ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมควบคุมโรคสุ่มสำรวจพบ'ศาสนสถาน'เสี่ยงยุงลายชุกชุม


 


วันนี้ (3 มิถุนายน 2559) นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนของทุกปีจะเป็นฤดูที่มีการระบาดของโรคที่เกิดจากยุงลายสูงสุด เนื่องจากฝนที่ตกมาจะทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทำให้จำนวนยุงลายเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงอื่นๆของปี ดังนั้นโรคที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงนี้คือโรคที่มียุงลายเป็นพาหะเช่น โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกที่แม้ว่าปัจจุบันจะมีแนวโน้มผู้ป่วยลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ยังคงวางใจไม่ได้ต้องดำเนินงานเฝ้าระวังควบคุมโรคอย่างเข้มข้นต่อไป
            
 
จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 29 พฤษภาคม 2559 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ 18,044 ราย เสียชีวิต 15 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ กรุงเทพมหานคร ระยอง แม่ฮ่องสอน ภูเก็ตและตราด โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนักเรียน คิดเป็นร้อยละ 42.4 ด้านสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ในปี พ.ศ.2559 นี้ มีการพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นบ้างแต่ยังไม่นับเป็นการระบาดของโรคที่รุนแรง ซึ่งในขณะนี้มีรายงานการพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาใน 9 จังหวัดและมี 7 จังหวัดที่ควบคุมโรคได้แล้ว ได้แก่ นนทบุรี นครราชสีมา พิษณุโลก สุโขทัย กรุงเทพมหานคร อุตรดิตถ์ และกาญจนบุรี ส่วนอีก 2 จังหวัดคือ อุดรธานี และบึงกาฬ ยังคงอยู่ในระหว่างการดำเนินการเฝ้าระวังควบคุมโรคต่อไป
 
 
 
         
 นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อว่า จากการสุ่มสำรวจลูกน้ำยุงลายในสถานที่ต่างๆทั่วประเทศ ในเดือนเมษายน 2559 พบว่า ในศาสนสถานพบลูกน้ำยุงลายถึงร้อยละ 41.5 ซึ่งทำให้ศาสนสถานมีความเสี่ยงที่จะเป็นสถานที่ที่มีความชุกชุมของยุงลายพาหะนำเชื้อไวรัสและอาจทำให้เกิดการระบาดของโรคในชุมชนได้  ในส่วนของโรงงานพบลูกน้ำยุงลายอยู่ที่ร้อยละ 24.4 โรงเรียนพบร้อยละ 23.7 โรงพยาบาลพบร้อยละ 10.3 และโรงแรมพบร้อยละ 8 ซึ่งตามเกณฑ์ของกรมควบคุมโรคแล้วในสถานที่เหล่านี้ไม่ควรพบลูกน้ำยุงลายเลย
          
อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคได้ประสานขอความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆเพื่อดำเนินการป้องกัน ควบคุม และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในทุกพื้นที่ อาทิ หารือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อเพิ่มทีมพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายในทุกจังหวัดทั่วประเทศให้มีมากกว่า 17,000 ทีม และสนับสนุนโครงการ “ค่ายทหารปลอดยุงลาย” ให้มีการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในค่ายทหารและที่สาธารณะเช่น วัด โรงเรียน เป็นต้น เพื่อไม่ให้มีแหล่งน้ำขัง ปลอดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย รวมทั้งขอ อบจ. สนับสนุนการจัดอบรมทีมพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายในแต่ละจังหวัด ให้ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้เตรียมการประสานงานกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเพื่อสนับสนุนให้ อสม. รณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายต่อเนื่อง และประสานงานกับหน่วยงานสังกัดกรมควบคุมโรคให้ดำเนินการสุ่มสำรวจลูกน้ำยุงลาย อย่างน้อย จังหวัดละ 1 พื้นที่ เดือนละ 1 ครั้ง ในพื้นที่ 6 ร. ดังนี้ 1.โรงเรือน(บ้าน/ชุมชน)  2.โรงเรียน(สถานศึกษา/สถานเลี้ยงเด็กเล็ก)  3.โรงพยาบาล  4.โรงแรม/รีสอร์ท  5.โรงงาน/กลุ่มอุตสาหกรรมและ 6.โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์)
          
ทั้งนี้ โรคที่มียุงลายเป็นพาหะสามารถป้องกันได้ โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการรณรงค์ “ประชารัฐร่วมใจ พิชิตลูกน้ำยุงลาย 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่ 1. เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2. เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 3. เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลายรวมทั้งการกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัดเช่น ทายากันยุง กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นต้น
        
อธิบดีกรมควบคุมโรคยังฝากเชิญชวนให้ภาคประชารัฐ โหลด Application สำหรับเพิ่มเติมความรู้เรื่องยุงลายและโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ประเมินความเสี่ยงและวิธีจัดการ พร้อมแจ้งข่าวสารผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้ทั้งระบบ Android และ iOS โดยเข้าไปที่ Play Store หรือ App Store แล้วค้นหาคำว่า“พิชิตลูกน้ำยุงลาย” กดรับ/ติดตั้ง ฟรี ใช้งานง่าย ได้ประโยชน์กับตัวท่านเอง หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 มิ.ย. 2559 เวลา : 13:02:43

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 6:16 pm