ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
รมว.พาณิชย์ พบภาคประชาสังคมถกประเด็น TPP


 


วันนี้ (31 พฤษภาคม 2559) นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศึกษาความพร้อมของไทยต่อความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ได้หารือกับผู้แทนกลุ่มภาคประชาสังคม ประกอบด้วย เครือข่ายกลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย มูลนิธิชีววิถี เครือข่ายองค์กรงดเหล้า สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ รวมทั้งมาตรการเยียวยา ซึ่งจะเสนอต่อรัฐบาลเกี่ยวกับการบรรเทาข้อห่วงกังวลภายใต้ความตกลง TPP  

 
นางอภิรดี กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้รับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคเกษตร ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม มาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งได้ลงพื้นที่รับฟังความเห็นในภูมิภาคต่างๆ โดยได้รับความร่วมมือและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มาโดยตลอด สำหรับการหารือกับภาคประชาสังคมในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้รับทราบประเด็นที่เป็นข้อห่วงกังวล และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญภายใต้ความตกลง TPP ได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในเรื่องสิทธิบัตรยา การคุ้มครองข้อมูลการทดสอบยา และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ และการให้สิทธินักลงทุนฟ้องรัฐ ซึ่งกระทรวงฯ ยินดีและพร้อมรับข้อเสนอแนะของทุกกลุ่มไปประกอบการศึกษาในรายละเอียดอย่างรอบคอบและรอบด้าน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ  

นางอภิรดี กล่าวย้ำว่า TPP ถือเป็นความตกลงระดับภูมิภาคที่มีมาตรฐานสูงและขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีมูลค่า GDP ของประเทศสมาชิกรวมกัน 27.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 39.3 ของมูลค่า GDP โลก และมีมูลการค้ารวม TPP ต่อโลกประมาณ 8.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 26.17 ของมูลค่าการค้าโลก ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วม TPP หรือไม่ จึงจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับผลดีผลเสีย และประเมินความพร้อมของไทยอย่างรอบคอบ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง เพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมของไทยต่อความตกลง TPP โดยเฉพาะภาคส่วนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เราจะรับฟังประเด็นปัญหาและหารือเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

อย่างไรก็ดี การที่ TPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ณ ขณะนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งในแง่ของการส่งออก ซึ่งเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงการส่งออกถึงร้อยละ 60 และการเป็นข้อต่อสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานโลก หากประเทศสมาชิก TPP มุ่งเน้นทำการค้าระหว่างกันมากขึ้น โดยถึงแม้ว่าไทยจะพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง TPP หรือไม่ก็ตาม ประเด็นที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน คือ “การเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0” เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศให้สามารถแข่งขันกับประเทศสมาชิก TPP และกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ ที่นับวันจะยิ่งขยายเพิ่มขึ้น ซึ่งในกรณีของ TPP ขณะนี้มีหลายประเทศที่แสดงความต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ อาทิ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฮอนดูรัส และโคลัมเบีย

นางอภิรดี กล่าวสรุปว่า กระทรวงพาณิชย์ยินดีรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการรองรับผลกระทบ และมาตรการที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุน โดยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 พ.ค. 2559 เวลา : 16:41:42

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 7:39 pm