อยสิทธิตามโครงสร้างเงินทุนเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของฟิทช์ในการจัดอันดับเครดิตตราสารประเภทดังกล่าว

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของ KBank ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ 1 อันดับเพื่อสะท้อนถึงการรองรับผลขาดทุนในลักษณะการตัดเป็นหนี้สูญบางส่วนได้ (partial write-down) และความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิเนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะด้อยสิทธิ 

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 สกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ของ KTB ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวอยู่ 1 อันดับ  ทั้งนี้แนวทางในการพิจารณาอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวฟิทช์ใช้อันดับเครดิตสากลกสุลเงินต่างประเทศที่สะท้อนถึงโอกาสที่ KTB จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ (support driven) เป็นอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิง (anchor rating) ในการจัดอันดับแทนที่จะใช้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร เนื่องจากฟิทช์มองว่าภาครัฐน่าจะให้การช่วยเหลือเพื่อป้องกันมิให้ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (non-viability) ในขณะที่อันดับเครดิตของหุ้นกู้ดังกล่าวที่อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตอ้างอิงอยู่ 1 อันดับ สะท้อนถึงสถานะด้อยสิทธิ การรองรับผลขาดทุนในลักษณะการตัดเป็นหนี้สูญบางส่วนได้และการไม่มีคุณสมบัติที่สามารถรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินงาน (going-concern)

 
อันดับเครดิตสากลของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของ KTB ที่ ‘B’ อยู่ต่ำกว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร 5 อันดับ ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินงานของธนาคารเนื่องจากตราสารดังกล่าวมีคุณสมบัติที่สามารถงดการจ่ายดอกเบี้ยได้ถ้าธนาคารมีผลขาดทุน (non-cumulative coupon deferral feature) อันดับเครดิตภายในประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ได้อ้างอิงจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเช่นกัน

         
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
         
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BBL KBank และ SCB จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของระดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร ซึ่งสะท้อนในอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารแต่ละแห่ง และยังรวมถึงผลกระทบจากการปรับลดอันดับเครดิตของประเทศไทย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมด้านล่างในส่วน ‘อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน’)  อันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 3 แห่งอาจได้รับการพิจารณาปรับเพิ่มอันดับหากธนาคารทั้ง 3 แห่งสามารถรับมือกับสภาวะแวดล้อมที่อ่อนแอเช่นในปัจจุบันได้ในขณะที่ยังสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งของระดับเงินกองทุนและความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างต่อเนื่อง

 
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ KTB อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ ซึ่งอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำนั้นสะท้อนถึงความสามารถของภาครัฐในการให้การสนับสนุนและโอกาสที่รัฐจะให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที 

         
อันดับเครดิตภายในประเทศของ KS และ SCBS จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารแม่ การเปลี่ยนแปลงมุมมองของฟิทช์เกี่ยวกับระดับความสำคัญของบริษัทลูกที่มีต่อบริษัทแม่อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทลูก เช่น การลดลงของความสำคัญเชิงกลยุทธต่อธนาคารแม่จากการขายหุ้นในบริษัทลูก หรือ การลดลงของการเชื่อมโยงในด้านการดำเนินงานอาจส่งผลให้อันดับเครดิตของ KS และ SCBS อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของธนาคารแม่มากขึ้น อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง

         
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
         
โอกาสที่อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL KBank และ SCB จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับถือว่าค่อนข้างจำกัด เนื่องจากอันดับเครดิตของธนาคารทั้ง 3 แห่งอยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และยังมีสัดส่วนเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในระดับสูง ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยน่าจะส่งผลให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL KBank และ SCB ถูกปรับลดอันดับ

 
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากธนาคารสามารถแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ (โดยเฉพาะในด้านคุณภาพสินทรัพย์และเงินกองทุน) และสามารถยกระดับให้มาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อื่น   อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นไปได้ยากในระยะสั้นเนื่องจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ยังคงอ่อนแอ นอกจากนี้ แม้ว่า KTB จะมีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นในช่วงที่สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานเอื้ออำนวยแต่เนื่องจากธนาคารยังคงมีบทบาทในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ปัจจัยดังกล่าวอาจจจะส่งผลกระทบต่อความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารได้ในสถานการณ์ที่สภาพเศรษฐกิจมีความยากลำบากมากขึ้น

         
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่งอาจได้รับผลกระทบในเชิงลบหากธนาคารมีการปรับตัวลดลงในด้านวินัยในการควบคุมระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวแย่ลงอย่างมากและต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ฐานะเงินกองทุนของธนาคารอาจปรับตัวลดลง (หรือเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้น) อย่างมีนัยสำคัญ  
 

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ
         
การเปลี่ยนแปลงในความสามารถของรัฐบาลในการให้การสนับสนุนแก่ธนาคารพาณิชย์ เช่น การที่อันดับเครดิตของประเทศไทยถูกปรับลดอันดับลง อาจส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ KTB และอาจส่งผลให้มีการประเมินอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ BBL KBank และ SCB ใหม่เช่นกัน
 
การเปลี่ยนแปลงแนวโน้มที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย อาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่ง ตัวอย่างเช่นหากรัฐบาลมีการออกกฎหมายใหม่เพื่อจำกัดอำนาจของภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่ธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – หุ้นกู้ด้อยสิทธิและตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน
         
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิและตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งทั้ง 4 ธนาคาร จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในอันดับเครดิตอ้างอิงของตราสารนั้นๆ อันดับเครดิตของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (ทั้งอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศ) อาจถูกประเมินใหม่ในกรณีที่ธนาคารมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ   
 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 17 พ.ค. 2559 เวลา : 18:53:27

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 7:20 am