ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
พาณิชย์เผยส่งออก เม.ย.59กลับมาหดตัว -8.0%


 


กระทรวงพาณิชย์ แถลงรายงานมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกเดือนเมษายน 2559 มีมูลค่า 15,545 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -8.00 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) และระยะ 4 เดือน (ม.ค. – เม.ย. 59) มีมูลค่า 69,374 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -1.24 (YoY) หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และทองคำ มูลค่าส่งออกเดือนเมษายน 2559 จะหดตัวที่ร้อยละ -6.2 (YoY)

ในขณะที่การนำเข้าเดือนเมษายน 2559 มีมูลค่า 14,824 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -14.92 (YoY) และระยะ 4 เดือน (ม.ค. – เม.ย. 59) มีมูลค่า 60,464 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -12.73 (YoY) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนเมษายน 2559 ยังคงเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกันมีมูลค่า 721 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และระยะ 4 เดือน (ม.ค. – เม.ย. 59) เกินดุล 8,910 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
 
 

มูลค่าการส่งออกของไทยเดือนเมษายน 2559 กลับมาหดตัว ตามกระแสการค้าโลกที่ยังมีความเปราะบาง เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกยังไม่มีความชัดเจน ประกอบกับปัจจัยด้านราคาสินค้าเกษตรและน้ำมันที่หดตัวสูงที่เป็นแรงกดดันให้มูลค่าขยายตัวต่ำกว่าปริมาณส่งออกที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง ประเทศคู่ค้าหลายประเทศชะลอการนำเข้าลง และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกเชิงลบที่ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยมีสถานการณ์ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ มาก แสดงว่าไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในตลาดและสินค้าส่งออกสำคัญไว้ได้ สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยยังอยู่ระดับที่ดี ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งดำเนินการ เพื่อการขับเคลื่อนการส่งออกของไทย ปี 2559 อย่างต่อเนื่องทั้งในด้านขยายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก แก้ไขปัญหาข้อจำกัดทางการค้าร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงการส่งเสริมการค้าบริการและส่งเสริมผู้ประกอบการไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสทางการค้า และความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ

   
ในภาวะที่การค้าไทยเผชิญกับความท้าทาย ภายใต้สถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งดำเนินการ เพื่อการขับเคลื่อนการส่งออกของไทย ปี 2559 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยการกระทรวงพาณิชย์ ยังคงยึดแนวทางการขับเคลื่อนการส่งออกที่สำคัญ 5 ด้าน ดังนี้

1.    ขยายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะตลาดอินโดจีนหรือ CLMV โดยกระทรวงพาณิชย์
จะใช้โอกาสทางการค้า และความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของไทยซึ่งมีที่ตั้งเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งความเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก

2.    เร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก โดยใช้ความต้องการตลาดเป็นตัวนำการผลิต (Demand Driven)   หรือกำหนดสินค้า/บริการที่จะผลักดันการส่งออก และมีการกำหนดกลยุทธ์เชิงลึกในระดับเมือง (City focus) มุ่งเน้นการเจาะตลาดใหม่ๆ การเจาะกลุ่มตลาดเฉพาะ (Niche Market) และช่องทางการค้าออนไลน์ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ที่จะมุ่งเจาะตลาดเข้าสู่เมืองเศรษฐกิจรองที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเพิ่มความสำคัญของตลาดในเมืองหลวง/เมืองเศรษฐกิจหลัก โดยเน้นสินค้า/บริการแบรนด์ที่มีศักยภาพ 

3.    ส่งเสริมการค้าบริการ (Trade in Services) โดยสนับสนุนภาคธุรกิจบริการให้เป็นแรงผลักดันการส่งออกควบคู่ไปกับการส่งออกสินค้า ตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้ กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนด 6 กลุ่มธุรกิจบริการเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ (Wellness and Medical Services) ธุรกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy Industry) ธุรกิจโลจิสติกส์และการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Logistics and Facilitation) ธุรกิจการให้บริการของสถาบัน (Institutional Services and Related) ธุรกิจบริการสนับสนุนการค้า (Trade Supporting Services) และธุรกิจดิจิตอล (Digital Business)

4.    ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าการลงทุน และสร้างความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ โดยผ่านกลไกภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน รวมทั้งการศึกษาข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจและศักยภาพทางเศรษฐกิจเป็นรายเมือง รวมถึงขั้นตอน กฎระเบียบการลงทุน และมาตรการทางภาษี  สร้างเครือข่ายกับหน่วยงาน/นักธุรกิจ ในท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ

5.    ผลักดันและแก้ปัญหาทางการค้าร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีกลไกขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการค้าทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นกรรมการ โดย พกค. จะมีบทบาทด้านการกำหนดนโยบาย และมาตรการเกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าของประเทศ

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 พ.ค. 2559 เวลา : 14:44:28

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 11:41 pm