ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
'เข้ม' บังคับใช้ กม.ยกระดับแรงงานไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0


 


ก.แรงงาน ส่งเสริมการมีงานทำ ฝึกทักษะยกระดับมาตรฐานฝีมือ ดูแลคุ้มครองและสร้างหลักประกันความมั่นคง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน ปรับปรุงและออกกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานให้ได้มาตรฐานสากลและบังคับใช้อย่างเด็ดขาดมากขึ้น

 
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน มุ่งยกระดับแรงงานไทยให้สอดคล้องกับการพัฒนาไปสู่ยุค ไทยแลนด์ 4.0 โดยการดูแลในทุกมิติ ตั้งแต่ส่งเสริมการมีงานทำ   ฝึกทักษะยกระดับมาตรฐานฝีมือ ดูแลคุ้มครองและสร้างหลักประกันความมั่นคง เพื่อพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางและมีคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานในรูปแบบต่างๆ ทั้งการหลอกลวง การข่มขู่บังคับใช้แรงงาน แรงงานขัดหนี้ แรงงานเด็ก การทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในรูปแบบต่างๆ โดยบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน NGOs และองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป (EU) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) อีกด้วย
 
 

ในระยะที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน ได้ปรับปรุงและออกกฎหมายหลายฉบับ เพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานให้ได้มาตรฐานสากลและบังคับใช้มีความเข้มข้นมากขึ้น ได้แก่ ออกพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 (มีผลใช้บังคับวันที่ 5 เมษายน 2559) เพื่อคุ้มครองดูแลลูกเรือเดินทะเลให้มีสภาพการทำงานที่ดีตามมาตรฐานสากล และกองเรือสินค้าของประเทศได้รับการยอมรับสามารถให้บริการขนถ่ายสินค้าได้ทั่วโลก, ออกกฎกระทรวงกำหนดสถานที่ที่ห้ามให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงาน พ.ศ. 2559, กำหนดแนวปฏิบัติในการตรวจแรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ของพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541  เพื่อให้เจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นความแตกต่างระหว่างการละเมิดสิทธิแรงงานกับการบังคับใช้แรงงาน สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้อย่างเหมาะสม กับการกระทำ, ปรับปรุงระเบียบกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานว่าด้วยการตรวจสถานประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และระเบียบกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาและการเปรียบเทียบผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและความปลอดภัยในการทำงาน พ.ศ. 2558 เพื่อให้สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้รวดเร็ว, กำหนดให้เจ้าหน้าที่ลงโทษปรับในอัตราโทษสูงสุดแก่ผู้กระทำความผิดฝ่าฝืนตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในฐานความผิดที่มีผลกระทบต่อสังคม เช่น การใช้แรงงานเด็กที่ต่ำกว่า 15 ปี  เป็นต้น

ผลการดำเนินงานด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงานในสถานประกอบการที่มีความเสี่ยง รอบ 6 เดือน ที่ผ่านมา ลูกจ้างในสถานประกอบการได้รับการคุ้มครองสิทธิ 898,986 คน ในจำนวนนี้เป็นลูกจ้างต่างด้าวที่ได้รับการคุ้มครอง 78,272 คน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 มิ.ย. 2559 เวลา : 06:41:31

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 12:52 pm