ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
2ปีคสช. แกนนำชุมชนส่วนใหญ่เห็นว่านายกฯ'บิ๊กตู่'มีคุณธรรม


 


รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง มองประเทศไทยในโอกาสครบรอบ 2 ปี คสช.  :กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,078 ตัวอย่างจากจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ระหว่างวันที่ 1-21 พฤษภาคม 2559 ผลการสำรวจ พบว่า
 
เมื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างแกนนำชุมชนถึงการติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าตัวอย่างร้อยละ 53.2 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 32.5 ระบุติดตาม 3-4 วัน ร้อยละ 9.4 ระบุติดตาม 1-2 วัน ร้อยละ 4.4  ติดตามเป็นบางวัน และร้อยละ 0.5 ระบุไม่ได้ติดตามเลย 
ประเด็นสำคัญจากการสำรวจในครั้งนี้ คือคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงความรู้สึกของประชาชนต่อบรรยากาศและสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน ในโอกาสครบรอบ 2 ปี คสช.ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้  พบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 96.2 ระบุยังรู้สึกว่า “พร้อมที่จะเป็นคนหนึ่งที่จะรักและช่วยเหลือคนอื่น”  ในขณะที่ร้อยละ  88.8 ระบุ “ยังรู้สึกว่านายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีคุณธรรมอยู่” 

นอกจากนี้ ร้อยละ 86.5 ระบุว่า “เมื่ออยู่ในสภาวะที่เดือดร้อน ยังรู้สึกว่าคนไทยเห็นอกเห็นใจต่อกันและกัน”  ร้อยละ 85.6 ระบุ “รู้สึกว่า ประชาชนคนไทยในสังคมยังรักและเกื้อกูลกัน”   ร้อยละ 84.2 ระบุ “ยังพูดได้เต็มที่ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งรอยยิ้ม”  ร้อยละ 77.0ระบุ “โลกของเราจะน่าอยู่กว่านี้ ถ้าคนชาติอื่นๆ เป็นเหมือนกับคนไทย”  และร้อยละ 60.1 ระบุ “รู้สึกว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีความสงบสุข และสันติมากที่สุด” อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 44.4 ระบุรู้สึกว่า“ยังมีเรื่องราวบางอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่ทำให้รู้สึกว่าน่าละอายและถูกชาวต่างชาติมองประเทศไทยไม่น่าอยู่”  ตามลำดับ
นอกจากนี้ เมื่อสอบถามความคิดเห็นกรณี “คุณค่าของความเป็นไทยอยู่ที่ ความจงรักภักดี ความรักความสามัคคี และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ” นั้น พบว่าตัวอย่างแกนนำชุมชนส่วนใหญ่คือร้อยละ 79.3  ระบุว่ายังคงเป็นจริงทุกอย่างเหมือนเดิม  ในขณะที่ร้อยละ 10.4 ระบุมีบางอย่างเปลี่ยนแปลงไปแล้ว  และร้อยละ 10.3  ระบุไม่มีอะไรเหมือนเดิม เปลี่ยนแปลงไปทุกอย่างแล้ว 
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจพบว่าตัวอย่างเกือบร้อยละร้อยละ (ร้อยละ 96.6) ระบุยังคงรู้สึกภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทย  ในขณะที่ร้อยละ 2.8 ระบุไม่แน่ใจ ทั้งนี้มีเพียงร้อยละ 0.6 เท่านั้นที่ระบุว่าไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นแล้ว 
 
 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 22 พ.ค. 2559 เวลา : 10:42:19

24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 9:42 pm