ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมควบคุมโรคห่วงสุขอนามัยเด็กเล็ก 'โรคมือ เท้า ปาก' เกิดได้เพิ่มขึ้นในฤดูฝน


 


วันนี้ (2 มิถุนายน 2559) นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้เป็นเวลาเปิดเทอมของโรงเรียนทั่วประเทศ กรมควบคุมโรค ห่วงใยในสุขภาพและอนามัยของเด็กเล็กในช่วงนี้เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสอดคล้องกับประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูฝน โดยมีโรคมือ เท้า ปาก เป็นอีกโรคสำคัญที่ควรเฝ้าระวังด้วย จึงขอแนะนำให้ผู้ปกครอง ผู้เลี้ยงดูเด็กในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และสถานรับเลี้ยงเด็ก ได้ตระหนักและระมัดระวังโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งโรคนี้มักเกิดขึ้นในสถานที่ที่มีเด็กจำนวนมากมาอยู่รวมกัน อาจเกิดการแพร่กระจายเชื้อโรคสู่กันได้ง่าย
         
 
จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 พฤษภาคม 2559 พบผู้ป่วย 12,742 ราย ทั่วประเทศ เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด เรียงตามลําดับ คือ 1 ปี (31.09 %) 2 ปี (23.97 %) และ 3 ปี (16.72 %) จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ เชียงราย พะเยา  น่าน แม่ฮ่องสอน และลําพูน
          
 
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดได้ประปรายตลอดปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในฤดูฝนซึ่งอากาศมักเย็นและชื้น โดยโรคนี้จะเกิดบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากเด็กมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ การติดต่อของโรคเกิดจากการได้รับเชื้อที่ปนเปื้อนในจากอุจจาระ หรือฝอยละออง น้ำมูกน้ำลาย น้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วยเข้าสู่ปาก โดยหลังจากได้รับเชื้อ 3 - 6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย อาการที่พบบ่อยได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อย เป็นต้น โดยจะปรากฏอาการดังกล่าวอยู่ 3 - 5 วัน แล้วหายได้เอง หรือมีอาการไข้ร่วมกับตุ่มพองเล็กๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก โดยตุ่มแผลในปากนั้น บริเวณรอบ ๆ จะอักเสบและแดงต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ เป็นสาเหตุให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะเจ็บปาก
          
สำหรับการรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ  เช่น การใช้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด เนื่องจากโรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง ในรายที่มีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม  ผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูเด็ก ควรให้ผู้ป่วยกินอาหารอ่อนๆรสไม่จัด  ดื่มน้ำและน้ำผลไม้  เช็ดตัวเด็กเพื่อลดไข้ และนอนพักผ่อนมากๆ  
 
 
ทั้งนี้หากพบเด็กป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที และควรแยกเด็กป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่นๆ ควรรีบพาเด็กป่วยไปพบแพทย์และพักรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม หากพบเด็กป่วยเป็นจำนวนมากควรพิจารณาปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วยหรือปิดโรงเรียนระดับชั้นเด็กเล็ก
           
วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ห่างไกลโรคมือ เท้า ปาก คือรักษาสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ โดยผู้ปกครองและผู้เลี้ยงดูเด็ก ควรดูแลเด็กให้ล้างมือให้สะอาดด้วยนํ้าและสบู่ ตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน (เช่น ขวดนมแก้วนํ้า หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดมือ) และ ใช้ช้อนกลางเมื่อกินอาหารร่วมกับผู้อื่น และควรหลีกเลี่ยงการไปสถานที่สาธารณะ เช่น สถานีรถไฟ ห้องน้ำในขบวนรถไฟ สถานีขนส่ง โรงภาพยนตร์ ร้านเกมส์ เป็นต้น
 
 
นอกจากนี้ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และสถานรับเลี้ยงเด็ก ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ โดยทำความสะอาดพื้น เครื่องใช้ หรือของเล่นเด็ก ด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างน้อยวันละครั้ง หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422    
  

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 มิ.ย. 2559 เวลา : 15:38:35

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 8:32 pm